xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ เตือนแผงโซล่าเซลล์ ไม่มี มอก. เสี่ยงไฟไหม้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการส่งเสริมการผลิตและใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ โดยที่ผ่านมามีการสนับสนุนภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนติดตั้ง Solar Rooftop ซึ่งนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแล้วยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถือเป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญของรัฐบาลในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาวของประเทศ ซึ่งมีสถานประกอบการและประชาชนให้ความสนใจติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อช่วยประหยัดค่าไฟฟ้ามากขึ้น

แต่เนื่องจากแผงโซล่าเซลล์มีหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจ่ายให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน หากนำแผงโซล่าเซลล์ที่ไม่มีมาตรฐาน และไม่ได้ติดตั้งตามมาตรฐานจากผู้เชี่ยวชาญอาจจะเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้แผงโซล่าเซลล์ตามที่มีการแชร์คลิปในโลกออนไลน์อยู่ในขณะนี้เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ดิฉันจึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานของสินค้า ให้เร่งชี้แจงทำความเข้าใจและให้ความรู้กับประชาชนในการเลือกใช้แผงโซล่าเซลล์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นอีก


นายวันชัย พนมชัยเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุการเกิดไฟไหม้แผงโซล่าเซลล์นั้นมีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักคือ กระแสไฟฟ้าไหลได้ไม่สะดวก เนื่องจากมีการต่อแผงเข้าด้วยกันหลาย ๆ แผง หากแผงใดเกิดมีปัญหา จะทำให้แรงดันไฟฟ้าจากหลาย ๆ ที่ไหลไปรวมตัวกันที่แผงดังกล่าว จนทำให้เกิดความร้อนสะสม เมื่อความร้อนเกินกว่าศักยภาพที่แผงโซล่าเซลล์นั้นจะรับได้ก็จะเกิดกระแสไฟลุกไหม้ตัวแผงนั้นขึ้นมา จนลุกลามกระจายไปยังแผงอื่น ๆ ดังนั้นแนวทางที่ปลอดภัยที่สุด คือ ควรเลือกใช้แผงโซล่าเซลล์ที่ได้มาตรฐานมี มอก. รับรอง เพราะผ่านการทดสอบการทนความร้อน การลุกไหม้ และการลามไฟมาแล้ว

สมอ. มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์แผงโซล่าเซลล์ ซึ่งเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจ จำนวน 2 มาตรฐาน ได้แก่ มอก. 61215 เล่ม 1 (1) – 2561 เป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่แสดงประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าของแผงโซล่าเซลล์ และ มอก. 2580 เล่ม 2-2562 เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัย ซึ่งมีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการทนความร้อน การตัดไฟ การใช้งานในอุณหภูมิสูง การป้องกันไฟรั่ว การลามไฟ และมีระบบป้องกันไม่ให้เกิดความร้อนจนเกิดการลุกไหม้ในจุดที่ถูกบดบังการรับแสง ไม่ว่าจะเกิดจากเงาเมฆ มีใบไม้มาบัง หรือแผงเกิดความสกปรก แผงโซล่าเซลล์นั้นก็จะยังคงสามารถทำงานได้ตามปกติ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าแผงโซล่าเซลล์ที่มีมาตรฐาน จะมีความปลอดภัยขั้นพื้นฐานและป้องกันอันตรายจากไฟไหม้ได้

“ปัจจุบัน มีผู้ผลิตภายในประเทศที่ได้รับใบอนุญาต มอก. 61215 เล่ม 1 (1) – 2561 และ มอก. 2580 เล่ม 2-2562 จาก สมอ. แล้ว จำนวน 7 ราย ได้แก่ 1. บริษัท เทลซัน เทคโนโลยี (ไทยแลนด์) จำกัด 2. บริษัท ฟูโซล่าร์ จำกัด 3. บริษัท โซล่าเพาเวอร์ เทคโนโลยี จำกัด 4. บริษัท โซลาร์ พีพีเอ็ม จำกัด 5. บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) 6.บริษัท รันเนอร์จี พีวี เทคโนโลยี (ไทยแลนด์) จำกัด และ 7. บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) จึงขอฝากถึงประชาชนให้เลือกซื้อแผงโซล่าเซลล์ที่ได้มาตรฐาน มอก. และมีเครื่องหมาย รับรอง เพื่อความปลอดภัย"

📍อ่านข่าวเพิ่มเติม
"โซลาร์เซลล์" ก็ทนแดดเมืองไทยไม่ไหว ไฟลุกเอง ชาวเน็ตชี้ อาจไม่ได้มาตรฐาน เมื่อ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา https://mgronline.com/onlinesection/detail/9670000038634?


แผงโซลาร์เซลล์ที่ทำให้เกิดไฟไหม้

เมื่อโครงสร้างของแผงโซลาร์เซลล์ ทำมาจากซิลิกอน เหมือนไดโอดรับแสงที่เกิดแรงดันไฟน้อย ๆ แล้วเอามาอนุกรม จาก Solar Cell มาต่อเรียงกันเป็น PV Module ขยายจำนวนแผงขึ้นมาเป็น Solar Panel ต่อหลายแผงเป็น String หรือ PV Array ในการติดตั้ง

เมื่ออนุกรมกัน วงจรสมมูลจึงเหมือนแบตเตอรี่เล็กๆ จ่ายกระแสไฟฟ้าออกไป และ.. หากเวลารับแสง เกิดโซลาร์เซลล์ตัวหนึ่งตัวใดดับ เช่นเพียงแค่มีใบไม้เพียง 1 ใบไปบังโซลาร์เซลล์ ทำให้มันผลิตกระแสไม่ได้ กระแสจากตัวอื่นจะเดินไม่สะดวก แรงดันไฟทั้งหมดจึงมาตกคร่อมตัวที่มีปัญหา แรงดันไฟมาก ๆ มาตกคร่อม (Dropped) ย่อมทำให้เกิดความร้อน

แล้วอะไรเกิดขึ้น.. หากร้อนมาก ๆ ก็เกรียม ไฟก็ไหม้

ไม่เพียงเท่านั้น.. หากเป็นแผง ต่อกันเป็นสตริงและอาร์เรย์ใหญ่ ๆ แค่มีเมฆมาบังเแสงบางส่วน ส่วนที่ยังรับแสงจะส่งแรงดันไฟทั้งหมดที่ีมีอยู่มาตกคร่อมแผงที่เป็นปัญหา คราวนี้เห็นผล ไฟไหม้ลุกลามง่ายกว่าใบไม้บัง..

ดังนั้นวิธีการป้องกันขั้นต้นคือการต่อไดโอดบายพาส หรือบล็อกกิ้ง หากเกิดปัญหาดังที่กล่าวมาเมื่อใด ให้กระแสและแรงดันไฟที่จะมากดดัน ไหลผ่านไดโอด ไปอย่างสะดวก..

แต่.. เมื่อถึงเจนเนอเรชั่นที่ 3 โซลาร์เซลล์ได้ใส่ไดโอดบายพาสไว้ในแผง PV ครบถ้วน เพื่อเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย

เหลือแต่ใครนำเอาแผงหนัก ๆ รุ่นเก่า ๆ มาขายถูก ๆ ให้ติดตั้งนั่นแหละ ที่จะเกิดไฟไหม้..

และอย่าลืมการทำงานกับแรงดันไฟต่ำ ไฟ DC อุปกรณ์ต่อเชื่อมต้องใหญ่ แน่น ต้องบัดกรี ไม่นั้นกระแสสูง ๆ ตามกำลังวัตต์ ทำให้เกิดความร้อน และไฟไหม้ได้เหมือนกัน

ที่มา เพจเฟซบุ๊ค Electronics
Handbook



กำลังโหลดความคิดเห็น