xs
xsm
sm
md
lg

อ.ธรณ์ แจงฝนเริ่มตก ช่วยลดปะการังฟอกขาวมากหรือน้อย!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนวัสาวาสดิ์นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเกาะติดสถานการณ์แนวปะกะรังฟอกขาวในประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊ก Thon
Thamrongnawasawat
♨️วันก่อน ( 7 พ.ค.67) ประเด็น “ปัจจัยปะการังฟอกขาว” ว่า เพื่อนธรณ์รู้ไหม ฝนตกลงมาแล้ว จะช่วยปะการังได้แค่ไหน ? พร้อมกับนำเสนอการศึกษาเรื่อง shading หรือการบังแดดลดความร้อนช่วยปะการัง

ผมขออธิบายปัจจัยปะการังฟอกขาวที่สัมพันธ์กับฝน ลองสังเกตภาพ จะเห็น 4 ปัจจัยหลัก ตัวอักษรไม่เท่ากันตามความสำคัญ

น้ำร้อน - นั่นคือสาเหตุหลัก น้ำร้อนเกิน 30.5-31 องศาต่อเนื่องกัน 3-4 สัปดาห์ ปะการังเริ่มแสดงอาการฟอกขาว
ฝนตกช่วยได้ไหม ? คำตอบคือได้นิดหน่อย แต่น้ำร้อนอาจเกี่ยวข้องกับความแปรปรวนของโลกร้อน เช่น marine heatwave ฯลฯ

ฝนช่วยได้บ้าง แต่น้ำฝนน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำทะเล ในที่ลึกแทบไม่มีผล ยกเว้นในบริเวณชายฝั่งน้ำตื้น ฝนอาจช่วยได้มากขึ้น

แสงแดด - ปะการังที่อ่อนแอและใกล้ฟอกขาวจะเกลียดแดดแรง ฝนช่วยตรงนี้ได้ หรือแม้กระทั่งฝนไม่ตก เมฆเต็มฟ้าก็ช่วยบังแดดได้เยอะ

เรามีแนวคิดช่วยสร้างที่บังแดด shading ให้ปะการัง เมฆเต็มฟ้าคือ shading ธรรมชาติ แต่ต้องต่อเนื่องนานๆ ไม่ใช่มาวันเว้นไปหลายวัน

น้ำนิ่ง - หากน้ำร้อนแช่นาน ปะการังยิ่งแย่ ช่วงนี้เราต้องการน้ำไหลไปมา คิดง่ายๆ ก็เหมือนพวกเรา อากาศร้อนอ้าว ลมนิ่ง มีพัดลมหรืออยู่ในที่อากาศถ่ายเทย่อมดีกว่า (ปะการังไม่มีแอร์)

ลมที่มาพร้อมกับฝนช่วยให้เกิดคลื่น น้ำกระเพื่อม เรื่องนี้มีส่วนช่วยได้ แต่ถ้าแรงมากเป็นพายุฤดูร้อน อย่างนั้นก็อาจทำปะการังหักพัง

น้ำลงต่ำ - น้ำยิ่งลงต่ำยิ่งร้อนจัด หากลงต่ำจนแห้ง ปะการังตากแดดแรง อันนี้คือฟางเส้นสุดท้ายบนหลังลา
ในกรณีนี้ฝนให้ได้ข้อดีและข้อเสีย ถ้าน้ำลงแต่ไม่ต่ำเกินไป ฝนช่วยบังแดดลดอุณหภูมิน้ำ

แต่ถ้าตกช่วงน้ำแห้งปะการังโผล่ น้ำฝนคือน้ำจืด อาจทำให้ความเค็มเปลี่ยนฉับพลัน ปะการังแย่เหมือนกันฮะ

อื่นๆ - ฝนอาจพาตะกอนจากชายฝั่งลงทะเล ซ้ำเติมปะการังมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตะกอนจากการเปิดหน้าดิน ฯลฯ
ปัญหานี้มักเกิดตามเกาะที่ฝนตกน้ำไหลลงแนวปะการังโดยตรง

ทั้งหมดนั้นคือเรื่องฝนกับปะการังฟอกขาว สรุปง่ายๆ คือมีฝนย่อมดีกว่า แต่ถ้ามาเป็นวูบก็อาจช่วยอะไรไม่ได้มาก ต้องมาต่อเนื่องแทบทุกวัน

นอกจากนี้ โลกร้อนทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลโดยรวมสูงขึ้นจนทำลายสถิติ ฝนอาจช่วยในกรณีนี้ไม่ได้ พวกเราช่วยได้มากกว่า มาช่วยกันลดโลกร้อนและดูแลแนวปะการังยามอ่อนแอ อย่าให้อาหารปลา อย่ากินปลานกแก้ว/ฉลาม ลดขยะให้มากสุด☺️💨🌧️


ทำไมเราไม่บังแดดให้ปะการัง?🪸

เมื่อแดดร้อนแรงทำให้ปะการังฟอกขาว แล้วทำไมเราไม่บังแดดให้ปะการัง 🤔 จึงนำงาน Shading The Reef ที่ผมทำมาให้เพื่อนธรณ์ดูครับ 🥳

เริ่มจากดูภาพ เป็นปะการังที่กำลังฟอกขาว ส่วนหนึ่งอยู่กลางแดด อีกส่วนอยู่ใต้ร่มเงาที่เราไปทำไว้ เพื่อนธรณ์คงพอเห็นว่า แสงแดดส่องลงบนปะการังต่างกัน

นั่นคือความหมายของ shading การช่วยปะการังในยามวิกฤต ลดแดดเพื่อไม่ให้พวกเธอฟอกขาวมากเกินไป ที่ขาวไปแล้วก็มีโอกาสรอด ที่เริ่มซีดอาจไม่ฟอกขาวก็เป็นได้

การศึกษาเรื่อง shading ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เริ่มทำกันทั่วโลกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

งานวิจัยพบว่า ในยามน้ำร้อนจัด ปะการังที่อยู่ใต้ร่มเงาจะฟอกขาวน้อยกว่าปะการังกลางแดดจ้า ไม่ว่าจะเป็นเงาตามธรรมชาติหรือเงาที่มนุษย์สร้างขึ้น

ปัญหาคือเงาธรรมชาติมีน้อย ขณะที่เงามนุษย์สร้างราคาแพงจนเป็นไปไม่ได้ที่จะคลุมปะการังทั้งแนว หรือครึ่งแนวเสี้ยวแนวก็ยากทำได้ในภาคปฏิบัติ

บางประเทศเช่นออสเตรเลีย ใช้เครื่องดูดน้ำทะเลพ่นขึ้นไปเป็นละอองน้ำช่วยลดแสงแดด ถึงขั้นติดเรือวิ่งไปตามแนวปะการัง Great Barrier Reef แต่ก็ยังแพงอยู่ดี

อีกแนวคิดคือสร้างที่หลบภัยชั่วคราว เป็นเพิงใต้น้ำ ย้ายปะการังฟอกขาวมาไว้ข้างใต้

แม้จะช่วยได้ไม่เท่าไหร่ แต่ก็ถือเป็นผู้อยู่รอด สามารถเป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อยอดไปสู่อนาคตในบริเวณนั้น
ผมตั้งชื่อโครงการว่า Project Survival 💪

Shading The Reef เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ปะการังต้องรอด” ผมวางแผนไว้ตั้งแต่ต้นปี เพราะมั่นใจว่าวิกฤตทะเลเดือดมาแน่ แต่ยังหาที่เหมาะๆ ทำในไทยไม่ได้ เลยไปลองที่ Crossroads Maldives

ที่นั่นเป็นของสิงห์เอสเตท มีลูกศิษย์ผมอยู่หลายคน สามารถวางแผนทำงานสะดวก อุปกรณ์ที่พักพร้อม

ยังมีโครงการฟื้นฟูปะการังระยะยาวที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว สามารถทำได้ทันที

มัลดีฟส์ก็เจอปะการังฟอกขาวครับ ผมจึงมีโอกาสลองหลายเทคนิค แต่วันนี้เอาเรื่อง shading มาเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟังว่าเป็นไง
เราเลือกพื้นที่เหมาะสม ติดตั้งอุปกรณ์บังแดด ลองวัดความเข้มแสงที่กรองได้ เพราะมืดเกินไปเดี๋ยวปะการังตาย

จากนั้นจึงนำปะการังสีซีดและฟอกขาวบางส่วนไปไว้ในนั้น 🪸 ลูกศิษย์ผมไปตรวจดูแทบทุกวันเพราะอยู่ห่างที่พักไปนิดเดียว ไม่ต้องใช้เรือ

พวกเขาถ่ายภาพเปรียบเทียบระหว่างข้างในและข้างนอกเป็นประจำ ส่งมาให้ผมเพื่อวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลง เมื่อเวลาผ่านไป เราจะได้ข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นค่อยปรับแต่งและขยายพื้นที่เพื่อช่วยปะการังได้มากขึ้น

สำหรับผลสรุปจะเป็นประการใด กรุณารอติดตาม เพราะเป็นงานใหม่ๆ สดๆ กำลังทำอยู่ตอนนี้ ยังไม่เสร็จครับ ที่สำคัญ นี่อาจเป็นครั้งแรกๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลไทยเข้าไปช่วยปะการังต่างแดน

เป็นบทพิสูจน์ศักยภาพว่าเราช่วยโลกได้ มิใช่แค่รอให้คนอื่นมาช่วยเรา ยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดี เราไม่ได้แค่เข้ามาพัฒนาหาประโยชน์จากประเทศเขา แต่ในยามทะเลเกิดวิกฤต เรายังช่วยจะนำเรื่องช่วยปะการังในมัลดีฟส์มาเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟังเรื่อยๆ และจะไปดูด้วยตัวเองในอีกไม่ช้า เพื่อนำวิธีการดีๆ มาปรับใช้กับบ้านเรา

ปะการังไม่แยกประเทศ ทะเลกำลังเดือด หากทำอะไรได้ก็อย่าเพียงแค่คิด ควรต้องรีบทำ เพราะเรามีโลกเดียวครับ

🌏ขอบคุณสิงห์เอสเตทที่สนับสนุนสิ่งที่อาจารย์ธรณ์คิดเสมอ เรายังมีโครงการร่วมกันระหว่างคณะประมง/Crossroads ในการช่วยทะเลครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น