xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตป่าไม้ไทย! ปี 2566 ปีเดียวหายไปกว่า 3 แสนไร่ ลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เผยวิกฤตป่าไม้ไทย เฉพาะปี 66 ปีเดียวป่าหายไปถึง 317,819.20 ไร่ ลดลงมากที่สุดในรอบ
10 ปี ชี้สาเหตุอันดับต้นๆ จากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน รองลงมาเกิดจากปัญหาไฟป่า


มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เผยสถานการณ์ป่าไม้ไทยปี 2566 – 2567 พร้อมสะท้อนปัญหาวิกฤตป่าไม้ไทยจากปี 2566 ถึงปี 2567 พบว่าผืนป่าของไทยลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี มีการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ถึง 317,819.20 ไร่ จากปี 2565 ที่มีพื้นที่ป่าไม้เหลือ 102,135,974.96 ไร่ หรือ 31.57% ของพื้นที่ประเทศ

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ “101,818,155.76 ไร่ หรือคิดเป็น 31.47%” ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งมีพื้นที่ป่าไม้ที่ยังคงสภาพไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด 101,627,819.86 ไร่ และพื้นที่อื่นๆ ที่เปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่ป่าไม้อีก 190,335.90 ไร่

สัดส่วนพื้นที่ป่าไม้แบ่งตามรายภูมิภาค ดังนี้

-ภาคกลาง มีพื้นที่ป่าไม้ 12,263,466.16 ไร่ หรือ 21.55% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 171,143.04 ไร่

-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ป่าไม้ 15,608,130.07 ไร่ หรือ 14.89% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ
87,575.79 ไร่

-ภาคตะวันออก มีพื้นที่ป่าไม้ 4,703,353.52 ไร่ หรือ 21.82% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 7,874.77
ไร่

-ภาคตะวันตก มีพื้นที่ป่าไม้ 20,033,806.37 ไร่ หรือ 58.86% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 49,667.70 ไร่

-ภาคใต้ พื้นที่ป่าไม้ 11,232,880.27 ไร่ หรือ 24.34% ของพื้นที่ภูมิภาค เพิ่มขึ้นจากปี 2565 เท่ากับ 8,395.32 ไร่

-ภาคเหนือ มีพื้นที่ป่าไม้ 37,976,519.37 ไร่ หรือ 63.24% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 171,143.04 ไร่

จากสถานการณ์ป่าไม้ไทยดังกล่าว นางอรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ป่าไม้ไทยลดลงทุกปี ปี 63 พบว่าป่าลดลงจากปี 62 ประมาณ 1.3 แสนไร่ ปี 63 เทียบปี 64 ป่าหายไป 1.4 แสนไร่ ปี 65 พบป่าลดลงจากปี 64 ประมาณ 7.3 หมื่นไร่ แต่ปี 66 เทียบปี 65 ป่าหายไปถึง 3.1 แสนไร่

ถ้ารวมตัวเลขที่เสียพื้นที่ป่าไม้ไทยไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาราว 665,900 ไร่ ปัจจัยสำคัญกิจกรรมที่ทำให้พื้นที่ป่าลดลง จากการศึกษาของคณะวนศาสตร์ มหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์ อันดับ 1 การชลประทานหรือสร้างเขื่อน รองลงมาการสร้างถนน เหมืองแร่ ไฟฟ้า โทรคมนาคม ขุดดินขุดทราย ระเบิดย่อยหิน ปิโตรเลียม ล่าสุด มีผลการศึกษาใหม่ของนักวนศาสตร์ มก.มีตัวเลขการใช้พื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้นอีกหนึ่งกิจกรรม คือ การจัดสรรที่ดินทำกิน อีกทั้งระบุปี 66 พื้นที่ป่าลดลงมาก ปัจจัยหนึ่งเป็นการเกิดไฟป่าลุกลามในหลายพื้นที่

"ทุกกิจกรรมล้วนเกิดจากน้ำมือมนุษย์ กรณีไฟเราพยายามพูดอยู่ตลอดว่าเป็นไฟที่คนจุด ส่วนโครงการชลประทานทำให้เราเห็นภาพตัวเลขชัดเจนป่าหายไปเท่าไหร่ อย่างโครงการสร้างเขื่อน 7 แห่ง ในป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ถ้าสร้างเขื่อนทั้งหมดนี้
พื้นที่ป่าไทยจะหายไปอย่างน้อยเกือบ 20,000 ไร่ ปกติโครงการเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำจะต้องมีการปลูกป่าทดแทนสองเท่าในพื้นที่ แต่มีข้อมูลวิชาการปลูกไม้สักเส้นรอบวง 100 เซนติเมตร ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 60 ปี ไม้ตะแบกเปลือกบางไม่ต่ำกว่า 80 ปี พูดง่ายแต่การปลูกทดแทนให้ได้โครงสร้างใกล้เคียงสภาพพื้นที่ป่าธรรมชาติมันไม่ใช่เรื่องง่าย" 


เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ ย้ำว่า "ทุกวันนี้เราเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อม ผจญฝุ่นพิษ PM2.5 เจอสถานการณ์ไฟป่า แพลงตอนบูมกระจายในหลายพื้นที่ทุกปีไทยทำลายสถิติคลื่นความร้อน ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ปี 67 ร้อนทุบสถิติแตะ 45 องศาเซลเซียส ตนมองว่า การลดลงของพื้นป่าไม่ใช่แต่สูญเสียป่าไม้ แต่ส่งผลกระทบใกล้ตัว เรากำลังสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพถึงขั้นวิกฤต เราก้าวข้ามขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกมาแล้ว 6 ด้าน จากทั้งหมด 9 ด้าน ระดับโลก รวมถึงประเทศไทย วิกฤตมาก เราจะเดินลงเหวไปเรื่อยๆ ใช่มั้ย จะไม่ช่วยกันฟื้นฟูธรรมชาติ"

"ส่วนนโยบายการใช้พื้นที่ป่าเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำอยากให้รัฐทบทวนกลับมาดูโครงการแหล่งน้ำที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วว่า
สามารถทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้หรือไม่ อ่างเก็บน้ำไม่พอหรือระบบจัดการน้ำอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมไม่พอกันแน่
ข้อมูลสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ รวมแล้วกว่า 13,400 กว่าโครงการ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย อยากให้ใช้อย่างเต็มศักยภาพ ส่วนแผนโครงการใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นให้กลับไปทบทวนคำมั่นสัญญาและเป้าหมายพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่ป่าที่วางไว้"
 อรยุพา กล่าว

จากการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าไม้ ได้มีการนำเทคนิคการซ้อนทับข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) เข้ามาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมแต่ละปีโดยทำให้สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าไม้ได้ 3 รูปแบบ คือ 1.พื้นที่ป่าไม้ที่เพิ่มขึ้น 2. พื้นที่ป่าไม้ที่ลดลง และ 3.พื้นที่ป่าไม้ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

พื้นที่ป่าไม้ที่เพิ่มขึ้น สาเหตุหลัก ได้แก่ การขยายตัวของพื้นที่ป่าไม้ตามธรรมชาติ (Natural Forest Expansion) การปลูกป่าเพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ เช่น สวนป่า (Plantation) หรือการปลูกป่าเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายของต้นไม้และสิ่งมีชีวิต

พื้นที่ป่าไม้ที่ลดลง สาเหตุหลัก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Change) จากพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่าไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชนหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือเกิดจากปัญหาไฟป่าที่มีความรุนแรงขึ้น (Forest Fire)

นอกจากนี้ ยังมีสถานการณ์ความร้อนในช่วงต้นปี 66 ที่ผ่านมา เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พื้นที่ของป่าผลัดใบและสวนป่าเกิดการร่วงหล่นของใบเป็นอย่างมาก ถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้

“ป่าไม้” คือสังคมของพืชทุกชนิดและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า เช่นแบคทีเรีย เชื้อรา แมลง สัตว์ป่าชนิดต่างๆ รวมถึงสิ่งไม่มีมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นดิน แม่น้ำ ภูเขา ซากพืช ซากสัตว์ ซึ่งพื้นที่ป่าไม้ถือว่าเป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้เกิดการหมุนเวียนและแลกเปลี่ยนของระบบนิเวศ หรือกล่าวอีกนัย สังคมของพืชและสิ่งมีชีวิตในป่ามีลักษณะคล้ายกับสังคมของมนุษย์ที่มีทั้งการแก่งแย่งแข่งขัน (Competition) เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด มีการเกิดใหม่และทดแทน (Succession) เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ของตน มีการพึ่งพาอาศัยกันเพื่อให้ได้ประโยชน์เอื้ออำนวยต่อกัน จนก่อให้เกิดเป็นระบบนิเวศหนึ่งๆได้

ทั้งนี้ประโยชน์ของป่าไม้ แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ ประโยชน์ทางตรง และประโยชน์ทางอ้อม

ประโยชน์ทางตรง เช่น เนื้อไม้ เชื้อเพลิง วัตถุทางเคมี อาหาร ยารักษาโรค เส้นใยจากเปลือกไม้หรือเถาวัลย์ ชันน้ำมันและยางไม้ อาหารสัตว์ ฝาดฟอกหนัง และสีธรรมชาติ รวมทั้งการกักเก็บคาร์บอนเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ

ประโยชน์ทางอ้อม เช่น ป่าไม้ทำให้น้ำไหลอย่างสม่ำเสมอตลอดปี ช่วยบรรเทาความรุนแรงของลมพายุ ป้องกันการพังทลายของดิน ช่วยบรรเทาอุทกภัย เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ให้ความชุ่มชื้น เป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยรักษาคุณภาพของอากาศ รวมถึงช่วยรักษาอุณหภูมิของโลกได้

อ้างอิง
รายงานโครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้
ปี พ.ศ.2566 | สำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้https://bit.ly/3PLCOoW
ประโยชน์ของป่าไม้ทางตรง| ส่วนงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคป่าไม้
สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืชhttp://reddplus.dnp.go.th/?p=5840
ประโยชน์ของป่าไม้ทางอ้อม| ส่วนงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคป่าไม้
สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืชhttp://reddplus.dnp.go.th/?p=5845




ไฟป่า “ส่งผลกระทบต่อพรรณพืช” หมดโอกาสเจริญเติบโต

สถานการณ์ไฟป่าในปัจจุบันที่เกิดขึ้นทั้งในป่าธรรมชาติและป่าอนุรักษ์ เมื่อเกิดไฟป่าขึ้นเปลวไฟจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงกระจายตัวไปได้อย่างอิสระ ที่ยากต่อการควบคุม ส่งผลให้สังคมพืชเกิดการเปลี่ยนแปลง นำมาสู่การสูญเสียผืนป่า

ไฟป่าเป็นสาเหตุสำคัญของการลดลงของพื้นที่ป่าอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้ระบบนิเวศขาดความชื้น อัตราการเจริญเติบโตของต้นไม้ลดลง สังคมพืชเปลี่ยนแปลง โครงสร้างป่าเปลี่ยนไป คุณภาพของเนื้อไม้ลดลง ไม้มีรอยตำหนิ หลากหลายปัจจัยที่ส่งผลทำให้ต้นไม้อ่อนแอจนเกิดโรคหรือแมลง สามารถเข้าทำอันตรายต้นไม้ได้โดยง่าย

ผืนป่าคือตัวควบคุมดูดซับสารพิษและลดความร้อนสะสม จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น
การเกิดไฟป่าขึ้นในแต่ละครั้ง ล้วนเป็นการทิ้งร่องรอยความเสียหายไว้ให้กับธรรมชาติและมนุษย์ นับเป็นภัยร้ายแรงที่ตัดตอนการเจริญเติบโตของระบบนิเวศในธรรมชาติเพราะผืนป่าเปรียบเสมือนห้องครัวของทุกชีวิต

ช่วยกันหยุดยั้งไฟป่าจากคน พบเห็นเหตุลักลอบเผาป่า จุดไฟล่าสัตว์ แจ้งสายด่วน 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา : กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า




กำลังโหลดความคิดเห็น