ด้วยความเชื่อที่ว่า “ต้นทางดีจะก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี” ดังนั้นการปลูกจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เอ็กโกจึงเริ่มที่ “เยาวชน” เป็นหลัก เพราะเป็นวัยต้นทางแห่งการเรียนรู้และจะเติบโตเป็นอนาคตของชาติ
“เรามุ่งเน้นการอนุรักษ์ผืนป่า โดยเฉพาะป่าต้นน้ำ เพราะเป็นต้นกำเนิดของน้ำ เป็นต้นกำเนิดของพลังงาน และเป็นศูนย์รวมของความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญต่อทุกชีวิต ซึ่งเยาวชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจะได้เดินทางไปเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ตรงจาก ป่าต้นน้ำด้วยตนเอง และสามารถนำมาปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน” นายอมรรัตน์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายบัญชี EGCO Group และ กรรมการและเหรัญญิก มูลนิธิไทยรักษ์ป่า เล่าถึงที่มาของการจัดค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่ามาต่อเนื่องกว่า 20 ปี
ในปีนี้ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group ร่วมกับมูลนิธิไทยรักษ์ป่า และอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ สานต่อเจตนารมณ์ในการปลูกจิตสำนึกรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เยาวชนอย่างต่อเนื่อง โดยจัด “ค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่า รุ่นที่ 58” ภายใต้แนวคิด “Inspired by Nature” เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 64 คน มาร่วมเรียนรู้และนำแรงบันดาลใจจากธรรมชาติไปต่อยอดเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่จะร่วมกันอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งสร้างมิตรภาพที่ดีร่วมกัน ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เป็นเวลา 7 วัน 6 คืน
หลากหลายเรื่องราวในค่ายฯ ได้เกิดขึ้นผ่านกิจกรรมและกระบวนการสื่อความหมายธรรมชาติที่ช่วยทำให้เยาวชนได้เข้าใจถึงความสำคัญของป่าต้นน้ำและความหมายของการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติด้วยตนเอง เช่น กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์และการดำรงชีวิตแบบชาวค่าย ตั้งแต่การหุงหาอาหารรับประทานเองทุกมื้อ การกางเต็นท์และผูกเปลนอน กิจกรรมเดินป่าเรียนรู้ธรรมชาติผ่านป้ายสื่อความหมายธรรมชาติในเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน กิจกรรมเรียนรู้ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในป่า 6 คนโอบ ตั้งแต่ดิน น้ำ แมลง สัตว์ และระบบนิเวศต่าง ๆ ที่ล้วนต้องพึ่งพาอาศัยกันอย่างเกื้อกูล
“มาเข้าค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่า เพราะอยากเรียนรู้เรื่องป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน หลังจากทำกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว ก็ทำให้เข้าใจถึงความสำคัญของป่าต้นน้ำและการดูแลทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น อยากส่งต่อความรู้ที่ได้จากค่ายนี้ไปสู่น้อง ๆ ในโรงเรียน เพื่อส่งเสริมให้ร่วมกันดูแลธรรมชาติและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน นอกจากนี้ ยังได้รับแรงบันดาลใจเรื่องการใช้สมุนไพรรักษาโรค ซึ่งเป็น อีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้มากขึ้น อยากเป็นเภสัชกรตัวน้อย ๆ ที่รู้เรื่องสมุนไพรและอยากไปช่วยคนในหมู่บ้านที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงการรักษาของโรงพยาบาล” นางสาวอรปรียา พิมพ์ศรี (ใบมิ้นท์) รร.สาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม จ.มหาสารคาม เล่าถึงความประทับใจที่ได้รับจากการมาเข้าค่ายครั้งนี้
ในขณะที่ นางสาวกุลภรณ์ รัตนจรัสโรจน์ (จีน) รร.สวนกุุหลาบวิทยาลัย รังสิต กรุงเทพฯ กล่าวว่า “กิจกรรมต้นไม้เพื่อนรักเป็นกิจกรรมที่หนูชอบที่สุด เพราะทำให้เปิดใจมาก ๆ การที่เราจะได้รักและเข้าใจ ใครสักคนเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะกับธรรมชาติ หลายคนคงสงสัยว่าเขาพูดไม่ได้ เราจะไปเป็นเพื่อนกับเขาได้ยังไง แต่กิจกรรมนี้ทำให้เราเข้าใจและสัมผัสกับเพื่อนที่มีความจริงใจและให้ทุกอย่างกับเราตลอดมา ค่ายนี้ให้อะไรกับหนูเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแนวคิด มุมมอง โดยเฉพาะเรื่องการแบ่งปัน ที่พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะมนุษย์เราเห็นตัวเองเป็นอันดับแรก น้อยคนที่จะคิดถึงส่วนรวม แต่ก็อยากให้รู้ว่าธรรมชาติได้แบ่งปันทุกสิ่งทุกอย่างให้กับเรา แต่เมื่อไรกันที่เราจะแบ่งปันสิ่งนั้นกลับไปให้ธรรมชาติบ้าง”
นายอิทธิชัย โชสนับ (เกล้า) โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับป่ามากนัก แต่เมื่อได้มาเข้าค่ายและเรียนรู้เรื่องความสำคัญของป่าต้นน้ำและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลกระทบที่เกิดจากมนุษย์ ก็ทำให้เกิดจิตสำนึกที่อยากจะรักษาและเปลี่ยนแปลงธรรมชาติให้ดีขึ้นกว่าเดิม อยากเผยแพร่ข้อมูลให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของป่าต้นน้ำและสิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมกัน เชื่อว่าเด็กยุคใหม่มีความคิดที่กว้างขวาง แต่อาจจะไม่รู้ช่องทางในการลงมือทำ ถ้ามีผู้ใหญ่ที่พร้อมเข้าใจ รับฟัง และสนับสนุน ก็เชื่อว่าความคิดและพลังของเยาวชนจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้กับธรรมชาติได้”
ปิดท้ายที่ นายมูฮามัดรอฟัด เฮงดาดา (โอโบ้) รร.ธรรมวิทยามูลนิธิ จ.ยะลา กล่าวว่า “ขอบคุณค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่า ที่มอบความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมให้กับผม และขอบคุณเพื่อน ๆ ที่มอบมิตรภาพให้ระหว่างที่อยู่ร่วมกันในค่ายนี้ เมื่อกลับจากค่ายฯ ไปที่หมู่บ้านของตัวเอง ก็อยากตั้งทีมขึ้นมาร่วมมือกันดูแลธรรมชาติและลำธารบริเวณหมู่บ้าน เพื่อแสดงให้เห็นว่าธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญ หากพวกเราไม่ดูแลให้ดี จะส่งผลกระทบขึ้นมาได้ ผมเชื่อว่าการได้ลงมือทำจริง จะช่วยส่งต่อแรงบันดาลใจไปให้คนอื่น ๆ และทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างได้”
“เมื่อจบกิจกรรมในค่ายฯ เกือบ 1 สัปดาห์ เยาวชนต่างมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของป่าต้นน้ำและทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ตลอดจนมีแรงบันดาลใจที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงบวก รวมถึงพร้อมส่งต่อหัวใจนักอนุรักษ์ไปสู่ครอบครัว ชุมชน และโรงเรียน ซึ่งเป็นสังคมใกล้ตัว” นางสาวมานนีย์ พาทยาชีวะ เลขาธิการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า กล่าวทิ้งท้ายหลังจากที่ได้ส่งน้อง ๆ เยาวชน กลับบ้านไปหาครอบครัวอย่างปลอดภัย