เอ็นจีโอ อย่าง มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (เอ็นลอร์) และกรีนพีซ ประเทศไทย ไม่อยู่เฉยจากกรณีมลพิษกากแคดเมียม ได้เข้าพบ จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมโดยทันที
ได้พูดคุยถึงแนวทางการทำงานร่วมกันในการผลักดันร่างกฎหมาย PRTR ฉบับประชาชน ซึ่งจะแก้ไขปัญหามลพิษของประเทศได้จริงในภาพรวม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความลับทางการค้าของภาคเอกชน
การเข้าพบอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ทางองค์กรภาคประชาชนซึ่งเป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ หรือร่างกฎหมาย PRTR มีจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการขอการสนับสนุนจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากรัฐสภา ภายหลังจากที่ได้มีการรวบรวมรายชื่อประชาชนเกือบ 12,000 คน เป็นผู้ร่วมเสนอกฎหมายเรียบร้อยแล้ว
นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยว่าต้องการเน้นย้ำถึงความสำคัญในการมีกฎหมาย PRTR ที่จะมีส่วนช่วย กรอ. ในการทำหน้าที่กำกับควบคุมและส่งเสริมการทำงานของโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะจะมีข้อมูลที่ครบถ้วนในการทำงาน โดย PRTR เป็นเครื่องมือสำคัญที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับเรื่องของข้อมูลมลพิษมากกว่า พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ร.บ. โรงงาน และ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พร้อมกับยกตัวอย่างการปรับใช้ PRTR ของประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น
เธอให้ข้อสังเกตว่า ถ้าหากกฎหมาย PRTR ไม่ให้ผลที่แตกต่างหรือส่งผลโดยตรงได้จริงในเรื่องของการควบคุมมลพิษและลดความเสี่ยงจากมลพิษ ทางสหประชาชาติคงไม่สนับสนุนให้ทุกประเทศมีกฎหมายฉบับนี้ ทั้งๆ ที่แต่ละประเทศต่างก็มีกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ถึงกับกำหนดเป็นเงื่อนไขเฉพาะด้วยว่า ประเทศที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกของ OECD จำเป็นต้องมีกฎหมาย PRTR
นั่นจึงแสดงว่ากฎหมายนี้ต้องมีความสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหามลพิษได้อย่างแท้จริง ดังนั้นการผลักดันร่างกฎหมาย PRTR ถ้ามีเสียงสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทำให้มีน้ำหนักมากขึ้น
“เราอยากให้ช่วยกันสนับสนุน ไม่เช่นนั้นปัญหามลพิษในประเทศไทศจะแย่และรุนแรงไปกว่านี้ และเราเชื่อว่า กฎหมาย PRTR ฉบับที่ประชาชนนำเสนอนี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญ เป็นเครื่องมือที่เฉพาะเจาะจง และมีผลโดยตรง รวมทั้งได้ผลเร็วในการลดผลกระทบจากมลพิษ และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน” ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าว
ทางด้าน อธิบดีกรอ. ได้แลกเปลี่ยนว่า ทางกรมมีการจัดทำร่างประกาศกระทรวงฯ ที่มีลักษณะเดียวกับกฎหมาย PRTR เพื่อเป็นมาตรการในการรวบรวมข้อมูลมลพิษจากแหล่งกำเนิดภาคอุตสาหกรรม ซึ่งครอบคลุมรายการสารเคมีและสารมลพิษจำนวนมาก และเชื่อว่าเป็นร่างประกาศกระทรวงฯ ฉบับหนึ่งที่มีความครอบคลุมชนิดการปล่อยมลพิษในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยืนยันว่า กรอ. พร้อมให้การสนับสนุนและเห็นด้วยในหลักการร่างกฎหมาย PRTR ฉบับประชาชน เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม อีกทั้งมีการระบุแหล่งมลพิษที่กว้างกว่าภาคอุตสาหกรรม แต่ทาง กรอ. ยังคงมีข้อกังวลเรื่องการเปิดเผยข้อมูล เพราะเกรงว่าจะกระทบภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศยืนยันว่า เรื่องการเปิดเผยข้อมูลตามกฎหมาย PRTR จะไม่กระทบต่อความลับทางการค้าของภาคเอกชน และไม่ไปสั่นคลอนความสามารถทางการแข่งขันของภาคเอกชนด้วย เนื่องจากในบรรดาประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลายต่างก็มีการใช้ระบบกฎหมาย PRTR กันทั้งหมดแล้ว ดังนั้นจึงผ่านการพิสูจน์จนสิ้นสงสัยแล้วว่า นอกจากไม่กระทบความลับทางการค้าแลัว ยังส่งผลช่วยลดต้นทุนในการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารเคมีของทางฝ่ายอุตสาหกรรมเองด้วย
ขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้แสดงความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (PRTR) ตั้งแต่วันนี้ถึง 19 เม.ย. 2567 ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และกรีนพีซ ประเทศไทย
ดิฉันขอเชิญทุกคนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อผลักดันกฎหมาย PRTR ให้เข้าสู่การพิจารณของรัฐสภา ได้ที่ >> https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php
กม.PRTR คืออะไร ?
กฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) เป็นกฎหมายที่จะบังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมเปิดข้อมูลการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการผลิตภายในโรงงานเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบที่มาของมลพิษที่อยู่ใกล้ตัวที่อาจส่งผลต่อสภาพแวดล้อมที่ตนอาศัยอยู่ โดยมีหลักเกณฑ์ในการตรวจวัดมลพิษที่ชัดเจนที่ต้องรายงานต่อกรมควบคุมมลพิษ
ทั้งนี้หัวใจสำคัญของ PRTR คือสิทธิของชุมชนการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร (Community Right-to-Know)
อ้างอิง>>https://www.greenpeace.org/thailand/story/20329/pollutant-release-and-transfer-register-prtr/