มหาวิทยาลัยรังสิตมีนโยบายในการผลิตพลังสมองให้ประเทศไทยในอนาคต ด้วยการบูรณาการศาสตร์การเรียนรู้ต่างๆ ปรับให้เข้ากับโลกการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับการทำงานในโลกยุคใหม่ “คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต” จึงปรับเปลี่ยนแนวทางการเรียนการสอน เพื่อให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไม่ได้เป็นเพียง “สถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต” แต่ยังเป็น “สถาปนิกอาชีพ” อีกด้วย โดยนอกจากการเรียนการสอนที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานแล้ว ยังมีความโดดเด่นในเรื่องสภาพแวดล้อมหรือบรรยากาศที่เปิดกว้างเพื่อให้นักศึกษาได้ค้นหาตัวตน และสร้างศักยภาพยกระดับความสามารถของตนเองในแนวทางที่ตนเองสนใจ เพื่อให้เป็นนักวิชาชีพที่มีความหลากหลายตามความต้องการของตลาดแรงงานและโลกธุรกิจในอนาคต
๐ วางระบบก้าวทีละขั้น สร้างพื้นฐานมั่นคง
โดยมีรูปแบบการเรียนการสอนแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” แต่มีการ “กำหนดค่าเป้าหมาย” การเรียนรู้ในแต่ละชั้นปีอย่างชัดเจน เริ่มจาก ชั้นปีที่ 1 “เรียนรู้โลกของการออกแบบเชิงกว้าง” โดยแปรสภาพจากนักศึกษาในโลกการเรียนตามปกติเป็นโลกของสถาปนิกอาชีพ โดยไม่จำเป็นต้องทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ให้รู้ว่าก้าวแรกของการเป็นนักวิชาชีพสถาปนิกและงานสถาปัตยกรรมคืออะไร ทำอะไรได้บ้าง ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้โลกการทำงานจริง แทนการท่องจำตามหลักการหรือตามตำราที่อาจารย์สอน โดยให้นักศึกษาตั้งโจทย์หรือคำถาม ซึ่งจะมีผู้ประกอบการด้านสถาปัตย์หรือสหวิชาชีพอื่นๆ ในสายงานออกแบบมาให้นักศึกษาเข้าไปสัมผัสมีส่วนร่วมเรียนรู้ โดยเฉพาะการเรียนรู้ซึ่งมีรุ่นพี่ในคณะเป็นต้นแบบ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “4 บวก 1” ซึ่งเป็นการให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทำงานร่วมกับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ด้วยการเป็นผู้วิภาคหรือเสนอแนะในโครงการของรุ่นพี่ปีที่ 2 ปีที่ 3 หรือวิทยานิพนธ์ของรุ่นพี่ปีที่ 5 เป็นต้น
สำหรับการเรียนชั้นปีที่ 2 “เรียนรู้วิชาชีพแบบผู้ประกอบการ” เพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจหรือเศรษฐกิจของโลกปัจจุบัน ซึ่งสถาปนิกไม่ใช่เป็นเพียงนักออกแบบที่เชี่ยวชาญเพียงเรื่องการออกแบบก่อสร้าง หรือเป็น stylish แต่ต้องเข้าใจวิธีคิดในการลงทุน เพื่อให้นักศึกษาเป็นผู้ประกอบการเองได้เมื่อจบการศึกษาหรือเป็นระดับผู้นำองค์กรที่เข้าใจกฎหมายทางธุรกิจ โดยคณะฯ มีความร่วมมือกับองค์กรธุรกิจต่างๆ ในการให้โจทย์ รวมทั้งตรวจสอบคุณภาพ และให้คำแนะนำนักศึกษา
ส่วนชั้นปีที่ 3 “เรียนรู้การเป็นนักวางแผนเชิงกลยุทธ์” หรือ Strategic Planner ที่เข้าใจ “บริบทเชิงกว้าง” หมายถึง การเข้าใจนโยบายการพัฒนาในภาพใหญ่ ความเปลี่ยนแปลงการเป็นเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่นอกเหนือจากกลไกทางธุรกิจหรือการออกแบบโดยทั่วไป เพื่อให้เห็นว่าโครงการการออกแบบสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ ขนาดใหญ่พิเศษ และอาคารสูง มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมหรือการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างไร และ “กลไกเชิงลึก” หมายถึงการเข้าใจในระบบกลไกการออกแบบและการก่อสร้างด้านสถาปัตยกรรม การเชื่อมโยงกับงานวิศวกรรม การเรียนรู้ข้ามสหสาขาวิชาตามความสนใจของนักศึกษา การเรียนรู้เชิงลึกในเทคนิคการออกแบบ เป็นต้น
ขณะที่ชั้นปีที่ 4 “เรียนรู้การเตรียมตัวเข้าสู่ตลาดวิชาชีพ” เพื่อให้เป็น professional และ international เตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดวิชาชีพที่ไม่ใช่แค่ในไทย และอาเซียน แต่เป็นระดับโลก พร้อมทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม การใช้ระเบียบวิธีที่เป็นมาตรฐาน จึงให้นักศึกษาทำ individual self study เพื่อประเมินองค์ความรู้ให้พร้อมกับโลกการทำงานจริง
สำหรับชั้นปีที่ 5 “เรียนรู้การเป็นสถาปนิกอาชีพ” หรือ professional architect เตรียมทำวิทยานิพนธ์ก่อนจบการศึกษา
๐ ผลลัพธ์การเรียนรู้คือเป้าหมายหลัก
นายธนัฐวัสส์ วงศ์ทิมารัตน์ อาจารย์ประจำหัวหน้าหลักสูตรสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า “ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นการเรียนการสอนที่เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้เป็นเป้าหมายหลัก โดยนักศึกษาสามารถค้นพบตัวเองผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งรูปแบบนี้ใช้มา 2 ปีแล้ว กระบวนการนี้ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างเรียน ไม่ใช่แค่นักศึกษาและอาจารย์ชั้นปีนั้นๆ มาพบกัน แต่เป็นการพบกันของหลายชั้นปี มีบรรยากาศความเป็นพี่น้องมาร่วมกันให้ข้อคิดเห็นและนำเสนอผลงานร่วมกัน”
“สิ่งที่เปลี่ยนไปจากเดิมมากที่สุด หนึ่งคือ บรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมในการเรียน ซึ่งนักศึกษาจะรู้สึกได้ว่ามาเพื่อ “เรียนรู้” เพราะโลกของการเรียนรู้ไม่ใช่การลุยเดี่ยวหรือเก่งคนเดียว แต่เป็นการเรียนรู้จากคนอื่นได้ด้วยและทำให้ตนเองเห็นคุณค่าจากสิ่งที่ตนเองมี โดยไม่จำเป็นต้องเก่งเท่ากับคนอื่นในทุกด้าน แต่เป็นการมองหาสิ่งที่เรามีศักยภาพและพัฒนาสิ่งนั้นให้มีคุณค่าเพิ่มขึ้น แล้วนำไปใช้ร่วมกันคนอื่น สองคือ การเป็นตัวของตัวเอง แต่ยังสามารถทำงานในระบบทีม เรียนรู้ร่วมกับทีม สามคือ ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ได้ ทำให้นักศึกษาที่เรียนอ่อนจะแข็งแรงขึ้นได้ เก่งขึ้นได้ ไม่โดดเดี่ยว ไม่โดนทิ้ง เป็นลักษณะของ “Inclusive Learning” ซึ่งคณะฯ เรียกว่า “Family Learning” เพื่อให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น การช่วยเหลือกันเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ต่างจากการเรียนแบบเดิมซึ่งคนเก่งจะเก่งคนเดียว ขณะที่คนเรียนอ่อนจะไม่มีการช่วยพัฒนา”
นายธนัฐวัสส์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ตามปกตินักศึกษาแต่ละคนจะมีความสามารถใน 4 เรื่องนี้ไม่เท่ากันในช่วงแรกของการเข้ามาเรียน คือ ข้อมูล แนวคิด การออกแบบหรือบูรณาการทางเทคนิค และการนำเสนอ ดังนั้น การให้ทำทุกเรื่องทั้งหมดคนเดียวจึงยาก แต่เมื่อเป็นระบบทีม วิธีการของกระบวนการทำงานกลุ่ม บางเรื่องที่ยังไม่พร้อมในปีต้นๆ จะมีเพื่อนและรุ่นพี่คอยสนับสนุน ทำให้มีเวลาค่อยๆ พัฒนาทักษะ เพิ่มเติมคุณสมบัติด้านนั้น อาจจะไม่ได้ดีเท่ากันหมด แต่จะทำให้สุดท้ายมีครบทั้ง 4 ด้าน สามารถก้าวไปได้ด้วยตนเอง
สำหรับการสร้างประสบการณ์ตรง มีการร่วมมือกับผู้ประกอบการนำโจทย์จริงมาให้นักศึกษาได้เรียนรู้และลงมือทำจริงๆ โดยอาจารย์เป็นผู้นำกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้นักศึกษาค้นหาคำตอบ ให้ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ และปรับตัวได้เร็วขึ้น ทำให้รู้ว่าสิ่งที่เรียนนำไปใช้ได้อย่างไร และไม่กลัวโลกวิชาชีพของการทำงานจริง เพราะเห็นภาพโดยไม่ต้องคาดเดาว่าจะต้องพบอะไร การใช้ระบบนี้ต่างจากสมัยก่อนต้องเป็นเด็กเก่งจึงจะได้โอกาส แต่ปัจจุบันทุกคนได้โอกาสนี้
๐ จัดการความกลัว ด้วยกลไกใหม่
นอกจากนี้ ยังมีโจทย์ใหญ่คือ “ความกลัว” ซึ่งเป็นจุดอ่อนของนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่มี 3 ความกลัวหลักๆ คือ “กลัวสู้ไม่ได้” กลัวเพราะรู้ว่าตัวเองไม่รู้ หรือรู้อยู่แก่ใจว่าทำไม่ได้ “กลัวทำไม่ได้” ในวัยนี้เมื่อเกิดความรู้สึกด้อยกว่าเพื่อน ทำให้คิดว่าตัวเองไม่มีที่ยืน และ “กลัวการเข้าสังคม” ไม่ค่อยกล้านำเสนอความคิด เพราะกลัวการถูกปฏิเสธ ทั้งที่อาจจะเก่ง เพราะความไม่มั่นใจ ทำให้ไม่สามารถก้าวผ่านการพัฒนาหรือการเรียนรู้ ดังนั้น “Family Learning” จึงเป็นการใช้บรรยากาศสร้างสภาพแวดล้อมเชิงบวก มีการช่วยเหลือกันและเรียนรู้จากคนอื่น เพื่อช่วยให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้น
“ยกตัวอย่าง ในบรรยากาศการเดินเข้ามาเรียนไม่เป็นแบบทางการจนไม่กล้าขยับอะไรเลย เมื่อมีความรู้สึกสบายใจจะช่วยให้การเรียนดีขึ้น เช่น วันหนึ่งมีนักศึกษาคนหนึ่งใส่เสื้อยืดมาเรียน เพราะฐานะที่บ้านไม่ดี ต้องทำงานส่งตัวเองเรียน และซักเสื้อผ้าไม่ทัน เมื่อรู้แบบนี้ เราก็ขอบคุณที่เขามาเรียน เพราะไม่ปล่อยให้เรื่องแบบนี้เป็นอุปสรรค แต่ก็ให้แง่คิดว่าเมื่อเป็น final present ควรจะวางแผนเตรียมชุดให้เหมาะ หรือเลิกกับแฟน ไม่มาเรียน เพราะไปตามง้อ แฟนไม่กลับมา เครียด จุดสำคัญคือ ไม่ทำให้คณะฯ กลายเป็น toxic ของเขา ไม่ทำให้การมาเรียนคือความทุกข์ และการได้ใกล้ชิดทำให้รู้ว่า เด็กบางคนแค่เรื่องที่บ้านก็ทำให้ไม่อยากตื่นแล้ว ทำให้มีภาวะซึมเศร้า หรือบางคนดูภายนอกไม่มีปัญหาอะไร แต่ที่จริงกลับมีเรื่องที่แบกรับอยู่และต้องการความเข้าใจ”
“ดังนั้น กระบวนการเรียนการสอนต้องคำนึงถึงเรื่องแบบนี้ด้วย และคำแนะนำหรือหลักคิดที่ให้เป็นทางออกคือ แม้เป็นคนเก่ง ก็ไม่จำเป็นต้องเก่งตลอดเวลา เมื่อไม่พร้อมก็พัก ปล่อยให้คนอื่นเก่งบ้าง ไม่เป็นไร ไม่จำเป็นต้องกดดันเกินไป ซึ่งในโลกการทำงานก็เหมือนกัน มีช่วงที่เหนื่อย มีปัญหา ก็ต้องเข้าใจว่านี่คือโลกของความเป็นจริง เพราะชีวิตไม่ได้ราบรื่นตลอดไป ต้องรู้จักยินดีกับเพื่อนที่สำเร็จ เช่นกันเมื่อเราสำเร็จเพื่อนจะยินดีกับเรา”
นายธนัฐวัสส์ กล่าวทิ้งท้ายว่า กลไกการเรียนแบบนี้ทำให้เห็นว่า นักศึกษาแต่ละคนมีทักษะที่โดดเด่น และสามารถพัฒนาส่วนที่ไม่มีค่อยๆ ทำให้ดีขึ้นได้และในโลกการทำงาน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต ในวันนี้มี “สถาปนิกอาชีพ” เข้าไปทำงานกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่มากขึ้น เพราะมีความเข้าใจในเรื่องกลไกตลาด เช่น การลงทุน การเงิน และเกณฑ์การพิจารณาต่างๆ นอกจากความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบงานสถาปัตยกรรม หรือมีคนทำธุรกิจของตนเองรับงานออกแบบต่างๆ เช่น ที่อยู่อาศัย ร้านอาหาร หรือมีคนทำธุรกิจจัดอีเว้นท์ควบคู่ไปด้วย หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน wellness ตามเทรนด์หรือกระแสความต้องการใหม่ๆ เช่น เทรนด์ผู้สูงอายุ เทรนด์การดูแลสุขภาพ เพราะโอกาสการหารายได้ในวันนี้มีแนวทางหลากหลายมากมายต่างจากอดีต เมื่อได้เรียนรู้ในวิชาชีพ ได้เปิดโลกทัศน์ ได้ค้นพบตัวเอง ได้เรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิต เข้าใจโลกของการทำงาน โลกของธุรกิจ และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว