xs
xsm
sm
md
lg

ตื่นตา งดงาม! กระทิงฝูงใหญ่เขาแผงม้า “ใครอยากเห็นกระทิง ต้องได้เห็น”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





ชมคลิปกระทิงฝูงใหญ่ ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า โดย นายวิษณุรักษ์ ศรีบัณฑิต นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ได้เผยภาพล่าสุดของเหล่ากระทิงป่าฝูงใหญ่ที่ออกมาเดินอวดโฉมให้ได้เห็นในเกือบทุกๆ วัน ณ จุดสะกัดเขาสูง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา

คงเป็นภาพคุ้นตา จนใครอาจนึกว่าเป็นสัตว์เลี้ยงหรือเปล่า? แต่สำหรับนักศึกษาธรรมชาติ หรือนักท่องเที่ยวสายสีเขียวที่ชมชอบสัมผัสบรรยายกาศธรรมชาติ และสัตว์ป่า ที่แวะเวียนมาเยี่ยมชมกันบ่อยๆ ณ จุดสกัดเขาสูง ย่อมรู้ดีว่า กระทิงเหล่านี้คือสัตว์ป่า ซึ่งหลายคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นกระทิงป่าฝูงใหญ่มากฝูงหนึ่งของประเทศไทย “หากตั้งใจมาดูเมื่อไหร่ก็ได้เห็นกระทิงตัวเป็นๆ เมื่อนั้น”

รู้หรือไม่! ปกติแล้ว ณ บริเวณจุดสะกัดเขาสูงแห่งนี้ จะมีเจ้าหน้าที่ของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า คอยอำนวยความสะดวกผู้มาเยี่ยมชมด้วยการตั้งกล้องส่องทางไกลไว้ให้บริการส่องสัตว์ดูกระทิง พร้อมทั้งบรรยายให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจด้วย

สำหรับกระทิง Guar (𝘉𝘰𝘴 𝘨𝘢𝘶𝘳𝘶𝘴) หรือ เมย เป็นสัตว์ป่าเท้ากีบ อยู่ในวงศ์ตระกูลเดียวกับควายป่าและวัวแดง แต่กระทิงนั้นมีจุดเด่นอยู่ที่รูปร่างใหญ่ ล่ำ มีขนสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ ขาทั้งสี่มีสีขาวคล้ายกับสวมถุงเท้าอยู่ มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย ตรงหน้าผากที่อยู่ระหว่างเขาจะมีขนสีน้ำตาล พร้อมจุดแต้มสีเทาอมเหลือง เรียกว่า ‘หน้าโพ’

จากการสำรวจ 18 กลุ่มป่า พบการกระจายของกระทิงอยู่ในพื้นที่กลุ่มป่าอนุรักษ์ 13 กลุ่มป่า ครอบคลุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 46 แห่ง กลุ่มป่าอนุรักษ์ที่มีความสำคัญในการอนุรักษ์กระทิง ได้แก่

■ กลุ่มป่าตะวันออก
■ กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
■ กลุ่มป่าคลอง-เขาสก
■ กลุ่มป่าตะวันตก
■ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว
■ กลุ่มป่าแก่งกระจาน
■ กลุ่มป่าฮาลา-บาลา

ปัจจุบันกระทิงในประเทศไทยมีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 2 และเป็น 1 ใน 51 สัตว์ป่า ตามบัญชีหมายเลข 1 (Appendix I ) ซึ่งมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ มีประเด็นเรื่องการลักลอบล่าและค้าสัตว์ป่า อยู่เป็นประจำ โดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ได้เปิดเผยข้อมูลว่า กระทิงนั้นอยู่ลำดับที่ 8 จาก 10 อันดับสัตว์ป่าที่มีการลักลอบซื้อขายมากที่สุด

อ้างอิง
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า จังหวัดนครราชสีมา
ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช


กำลังโหลดความคิดเห็น