xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดข้อมูล ESG ทั่วโลก โตต่อเนื่อง / ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตัวเลขการสำรวจของออพิมัส ที่ปรึกษาด้านการจัดการลงทุนในตลาดทุนทั่วโลก ระบุว่า ขนาดของตลาดข้อมูล ESG (Environmental, Social and Governance) จะมีมูลค่าเกิน 2 พันล้านเหรียญในปีนี้ จากที่เพิ่งทำสถิติที่ระดับ 1 พันล้านเหรียญ ในปี ค.ศ. 2021 หรือเมื่อสามปีที่แล้ว

ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยเฉพาะอัตราการเติบโตเทียบปีต่อปี (YoY) ของตลาดข้อมูลวิจัยและบทวิเคราะห์ ESG ในปี ค.ศ. 2021 และปี ค.ศ. 2022 ที่มีอัตราสูงถึง 62% และ 42% เป็นผลพวงมาจากการออกข้อบังคับว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลการเงินที่ยั่งยืน (SFDR) ของสหภาพยุโรป ซึ่งถือเป็นจุดชนวนสำคัญที่ผลักดันการเติบโตของตลาดข้อมูล ESG

สำหรับอัตราการเติบโตเทียบปีต่อปี (YoY) ของตลาดข้อมูล ESG ในปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 2023) อยู่ที่ 17% โดยมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 1.9 พันล้านเหรียญ และคาดว่าจะเติบโตอีก 14% ในปีนี้ โดยแบ่งเป็นการเติบโตของตลาดข้อมูลวิจัยและบทวิเคราะห์ ESG ที่ 12% และการเติบโตของตลาดข้อมูลดัชนี ESG ที่ 19%


จะเห็นว่า นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 ที่ตลาดข้อมูล ESG มีมูลค่าอยู่เพียง 305 ล้านเหรียญ ได้มีการเติบโตเทียบปีต่อปีเพิ่มขึ้นในอัตราที่เป็นเลขสองหลักมาโดยตลอด โดยโตสูงสุดถึง 59% ในปี ค.ศ. 2021 (ปีที่ SFDR ประกาศใช้) และในปีปัจจุบัน คาดการณ์ว่าจะมีตัวเลขมูลค่าตลาดอยู่ที่ 2.1 พันล้านเหรียญ

ในฟากของประเทศสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) ที่เพิ่งผ่านการอนุมัติหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศสำหรับบรรษัทขนาดใหญ่ กำลังจะพิจารณาผ่านร่างหลักเกณฑ์การรายงานสำหรับกองทุน ESG หรือเป็นการเปิดเผยข้อมูล ESG สำหรับผู้แนะนำการลงทุนและบริษัทจัดการลงทุน ซึ่งหลักเกณฑ์หลังนี้ คาดหมายว่าจะเป็นตัวเร่งทำให้เกิดความต้องการในข้อมูล ESG ยิ่งขึ้นจากเดิม แม้หลักเกณฑ์แรก จะยังต้องเผชิญกับความท้าทายด้านกฎหมายอยู่ก็ตาม

ทั้งกรณีการออกหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศของ ก.ล.ต. สหรัฐ และข้อกำหนดการรายงานข้อมูลความยั่งยืนของกิจการ (CSRD) ของสหภาพยุโรป ได้ส่งผลให้เกิดยอดใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับซอฟต์แวร์และบริการด้านการรายงานข้อมูล ESG และสร้างโอกาสการขยายตัวแนวดิ่งของบรรดาผู้ค้าข้อมูล ESG อย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากพัฒนาการด้านกฎระเบียบที่กระตุ้นให้เกิดการเติบโตของตลาดข้อมูล ESG แล้ว การครอบงำและการควบรวมกิจการ (M&A) ระหว่างผู้ให้บริการข้อมูล ESG ยังคงดำเนินไปต่อเนื่อง ทั้งในแบบที่เป็นการยุบรวมระหว่างผู้ค้าในแนวราบ และในแบบที่เป็นการผนวกกิจการในแนวดิ่ง ที่ซึ่งธุรกิจข้อมูล ESG ควบรวมกับกิจการข้อมูลดัชนี หรือกับผู้ให้บริการรายงานข้อมูลกองทุน ฯลฯ

แม้คำว่า ESG ได้พัฒนากลายมาเป็นประเด็นทางการเมืองในสหรัฐอเมริกา แต่ก็มิได้ทำให้นัยของเรื่อง ESG ด้อยความสำคัญลง ตรงกันข้าม ในปี ค.ศ. 2024 เราได้เห็นวิวัฒนาการอีกขั้นของการลงทุนโดยใช้ปัจจัย ESG ที่อวตารมาเป็น “การลงทุนเพื่อการปรับเปลี่ยน” (Transition Investing) อีกหนึ่งภาค

จึงเป็นไปได้สูงที่ ยอดการลงทุนในหมวด ESG ซึ่งแสดงตัวเลขขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหารที่ลดลงมามากในช่วงที่ผ่านมานั้น ได้ถูกถ่ายโอนไปอยู่ในหมวดการลงทุนเพื่อการปรับเปลี่ยนแทน (หมายเหตุ: ตัวเลขการลงทุนที่ยั่งยืนในสหรัฐอเมริกา ลดลงจาก 17.1 ล้านล้านเหรียญ มาอยู่ที่ 8.4 ล้านล้านเหรียญ หรือลดลงกว่าร้อยละ 50 ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.2020-2022 จากการรวบรวมของ GSIA)

บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์


กำลังโหลดความคิดเห็น