xs
xsm
sm
md
lg

“สมเด็จธงชัย” ย้ำ "หมู่บ้านศีล 5 ดีเด่น" ต้องเป็นต้นแบบสร้างสันติสุข

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การประชุมขับเคลื่อนโครงการ หมู่บ้านรักษาศีล 5 และพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณหมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้นแบบ ประจำปี 2566 ในช่วงเช้า พระพรหมเสนาบดี เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เจ้าคณะภาค 7 รองประธานอำนวยการโครงการฯ เป็นประธานเปิดการประชุม ณ หอประชุมพุทธมณฑล จ.นครปฐม

จากนั้น มีการชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนหมู่บ้านศีล 5 ในปี 2567 โดย พระธรรมวชิรานุวัตร ประธานคณะกรรมการบริหารกลาง พระเทพเสนาบดี รองประธานคณะกรรมการบริหารกลาง พระศรีสมโพธิ คณะกรรมการบริหารกลาง พระสุธีรัตนบัณฑิต คณะกรรมการบริหารกลาง พระมหาบุญเลิศ อินฺทปญฺโญ คณะกรรมการบริหารกลาง

สำหรับช่วงบ่าย สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมส. ประธานอำนวยการโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เป็นประธานมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ หมู่บ้านรักษาศีล 5 ดีเด่น ประจำปี 2566 และกล่าวสัมมโมนียกถาว่า ขอแสดงความชื่นชมยินดีกับท่านทั้งหลายที่ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ หมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้นแบบ ประจำปี พ.ศ. 2566 การขับเคลื่อนโครงการประสบความสำเร็จบรรลุตามวัตถุประสงค์ สร้างคุณูปการคุณประโยชน์ก่อเกิดความปรองดองสมานฉันท์แก่ประเทศชาติ นับแต่ครั้ง สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้ดำริที่จะเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ สืบมาจนถึงปัจจุบัน

(จากซ้าย) พระธรรมวชิรานุวัตร ประธานคณะกรรมการบริหารกลาง  เจ้าคณะภาค 14, เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง, ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี  /  พระเดชพระคุณพระพรหมเสนาบดี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค ๗ รองประธานอำนวยการโครงการ “หมู่บ้านรักษาศีล ๕” เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร  /  พระมหาบุญเลิศ  อินฺทปญฺโญ,ศ.ดร. คณะกรรมการบริหารกลาง   ,รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารวิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี
สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี กล่าวอีกว่า ศีล เป็นเครื่องข่มจิต ข่มที่ตัวจิตไม่ให้ตามใจกิเลส สมาธิ เป็นเครื่องข่มกิเลส ไม่ให้มาเบียดเบียนจิตได้ ปัญญา เป็นเครื่องขุดรากถอนโคนกิเลสให้หมดสิ้นไป หลักทั้ง 3 ประการนี้ เป็นส่วนประกอบในการพัฒนาบุคคล ฝึกตนในด้านพฤติกรรม คือ ศีล ฝึกตนในด้านจิตใจ คือ สมาธิ และฝึกตนให้รู้ความจริง คือ ปัญญา เป็นหลักพื้นฐานสำหรับการดำเนินชีวิตไปตามปกติธรรมดา ตลอดจนเป็นแนวทางดำเนินโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” เพื่อให้เกิดความสุข ความสงบเย็น ไม่ประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น ยังให้เกิดสันติสุขที่แท้จริง และมีความมั่นคงในพระพุทธศาสนา ประเทศชาติ และประชาชน ขอให้รักษา พัฒนาแนวทางอันก่อให้ให้เกิดสันติสุขในชุมชน และนำแนวทางตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ไปประยุกต์ใช้ในชุมชน ประพฤติปฏิบัติเพื่อเป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นๆ ต่อไป

พระธรรมวชิรานุวัตร ประธานกรรมการบริหารกลาง โครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” กล่าวว่า สำหรับหมู่บ้านที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่น เป็นที่ประจักษ์ และสามารถเป็นต้นแบบในด้านการรักษาศีล 5เพื่อยกย่อง และเชิดชูเกียรติเป็นหมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้นแบบ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระดับจังหวัด มีจำนวน 77 หมู่บ้าน ระดับภาค จำนวน 14 หมู่บ้านและระดับหน จำนวน 4 หมู่บ้าน


ด้าน พระมหาบุญเลิศ กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารกลาง ได้มอบให้ วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี จัดทำระบบฐานข้อมูลรายงานผลการดำเนินงานขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5 โดยจะให้แต่ละหมู่บ้านกว่า 70,000 แห่ง กรอกข้อมูล และกลายเป็นฐานข้อมูลสำหรับการตรวจประเมินและการพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนต่อไป ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนเม.ย.นี้ ส่วนแนวทางการประเมินหมู่บ้านรักษาศีล 5 ในปี 2567 จะเป็นการพลิกโฉมครั้งใหญ่ จากเดิมที่แต่ละจังหวัดเลือกมาเพียง 1 หมู่บ้าน แล้วกรรมการขับเคลื่อนระดับหนลงไปประเมิน แต่ในปีนี้ตามระเบียบมส.ว่าด้วยการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 พ.ศ.2565 คณะกรรมการขับเคลื่อนระดับตำบลจะทำงานร่วมกับทุกหมู่บ้าน ก่อนคัดเลือกส่งมาสู่ระดับอำเภอ จากนั้นระดับจังหวัดจะคัดเลือกเหลือเพียงจังหวัดละ 1 หมู่บ้านเพื่อรับการประเมิน