xs
xsm
sm
md
lg

ภาวะโลกเดือด! วิกฤตท้าทายมนุษย์จัดการระบบของธรรมชาติ / วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ระบบนิเวศในธรรมชาติของโลก กับเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ตอน 1)

มนุษย์เรียนรู้เพิ่มทุกวันว่ากระบวนการธรรมชาติซับซ้อนมาก แต่มนุษย์มักถูกกิเลสพาให้หลงคิดไปว่ามีวิวัฒนาการที่ไม่เพียงไล่ทัน แต่ยังสามารถจัดการกับระบบของธรรมชาติได้


บัดนี้ แม้แต่ผู้นำประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดรวมตัวกัน ก็ยอมรับว่าวิวัฒนาการที่มนุษยชาติได้สั่งสมมาทั้งหมด ไม่พอที่จะรักษาให้พวกเขามั่นใจได้เลยว่า หลานๆของเขาจะมีเผ่าพันธุ์สืบต่อไปได้อีกกี่รุ่น

ผู้นำชาติต่างๆไม่อาจการันตีกับประชากรได้ ว่าหลานๆของประชากรของเขาจะได้มีชีวิตอย่างไม่แร้นแค้น

ที่จริง ผู้นำโลกเดินทางไปพบกันเรื่อง โลกร้อน ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ภาวะเรือนกระจก และสภาวะแวดล้อมต่างๆมาหลายสิบหนแล้ว

ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจนเข้าขั้นวิกฤตนี้ ยากจะมีคำปลอบขวัญที่ยืนยันได้ว่าจะควบคุมได้

ข้อเขียนนี้ ถูกผูกขึ้นด้วยเป้าประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ทำไม การแก้ปัญหาระดับวิกฤตการณ์ต่อมวลมนุษยชาติหนนี้ ต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างยิ่งใหญ่ของคนยุคเราขนาดไหน

เราทุกคนของยุคนี้ ไม่ว่าท่านจะเจนเนอเรชั่นอะไร โอกาสรอดจากการถูกประวัติศาสตร์จารึกว่า เราพากันขับรถพุ่งลงเหว ทั้งที่ยังเลี้ยวหลบหรือเบรคกันได้ทันยากเต็มที

จริงอยู่ ว่าเราไม่ใช่ชนรุ่นแรกที่พารถโดยสารวิ่งมาในเส้นทางนี้ แต่ในโศกนาฏกรรมทุกครั้ง ไม่ค่อยมีใครถามหรอกว่า มันเริ่มตอนใครควบคุมอยู่ แต่จะสนใจว่ามันจบตอนไหน และใครคือผู้ถือพวงมาลัยสุดท้ายก่อนตกเหวดับทั้งคัน

หรือจมลงทั้งลำ!

แม้มีข่าวสารให้เราอ่านได้มากมายในอินเตอร์เน็ตว่า ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง มายังไง แต่ผมก็อยากพยายามสื่อสารกับผู้อ่านสักหน ว่ามันคืออะไร มายังไง และ เราต้องทำอะไร เพื่อชะลอหรือให้ดีกว่านั้น หยุดมันให้ได้




ขอเริ่มจากสภาพของโลกใบนี้ ก่อนที่จะเกิดปัญหาขนาดนี้นะครับ

ภาวะเรือนกระจกของโลก


เราเรียนมาตั้งแต่เด็กว่า โลกมีชั้นบรรยากาศห่อหุ้มอยู่หลายชั้น มองด้วยตาเปล่าก็ไม่เห็น แต่มันทำหน้าที่ของมันตามระบบที่ธรรมชาติจัดสรรมาให้อย่างซับซ้อนในการปกป้องสิ่งมีชีวิตบนโลก

ดวงอาทิตย์ส่งคลื่นความร้อนทะลุทุกชั้นบรรยากาศได้ และพื้นผิวโลกก็สะท้อนความร้อนออกไปบางส่วน กักเก็บความร้อนไว้บางส่วน ซึ่งเกิดจากการดูดซับความร้อนนั้นไว้โดยก๊าซเรือนกระจก ที่มีอยู่หลายชนิด อย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ก๊าซเรือนกระจกจึงทำหน้าที่ควบคุมความอบอุ่นของโลกอยู่ให้ในสภาวะที่สมดุล เกิดสภาพอากาศและฤดูกาลที่เหมาะสมสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต ซึ่งสัดส่วนของก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ในชั้นบรรยากาศที่ผ่านมาในอดีต มีค่อนข้างสม่ำเสมอ ดังนั้น ภาวะเรือนกระจกจึงมีข้อดีของมันมานับล้านปี

แต่บัดนี้ ประชากรมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อการพัฒนาประเทศ ต้องการผลิตไฟฟ้า ต้องการขนส่ง ผลิตขยะและน้ำเสียออกมาในปริมาณมาก อย่างต่อเนื่อง ใช่ครับ เราจึงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกสู่ชั้นบรรยากาศมากจนเกินสมดุล ความร้อนที่ถูกกักเก็บไว้ในชั้นบรรยากาศจึงมากเกินกว่าที่ควร ผลก็จะเหมือนเรานั่งรถปิดกระจกดับแอร์ ต่อแม้จะเป็นกลางคืน เราก็จะรู้สึกอบอ้าว อึดอัด

และความอึดอัดนี้จะมีทั่วห้องโดยสารไม่ว่าจะนั่งอยู่เบาะหน้าหรือหลัง จะเอนตัวลงนอน หรือลุกขึ้นยงโย่ยงหยก ก็จะอึดอัดอบอ้าวอยู่ดี


วันนี้ โลกมีประชากรถึง 8 พันล้านคน ยังไม่นับปศุสัตว์ที่เราขุนเลี้ยงกันไว้บริโภคอีก จนเยอะกว่าสัตว์ป่าทุกชนิดรวมกัน แม้จะนับนกในธรรมชาติหมดทุกตัวด้วยก็ตาม

ภาวะของเรือนกระจกจึงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันรักษาสมดุล ไม่ให้มีก๊าซใดลอยขึ้นไปอยู่มากหรือน้อยจนเกินไป นี่จึงเป็นที่มาของชื่อองค์การมหาชนของไทย ที่เรียกชื่อว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

ภาวะโลกร้อน ช่วงแรกเราสังเกตได้จากการละลายของน้ำแข็งที่ยอดเขาและขั้วโลก ว่ามันละลายหนักกว่าเดิม และละลายนานกว่าฤดูที่มันเคยเป็น

แปลว่าโลกอุ่นขึ้น ศัพท์คำว่า Global warming จึงถูกใช้มาเรื่อย
แต่พอสังเกตนานเข้าก็พบพื้นที่ๆไม่ได้อุ่นขึ้น แต่กลับเย็นหนาวจนหิมะตก ทั้งที่ๆนั่นไม่เคยเจอหิมะมาก่อน

ทีนี้ ผู้คนก็เริ่มเห็นภาพของ สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ Climate Change


แต่น้อยคนจะตระหนักว่า เพดานฟ้าของขั้วโลกนั้น ต่ำกว่าเพดานฟ้าที่เขตอบอุ่น หรือพื้นที่สี่ฤดู

ส่วนเพดานฟ้าที่เขตศูนย์สูตรจะสูงกว่าที่อื่นๆของโลก ดังนั้นในวันที่ขั้วโลกเหนือใต้อุ่นขึ้นแล้ว ถึง 5 องศาเซลเซียส คนในพื้นที่อื่นกลับไม่ค่อยรู้สึกตามไปด้วย

เพราะเพดานฟ้าของเขตตัวยังสูงมาก อะไรๆยังเปลี่ยนแปลงไปน้อยเกินจะเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต

จากนั้น ก็มีภัยจากพายุรุนแรง แห้งแล้งยาวนาน น้ำท่วมหนัก และระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น กัดเซาะชายฝั่งรุนแรงขึ้น การเกษตรเสียหาย กระทบต่อรายได้ประชาชน เกิดโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ

แต่เราเรียกมันว่าภัยธรรมชาติเหมือนเดิม ไม่ทำให้เราเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อสิ่งนี้บ่อยขึ้นแต่อย่างไร

เราแก้ไขด้วยการพยายามพยากรณ์เตือนภัยล่วงหน้าให้ได้แม่นขึ้น จัดทีมกู้ภัยให้เร็วขึ้น

‘’เราถนัดจะแก้ที่ผล ไม่ใช่ที่เหตุ…’’

ภายหลังมีคนลองขยับคำเรียกไปเป็น Climate Crisis หรือ วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ที่จ๊าบหน่อยก็มีคำเรียกเพิ่มขึ้นว่า ภาวะโลกรวน ด้วยซ้ำ แล้วคำนั้นก็จางหายไป

จนกระทั่งกลางปี 2023 เลขาธิการสหประชาชาติประกาศว่า ภาวะโลกร้อนได้ผ่านไปแล้ว บัดนี้เราได้มาพึงยุคภาวะโลกเดือด (Global Boiling) แล้ว

มีข่าวออกสื่อ แต่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงตอบสนองต่อคำนี้ที่ต่างไปจากคำเรียกสภาพการณ์ก่อนหน้านี้แต่อย่างไร

สปีดการแก้ไข ก็ดูจะเดิมๆ

ส่วนมากเป็นการเอ่ยถึงปัญหา แล้วก็ทำแผนจุ๋มๆจิ๋มๆ ซึ่งก็ไม่ได้จริงจังตั้งใจเปลี่ยนแปลงสักเท่าไหร่


ในทางวิทยาศาสตร์ ก๊าซเรือนกระจกมีหลายอย่างมาก แต่ผู้ร้ายที่สำคัญๆที่เราท่านพอจะมีส่วนร่วมในการลดมันลงได้ ได้แก่

อันดับ 1 ไม่ใช่เพราะมันร้ายกาจพิเศษ แต่เพราะสะสมในชั้นบรรยากาศโลกเยอะมากที่สุด คือ "ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์" (จากการเผาไหม้ทุกชนิด) อันนี้เป็นก๊าซที่เราท่านรู้จักค่อนข้างดี

อันดับ 2 คือ "ก๊าซมีเทน" (มีเทนเป็นส่วนประกอบหลักของก๊าซชีวภาพ ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจน ของซากพืช ซากสัตว์ที่ทับถมมาเป็นเวลานาน การปศุสัตว์ ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระดับของก๊าซีเทนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้องเช่น วัว ควาย ที่เป็นสัตว์กินหญ้า เกิดก๊าซมีเทน และปล่อยออกมาด้วยการเรอ ก๊าซมีเทนนี้ มีพลังในการเป็นผู้กักเก็บความร้อนในชั้นบรรยากาศที่ร้ายกาจสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่าตัว มันมีอายุอยู่ในชั้นบรรยากาศได้ราว 12 ปี

และบัดนี้ น้ำแข็งที่ทับบนแผ่นดินแคนาดาและไซบีเรีย รัสเซีย ซึ่งทับซากพืชซากสัตว์มาตั้งแต่หลายแสนหลายล้านปีเริ่มละลายออกมาอย่างน่าตกใจ ได้ปลดปล่อยทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทนจากใต้ดินชั้นน้ำแข็งที่เราเคยรู้จักในนามชั้นดิน Permafrost ขึ้นไปในชั้นบรรยากาศทุกฤดูร้อน

ก๊าซเรือนกระจก 2 รายการข้างต้นจึงเติมขึ้นสู่ท้องฟ้าอีกทาง

และเป็นที่ทราบว่า Permafrost นี้กักเก็บก๊าซทั้งสองนี้ไว้มากเสียยิ่งกว่าที่มีๆอยู่จนเป็นปัญหาในชั้นบรรยากาศอยู่แล้ว

แปลว่า ยิ่งเร่งและยิ่งเพิ่มก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปทำให้โลกร้อนมากขึ้นอีก

ส่วนอันดับ 3 "ก๊าซไนตรัสออกไซด์" ซึ่งมนุษย์มักใช้ในเวลาผ่าตัด เวลาทำฟัน เพื่อให้มีอาการชา จะได้ไม่รู้สึกเจ็บปวดชั่วคราว ไนตรัสออกไซด์นี้เกิดจากภาคเกษตรกรรมถึง 65% เพราะใช้ปุ๋ยไนโตรเจน ส่วนภาคอุตสาหกรรม ก็เป็นผู้ปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ราว 20% จากการผลิตพลาสติกบางกลุ่ม การผลิตเส้นไนลอน การผลิตกรดกำมะถัน การชุบโลหะ การทำวัตถุระเบิด และการผลิตไบโอดีเซล !!

ไนตรัสออกไซด์มีอายุในชั้นบรรยากาศได้ราวร้อยปี ดีที่ว่า ไนตรัสออกไซด์สะสมในชั้นบรรยากาศยังไม่มาก แต่ที่เราพึงต้องระวังเพราะมันสามารถส่งผลต่อภาวะโลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มีปริมาณเดียวกันได้ถึง 265 เท่านี่แหละ

ไนตรัสออกไซด์จึงนับเป็นผู้ร้ายลำดับ 3 ที่เราต้องรู้ไว้ เพราะถ้ามันลอยไปสะสมในชั้นบรรยากาศมาก มันจะพาเราพังได้เร็วกว่าคาร์บอนไดออกไซด์มาก


ทีนี้เหลืออีกตัวการภาวะโลกร้อนจากภาคอุตสาหกรรมแท้ๆ ได้แก่ พวกสาร CFC ซึ่งอยู่ในสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นมายาวนานจนเพิ่งถูกเลิกใช้ไปเมื่อไม่นานมานี้ ตามพิธีสารมอนทรีออล แต่สารประกอบหมวดนี้ของ CFC มีอายุยืนได้นับร้อยปีจนถึงสามพันปี !!

CFC ก่อให้เกิดรูโหว่ในชั้นโอโซนทำให้รังสียูวีของดวงอาทิตย์ทะลุลงมาก่อมะเร็งผิวหนัง

ดังนั้น เท่าที่ปล่อยๆไปก็นับว่าเพียงพอจะไปทำลายความสมดุลมากพอควรแล้ว และมันจะยังคงทำลายต่อไปตราบที่มันยังไม่เสื่อมสลายไปเองตามอายุของมัน

มีคนเคยถามเหมือนกันว่า แล้วทำไมคาร์บอนมอนนอกไซด์ ไม่ติดทอป 5 ของผู้ร้ายในเรื่องภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทั้งที่ยานยนต์ทุกคัน ในเกือบร้อยปีที่ผ่านมาทั่วโลก ต่างก็ปลดปล่อยมาโดยตลอดมิใช่หรือ?

นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า แม้คาร์บอนมอนนอกไซด์จะอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์มากๆ ตอนที่มันออกมาจากท่อไอเสีย แต่พอมันเจอชั้นบรรยากาศในธรรมชาติ ออกซิเจนจะค่อยๆ เข้าไปผสมเอง และผลคือมันจะสลายเองในเวลาไม่กี่เดือน

มันจึงไม่ทันได้แสดงฤทธิ์มากนักต่อภาวะเรือนกระจกอย่างก๊าซอื่นที่มีช่วงชีวิตยาวนานมากๆ ที่ติดท้อป 4 ข้างต้น

บทความโดย 
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา
กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา



กำลังโหลดความคิดเห็น