xs
xsm
sm
md
lg

โลกร้อน! กับทะเลไทย สามผลกระทบที่เห็นได้ด้วยสายตา / ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เกาะกระดาน จ.ตรัง คว้าอันดับ 1 ชายหาดดีที่สุดในโลก เมื่อปีที่ผ่านมา โดย World Beach Guide (เครดิตภาพ :กรมอุทยานฯ)
พ.ศ. 2567 เป็นปีที่ทะเลเดือดกว่าปีไหน ๆ ข้อมูลจาก NOAA* และ NASA ยืนยันว่าปีนี้น้ำร้อนจัดแน่นอน ร้อนกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปีประมาณ 1 องศา และร้อนกว่าปีที่แล้ว (2566) ที่เป็นปีน้ำทะเลร้อนสุดที่บันทึกกันมา ว่าง่าย ๆ คือสถิติกำลังถูกทำลายลงแบบปีต่อปี

น้ำเก็บความร้อนได้ดีกว่าอากาศ น้ำที่ร้อนขึ้นแม้เพียง 0.5-1 องศา สามารถส่งผลกระทบได้มากมหาศาล เช่น ปรากฏการณ์ Global Conveyer Belt กระแสน้ำโลกที่อาจเปลี่ยนแปลงจนถึงขั้นล่มสลาย นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าเริ่มมีสัญญาณเตือนไม่สู้ดี แต่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่? พรุ่งนี้หรืออีก 10-20 ปีข้างหน้า แต่พอบอกได้ว่าหากเกิดโลกจะปั่นป่วนอย่างไม่เคยมีมาก่อน ยุโรปจะหนาวจัดในฉับพลัน ผลกระทบจะมากมายมหาศาลจนประมาณไม่ได้

นั่นคือการคาดคะเน ซึ่งเราเคยได้ยินเรื่องแบบนี้มาเยอะ ถ้าโลกร้อนจัดจะเกิดเหตุร้ายภัยพิบัติแบบต่าง ๆ แต่เรื่องนี้ตั้งใจจะเขียนถึงความจริงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจากผลกระทบโลกร้อนในทะเลไทย สามารถมองเห็นด้วยสายตา ทั้งหมดนี้มี 3 ประเด็นหลัก




ปะการังฟอกขาว เมื่อน้ำร้อนจัด ปะการังจะเกิดอาการผิดปรกติ สีซีดจางลงจนอาจถึงขั้นตาย จากนั้นก็มีสาหร่ายขึ้นคลุมจนยากที่จะฟื้นได้ ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สมัยก่อนเคยเกิดทุก 10-15 ปี แต่เมื่อโลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ความถี่ในการเกิดเริ่มเยอะ จนในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา เกิดถี่ยิบแทบทุกปีในมหาสมุทรต่าง ๆ ของโลก

ในเมืองไทยมีเหตุการณ์เช่นนั้น นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลพบว่าน้ำร้อนในทะเลไทยไม่เท่ากัน โดยเฉพาะในอ่าวไทย น้ำทะเลภาคตะวันออกจะร้อนกว่าพื้นที่อื่น ทำให้เกิดปะการังฟอกขาวอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ติดตามปะการังตลอดแนวชายฝั่งจังหวัดชลบุรีและระยอง พบว่าเกิดปะการังฟอกขาวแทบทุกปี ปะการังในเขตชายฝั่งหรือในเขตน้ำตื้นบางพื้นที่ฟอกขาวจนตายและไม่มีโอกาสฟื้นเพราะน้ำร้อนต่อเนื่อง

สำหรับปีนี้ เริ่มมีรายงานปะการังฟอกขาวจากหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่น Great Barrier Reef ประเทศออสเตรเลีย เกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่หลายครั้ง นักวิทยาศาสตร์รายงานว่าปีนี้น่าเป็นห่วง แนวปะการังยาว 1,100 กิโลเมตรเริ่มฟอกขาว กำลังอยู่ในระหว่างสำรวจติดตามอย่างใกล้ชิด ในขณะที่หลายประเทศในมหาสมุทรอินเดียเริ่มประกาศเตือนภัยในประเด็นนี้

เพราะฉะนั้น หากอยากเห็นผลกระทบโลกร้อน ขอเชิญไปแนวปะการังแถวหมู่เกาะสีชัง พัทยาบางพื้นที่ เรื่อยไปจนถึงแถวระยองที่เกาะมันใน เขตปะการังน้ำตื้นเปลี่ยนไปจากเมื่อ 10 ปีก่อนแบบแทบไม่เชื่อสายตา เคราะห์ดีที่ในเขตน้ำลึกยังอยู่รอดแม้เกิดการฟอกขาวซ้ำซาก ได้แต่หวังว่าปีนี้พวกเธอจะรอดต่อไป




วิกฤตหญ้าทะเล มีรายงานต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 ว่าหญ้าทะเลบางพื้นที่ในจังหวัดตรังเริ่มลดน้อยลง ก่อนจะลุกลามไปทั่วเกือบทุกแห่งในจังหวัดช่วงปี 2566 ต่อเนื่องถึงปีนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลฯ จัดตั้งคณะทำงานเพื่อหาสาเหตุและแก้ไขโดยเร่งด่วน ผลที่ได้จากการสำรวจต่อเนื่องคือแหล่งหญ้าทะเลใหญ่ที่สุดในประเทศ ตั้งแต่จังหวัดตรังจนถึงจังหวัดกระบี่ กำลังทรุดโทรมอย่างหนัก โดยคาดว่าโลกร้อนมีส่วนเกี่ยวข้องหลายประการ เช่น ทำให้ปัจจัยสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ล่าสุด เริ่มมีรายงานเพิ่มมากขึ้นในจังหวัดกระบี่ พังงา และบางส่วนของจังหวัดสตูล

ที่น่าตกใจคือสถานการณ์ไม่ใช่เกิดเฉพาะอันดามัน มีรายงานเหตุการณ์คล้ายกันเกิดในจังหวัดตราด ทำให้แหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรมลง บางพื้นที่หายไปทั้งหมด หรือแม้กระทั่งทีมงานจากคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ เดินทางไปร่วมสำรวจทะเลที่รัฐซาบาห์ เกาะบอร์เนียว ประเทศมาเลเซีย พบสถานการณ์คล้ายคลึงกัน หญ้าทะเลสีซีดเน่าเปื่อยจากปลายใบลงมาหาโคน เกิดลักษณะใบกุด ก่อนสุดท้ายรากจะเน่าและหายไป นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามศึกษาเพื่อหาคำอธิบายกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงแนวทางแก้ไขที่ตอนนี้ยังต้องใช้เวลา


น้ำเขียว แพลงก์ตอนบลูม เป็นอีกข่าวใหญ่ที่บางแสนในช่วงเดือนที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวไปทะเลหวังเล่นน้ำ กลับพบว่าน้ำทะเลกลายเป็นสีเขียวเต็มไปด้วยแพลงก์ตอนพืช เหตุการณ์เช่นนี้เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เมื่อในน้ำมีธาตุอาหารเยอะและมีแสงแดดจัด แพลงก์ตอนอาจเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว กลายเป็นน้ำเขียวที่กินเวลา 2-3 วันก่อนหายไป แพลงก์ตอนไม่มีพิษ ยังคงกินอาหารทะเลได้ แต่จะเล่นน้ำหรือไม่ ? บอกได้ว่าขุ่น มีกลิ่น และอาจคันบ้าง ขึ้นกับว่าอยากลงไปเล่นหรือเปล่า

ปัญหาคือในอดีตปรากฏการณ์แบบนี้เกิดปีละ 2-3 ครั้ง แต่ปัจจุบันเกิดบ่อยขึ้นถี่ยิบ นอกจากนี้ น้ำเขียวจะเกิดในหน้าฝน เพราะน้ำจืดไหลลงทะเลมาก แต่ปัจจุบันกลับเกิดในเดือนกุมภาพันธ์ที่เป็นหน้าแล้ง คำตอบคือพื้นท้องทะเลมีธาตุอาหารที่เราปล่อยลงไป ทั้งจากน้ำทิ้งชุมชน อุตสาหกรรม การเกษตร (ปุ๋ยเคมี) สะสมอยู่มากมาย ขอเพียงแสงแดดมีเยอะ อาจเกิดได้โดยไม่ต้องรอน้ำจืดไหลลงมา ยังรวมถึงอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากโลกร้อน กลายเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำเขียวได้ง่ายขึ้น นักวิทยาศาสตร์ที่ติดตามความเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเลทั่วโลกจากข้อมูลดาวเทียมย้อนหลัง ระบุว่าปัจจุบันการเกิดแพลงก์ตอนบลูมมีบ่อยขึ้นและกินพื้นที่มากขึ้นกว่าในอดีตเมื่อ 30 ปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด

สามปรากฏการณ์ที่เกิดในทะเลไทยล้วนเกี่ยวข้องกับโลกร้อน ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เพียงแค่ความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลลดลง แต่ยังส่งผลตรงสู่พี่น้องประชาชนริมฝั่ง ทั้งการท่องเที่ยว ทั้งการทำมาหากินจับสัตว์น้ำ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้านที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยทะเลจะกลายเป็นผู้เดือดร้อนกลุ่มแรก ที่สำคัญคือปัญหาไม่ได้เกิดชั่วครั้งคราว แต่จะเกิดบ่อยขึ้นรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามสถานการณ์โลกร้อนที่รุมเร้าหนักขึ้น

การแก้ไขปัญหาโลกร้อนคงต้องบอกตามตรงว่าเน้นหนักในด้านการเงินการลงทุน จำกัดอยู่ในกลุ่มบริษัทต่าง ๆ ซึ่งมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง จัดประชุม อบรม หาแนวทางไฟแนนซ์ใหม่ ๆ ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องดี ทว่า...การลดโลกร้อนโดยนำไปผูกกับกติกาด้านการเงินเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบ เพราะกลุ่มที่เดือดร้อนก่อนกลับไม่มีทางออก ไม่มีทางแก้ไข และยังแทบจะปราศจากความรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับทะเลที่เขาเคยทำมาหากิน เคยใช้ชีวิตเคียงคู่อย่างมีสุข ผลดังกล่าวจะทำให้ครอบครัวเปลี่ยนแปลง ชุมชนเปลี่ยนแปลง ทำให้คนไม่สามารถทำอาชีพเดิมได้ ต้องหาทางอพยพย้ายถิ่น ก่อเกิดปัญหาต่างๆ ติดตามมาไม่มีที่สิ้นสุด

ปัญหาดังกล่าวเกิดทั่วโลก และเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ว่าจะมีคนนับร้อยล้านได้รับผลกระทบจนต้องอพยพในเวลา 5-10 ปีข้างหน้า แม้แต่ในเมืองไทยก็เริ่มเห็นปัญหาที่ค่อย ๆ สะสมเพิ่มขึ้นมา เช่น ชาวประมงพื้นบ้านในบางจังหวัดเหลือน้อยลงและที่เหลือส่วนใหญ่คือคนสูงวัย แทบไม่มีคนรุ่นใหม่มาสืบต่อ เพราะมองไปแล้วไม่เห็นอนาคต

จึงนำมาบอกเล่าให้ทราบว่า โลกร้อนไม่ใช่แค่ทำให้ร้อนขึ้น น้ำท่วมมากขึ้น พายุแรงขึ้น ฯลฯ แต่โลกร้อนกำลังจะเปลี่ยนโลก เปลี่ยนระบบนิเวศที่เราคุ้นเคย เปลี่ยนชีวิตริมฝั่งทะเลที่สืบทอดกันมาเนิ่นนาน และการเปลี่ยนแบบนั้นเป็นการเปลี่ยนที่เราสามารถมองเห็นด้วยสายตา

ก็ขึ้นกับว่า เราจะสนใจอยากดูหรือไม่? หรือเราแค่ปล่อยผ่านไปไม่สนใจเพราะไม่ใช่เรื่องของเรา

ทว่า...โลกนี้มีโลกเดียว เรื่องของคนอื่นจะกลายเป็นเรื่องของเราในสักวัน!


บทความโดย ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

หมายเหตุ*
NOAA..เป็นชื่อที่ใช้เรียกดาวเทียมขององค์กร NOAA ของสหรัฐ (ชื่อดาวเทียมคือ Advanced Television Infrared Observation Satellite ย่อเป็น TIROS-N หรือ ATN)

อ้างอิง Carbon Markets Club


กำลังโหลดความคิดเห็น