xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเครดิต ปลื้ม "ตังค์โต Know-how" คว้ารางวัลระดับประเทศ ดีเด่นด้านพัฒนาชนบท-ขจัดความยากจน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน)
ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยของกระทรวงมหาดไทย เพื่อเข้ารับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ผู้นำระดับประเทศด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ประเภทองค์กรธุรกิจเอกชน (Private Sector) จาก "โครงการตังค์โต Know-how" ซึ่งสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นต่อชุมชนและคุณภาพชีวิตของสมาชิกชุมชน ทั้งยังขับเคลื่อนโครงการฯ โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชนและสังคม และปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ดำเนินงานอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นกลไกนำไปสู่ความยั่งยืน โดย นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เข้ารับรางวัลจากนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย

(ที่สองจากซ้าย) นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เข้ารับรางวัลจาก  (ที่สามจากซ้าย)  นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย
นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ธนาคารฯ มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม (Environment) ใส่ใจรับผิดชอบต่อสังคม (Social) และยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล (Governance) อย่างต่อเนื่อง
ทั้งยังมุ่งปลูกจิตสำนึกให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนมีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างจริงจัง
พร้อมสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในโครงการและกิจกรรมเพื่อสังคมมาโดยตลอด เพื่อช่วยเหลือสังคมและผู้ด้อยโอกาส การได้รับคัดเลือกฯ เป็นอีกก้าวหนึ่งของความสำเร็จของธนาคารฯ และสร้างความภาคภูมิใจให้แก่พนักงานทุกคน อีกทั้งยังเป็นกำลังใจและแรงผลักดันให้เรามุ่งมั่นในการทำงาน และสร้างสรรค์โครงการเพื่อสังคมต่อไปในอนาคต”

นายรอยย์ ออกุสตินัส กุนารา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน)
นายรอยย์ ออกุสตินัส กุนารา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) เผยว่า “ธนาคารฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของทักษะทางการเงินจึงได้ริเริ่มโครงการตังค์โต Know-how ในปี 2560 เพื่อให้ความรู้และเสริมสร้างวินัยทางการเงินแก่ประชาชน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต โดยจัดให้มีการฝึกอบรมในระบบห้องเรียนที่สาขาสินเชื่อเพื่อรายย่อย ธนาคารไทยเครดิต 267 สาขา ทั่วประเทศ สอนโดยวิทยากรซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาที่มีความรู้และประสบการณ์ และผ่านการอบรมหลักสูตร “วิทยากรมืออาชีพ” นอกจากนี้ยังจัดให้มีการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้และสร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย”

โครงการตังค์โต Know-how มี 4 หลักสูตร แต่ละหลักสูตรออกแบบพิเศษเพื่อให้เหมาะกับผู้เรียน ได้แก่ 1) หลักสูตรบริหารการเงินเพื่อธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย 2) หลักสูตรบริหารการเงินส่วนบุคคลสำหรับพนักงานบริษัท 3) หลักสูตรตังค์โตเดอะติวเตอร์สำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา และ 4) หลักสูตรบริหารการเงินเพื่อความมั่นคงในอนาคตสำหรับเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา โครงการตังค์โต Know-how ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก มีผู้เข้าร่วมฝึกอบรมกว่า 170,000 คน

“ในปี 2566 ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย มีผู้เข้าร่วมอบรมผ่านช่องทางสาขาสินเชื่อเพื่อรายย่อยของธนาคารฯ และผ่านการอบรมจากวิทยากรส่วนกลางที่ลงพื้นที่อบรมทั่วประเทศ กว่า 58,000 คน อีกทั้งโครงการตังค์โต Know-how ยังได้รับคะแนนการวัดความพึงพอใจและการแนะนำบอกต่อ Net Promoter Score (NPS) อยู่ในระดับ “ดีเยี่ยม” ที่ 81% ซึ่งดีกว่าที่เราคาดไว้ ถือเป็นความภูมิใจอย่างยิ่ง” นายรอยย์ กล่าว


นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังจัดให้มีโครงการฝึกอบรมพิเศษเน้นให้ความรู้ด้านการเงินและด้านวิชาชีพ สำหรับเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย และสมาชิกชุมชนในจังหวัดต่างๆ ผ่านโครงการเพื่อสังคมของมูลนิธิไทยเครดิต เพื่อเสริมสร้างวินัยทางการเงิน เสริมอาชีพ สร้างรายได้ และช่วยลดปัญหาความยากจน

“เพราะสำหรับธนาคารไทยเครดิต “Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ” เราขยายกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการฯ และเพิ่มช่องทางการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้เพื่อศึกษาและพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ”

ในปี 2567 ธนาคารฯ ยังมุ่งมั่นสานต่อภารกิจสร้างทักษะการวางแผนการเงินที่ดีให้แก่ประชาชน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งเป็นฟันเฟืองช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทั้งยังพัฒนาโครงการตังค์โต Know-how อย่างต่อเนื่อง ถอดบทเรียนโครงการฯ เพื่อนำมาปรับปรุงคุณภาพของเนื้อหาหลักสูตรให้ทันสมัยทันต่อเหตุการณ์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิต ประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เราขอสัญญาว่าจะเดินหน้าโครงการและกิจกรรมเพื่อสังคมต่อไป และขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสร้างผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการใส่ใจในสังคม ชุมชน
และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล และยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด เพื่อนำพาไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายรอยย์ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น