วานนี้ (4 มีนาคม 2567) นับเป็นวันครบรอบหนึ่งปีการบรรลุข้อตกลงสนธิสัญญาที่ว่าด้วยการจัดระเบียบการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลในพื้นที่ที่อยู่นอกเขตอำนาจรัฐ (BBNJ) หรือ เรียกสั้นๆว่า สนธิสัญญาทะเลหลวง
หลังบรรลุข้อตกลงดังกล่าวในเดือนมีนาคม 2566 เดือนกันยายนปีเดียวกัน ได้มีการลงชื่ออย่างเป็นทางการโดยตัวแทนรัฐบาล 87 ประเทศทั่วโลก ซึ่งกระบวนการต่อจากนี้ คือรัฐบาลประเทศต่างๆ ให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาฉบับดังกล่าว* โดยสนธิสัญญาฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่ออย่างน้อยประเทศ 60 ประเทศให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญา
แม้การได้มาซึ่งสนธิสัญญาฉบับนี้จะถือเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะกว่าจะได้มาเรียกได้ว่าต้องฝ่าแดดลมฝน ผ่านการเรียกร้องกันยาวนานมากกว่ายี่สิบปี แต่กระบวนการต่อจากนี้ก็ยังเป็นเรื่องท้าทาย เพราะผ่านมาหนึ่งปีแล้ว กลับมีเพียงสองประเทศเท่านั้นที่ให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาทะเลหลวงแล้ว นั่นคือ ชิลีและปาเลา
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย นางสาวณิชนันท์ ตัญธนาวิทย์ หัวหน้าโครงการรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหนึ่งในผู้สังเกตการณ์การเจรจาสนธิสัญญาเมื่อปีที่แล้ว อธิบายว่า
“ปัจจุบันยังไม่ได้มีการลงนามเต็มหรือลงนามจริง ที่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความยินยอมเข้าผูกผันตามสนธิสัญญา ที่จะไปสู่การให้สัตยาบันในขั้นต่อไป"
“แต่ทั้งนี้ เราก็เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลไทยที่จะเร่งผลักดันกระบวนการดังกล่าว เราหวังว่าจะได้เห็นประเทศไทยเป็นชาติแรกๆ ในภูมิภาค ที่เป็นผู้นำในการปกป้องมหาสมุทรของโลก โดยขณะนี้ประเทศในอาเซียนที่ได้ลงนามแล้ว ประกอบด้วย อินโดนีเซีย ฟิลลิปปินส์ เวียดนาม ลาว”
สาเหตุที่เราต้องเร่งให้สนธิสัญญาฉบับนี้มีผลบังคับใช้ เพราะเราต้องการที่จะสร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเลให้ได้ตามเป้าหมาย นั่นคือ 30% ของทะเลทั้งหมด ซึ่งมหาสมุทรโลกในปัจจุบันได้รับการปกป้องไม่ถึง 1% และยังเผชิญกับภัยคุกคาม ทั้งประมงทำลายล้าง มลพิษ อุตสาหกรรมเหมืองทะเลลึก
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature and led by Global Fishing Watch เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาระบุว่า ข้อมูลเรือประมงพาณิชย์ถึง 75% ได้รับการปกปิดจากสาธารณชน
ขณะที่รายงาน: 30×30 จากสนธิสัญญาทะเลหลวงสู่เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล เผยว่าภัยคุกคามที่เกิดในทะเลหลวงกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2565 มีการทำประมงในทะเลหลวงเพิ่มขึ้นถึง 22.5 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยระหว่างนี้เรือประมงพาณิชย์ในทะเลหลวงใช้เวลาจับปลารวมกันทั้งหมด 8,487,894 ชั่วโมง
"สนธิสัญญาทะเลหลวง" จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกป้องระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุดของโลก และประเทศต่างๆต้องเร่งให้สัตยาบัน เพื่อเริ่มกระบวนการปกป้องและฟื้นฟูมหาสมุทรทั่วโลก
ดิฉันขอเชิญชวนร่วมลงชื่อเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาและปกป้องมหาสมุทร
https://act.seasia.greenpeace.org/th/th/protect-the-ocean
#ProtectTheOcean
เครดิตคลิป MIRROR THAILAND
ในคลิป นางสาวณิชนันท์ ตัญธนาวิทย์ เธอคือหัวหน้าโครงการรณรงค์แคมเปญระหว่างประเทศของ Greenpeace Thailand ผู้กำลังผลักดันแคมเปญชื่อว่า ‘Ocean Justice’ รณรงค์เรื่องชุมชนชายฝั่งที่กำลังถูกคุกคามในรูปแบบต่างๆ ทั้งจากภัยพิบัติ และการเข้ามาพัฒนาโครงการที่ไม่เป็นธรรมของกลุ่มทุนหรือหน่วยงานภาครัฐฯ และขณะที่เรื่องสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลก
เธอจึงอยากผลักดันเรื่อง ‘สิทธิทางสิ่งแวดล้อม’ เพราะเราทุกคนควรจะมีสิทธิดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย มีน้ำที่สะอาด มีอากาศที่บริสุทธิ์ ชุมชนได้รับการปกป้อง เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องพื้นฐานที่ภาครัฐหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องการันตีสิ่งเหล่านี้ให้กับประชาชน