เปิดวิสัยทัศน์ ‘ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์’ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี คนใหม่ เผยทิศทางการดำเนินงาน ชูพันธกิจหลัก 3 ด้าน “การสร้างบุคลากรการแพทย์-การวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการรักษาโรคซับซ้อน – การรักษาและสร้างเสริมสุขภาพ” พร้อม 4 เป้าหมายสำคัญ “มุ่งสู่มาตรฐานสากล – ผลักดันการบูรณาการความร่วมมือ-ส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรม-คำนึงถึงความยั่งยืน” เดินหน้าผลักดันระบบสาธารณสุขไทยให้เท่าทันการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล
ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีว่า มีพันธกิจ 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.ด้านการสร้างบุคลากรการแพทย์ คณะแพทย์ฯ ให้ความสำคัญกับบทบาทแห่งการเป็นโรงเรียนแพทย์เพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสู่ระบบสาธารณสุขไทย และเพื่อที่จะพัฒนาวงการแพทย์ไทยให้ก้าวเท่าทันสภาวการณ์การที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยปัจจุบันมีหลักสูตรการเรียนการสอบผลิตบุคลากรการแพทย์หลากหลายสาขา ดังนี้
1.1 แพทย์ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก แพทย์ที่เรียนที่รามาธิบดี จำนวน 150-200 คนต่อปี มี 3 กลุ่ม ได้แก่ หลักสูตรที่หนึ่ง “แพทย์” หลักสูตรปกติ 6 ปี หลักสูตรที่สอง “แพทย์นวัตกร” หลักสูตรเรียนแพทย์ 6 ปี วิศวกร 1 ปี ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์เพื่อผลิต “แพทย์นวัตกร” ซึ่งเป็นแพทย์ที่มี 2 ปริญญา ได้แก่ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในด้านการผลิตนวัตกรรมและเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ และหลักสูตรที่สาม “แพทย์นักบริหาร” หลักสูตรเรียนแพทย์ 6 ปี บริหาร 1 ปี ร่วมมือกับวิทยาลัยการจัดการ เพื่อผลิต “แพทย์นักบริหาร” เพื่อส่งเสริมให้แพทย์มีทักษะและความพร้อมในการบริหารจัดการโรงพยาบาล และองค์กรด้านสาธารณสุขตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศ และกลุ่มที่สองแพทย์ที่เรียนที่โรงพยาบาลมหาราช โคราช จำนวน 40 – 50 คน
1.2 พยาบาล ผลิตพยาบาลได้จำนวน 300 คนต่อปี มีหลักสูตรพยาบาลนานาชาติ รับนักศึกษาพยาบาลจากจีนเข้ามาศึกษาที่โรงเรียนพยาบาล 1.3 นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ นอกจากหลักสูตรปกติ ยังร่วมมือกับภาควิชาฉุกเฉินการแพทย์และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อผลิต “นักฉุกเฉินการแพทย์” ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา หรือ “Sport Paramedic” ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ยังขาดแคลนในประเทศไทย 1.4หลักสูตรการสื่อความหมายและแก้ไขการพูด ช่วยผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร ที่อาจมาจาการไม่ได้ยิน หรือมีปัญหาสืบเนื่องมาจากการเจ็บป่วยโรคอื่น ๆ ทั้งกลุ่มที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรือกลุ่มที่เป็นในช่วงอายุต่าง ๆ มีนักศึกษาเฉลี่ยปีละ 40 คน และ1.5สถาบันราชสุดา เน้นให้การศึกษากับผู้พิการด้านการได้ยิน ด้านการพูด แบ่งสัดส่วนนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและการพูด 50% และนักศึกษาทั่วไป 50% เพื่อให้ใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมได้
2. ด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการรักษาโรคซับซ้อน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมและการวิจัยทางการแพทย์ เพื่อคิดค้นแนวทางการรักษารูปแบบใหม่สู่การเป็นต้นแบบของการรักษาโดยเฉพาะการรักษาโรคที่มีความซับซ้อน รวมถึงโรคหายาก เช่น โรคผิวหนังแข็ง, ภาวะลำไส้ไม่มีโพรงประสาท, โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Systemic Lupus Erythematosus: SLE) เป็นต้น โดยมีตัวอย่างของงานวิจัยดังนี้
2.1 งานวิจัยพื้นฐานอย่างการหาตัวยาใหม่ (Drug Discovery Program) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีจะมองหาตัวยาที่มีศักยภาพในการรักษาโรคที่อยู่ในสมุนไพรไทย เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มการเข้าถึงตัวยาได้มากยิ่งขึ้น เช่น กระชาย โดยมีการร่วมมือกับหลายหน่วยงานในการทำวิจัยสมุนไพรไทยเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพยาให้ได้ผลดีขึ้น
2.2 งานวิจัยด้านสเต็มเซลล์ (Stem Cell) สำหรับการรักษาโรค เช่น โรคเลือด โรคโลหิตจาง โรคมะเร็ง โดยใช้สเต็มเซลล์ในการทำให้กระดูกที่หักประสานกันได้ เพื่อยกระดับการรักษาพยาบาลในอนาคต
2.3 งานวิจัยเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคซับซ้อน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมีอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเชิงลึก มีเครื่องมือพร้อมรักษาโรคซับซ้อน ปัจจุบันโรคมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น เนื่องจากระบบสาธารณสุขไทยโดยรวมดีขึ้น โรงพยาบาลศูนย์สามารถรองรับโรคซับซ้อนได้ และคนมีอายุยืนยาวขึ้น นวัตกรรมการรักษามีความแม่นยำ ช่วยลดผลแทรกซ้อน ลดความเจ็บปวด และยืดชีวิตของผู้ป่วยได้ยาวนานยิ่งขึ้น
3. ด้านการรักษาและสร้างเสริมสุขภาพ หัวใจสำคัญของการรักษาพยาบาลที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีคือการให้บริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพด้วยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ พร้อมทั้งเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีความเพียบพร้อม โดยมีช่องทาง Rama Channel เป็นหนึ่งในช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อกระจายข้อมูลและสร้างการรับรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้องสู่ประชาชนไทย
ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ กล่าวถึงเป้าหมายสำคัญ 4 ประการของคณะแพทย์ฯ ในปี 2567ว่า ประกอบไปด้วย เป้าหมายแรก International Quality (มุ่งสู่มาตรฐานสากล) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มุ่งสู่ความเป็นมาตรฐานสากลเพื่อเป็นสถาบันที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับ และรู้จักในระดับสากล
เป้าหมายที่สอง Integrated and Collaborative Approach (ผลักดันการบูรณาการความร่วมมือ) บูรณาการสหสาขาวิชาชีพของทุกภาควิชา โดยสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนภายในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รวมถึงการผนึกกำลังกับเครือข่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพภายนอกคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อสร้างมาตรฐานทางการแพทย์ให้พร้อมรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของโรคในปัจจุบัน และในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาโรคที่ซับซ้อนเป็นต้นแบบของการรักษา
เป้าหมายที่สาม Innovative Missions (ส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรม) นำนวัตกรรมมาใช้ในการให้บริการทางการแพทย์ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อการผลิตนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์แก่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รวมถึงในเชิงพาณิชย์ โดยผลักดันให้มีการร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์ที่ก้าวเท่าทันการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ปัญหาทางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย
เป้าหมายที่สี่ Management for Sustainability (คำนึงถึงความยั่งยืน) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จะดำเนินงานโดยมีความยั่งยืนด้านการเงินควบคู่ไปกับการคำนึงถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม
”สำหรับแนวทางการผลักดันระบบสาธารณสุขไทยให้เท่าทันสภาวการณ์แห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ได้เตรียมความพร้อมให้บุคลากรทางการแพทย์มีศักยภาพในการรองรับการปฏิบัติงานควบคู่กับเครื่องมือเทคโนโลยีการแพทย์ล้ำสมัย คณะฯ ตระหนักถึงการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ จึงมุ่งส่งเสริมองค์ความรู้ในการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ ผ่านการเรียนการสอนที่ใช้เครื่องมือทางการแพทย์ล้ำสมัย ให้รับรู้ถึงข้อดีและข้อจำกัดของเทคโนโลยี เพื่อเตรียมความพร้อมให้เหล่าบุคลากรทางการแพทย์มีองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างผลลัพธ์ทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด” ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ กล่าวในตอนท้าย