xs
xsm
sm
md
lg

ไทยพัฒน์ ฟันธง! ทิศทางความยั่งยืน ปี 67 มอง ESG เป็น License to Earn ระยะยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันไทยพัฒน์ คาดการณ์ทิศทางความยั่งยืนของภาคธุรกิจไทย ปี 67 ตอกย้ำเรื่อง ESG (Environmental, Social and Governance) ที่กลายเป็นเงื่อนไขทางธุรกิจสู่อนาคต เสมือนเป็น License to Earn หรือใบอนุญาตรับผลตอบแทนของธุรกิจที่จำเป็นต้องมีในระยะยาว

กระแสเรื่อง ESG ที่แต่เดิม ถูกขับเคลื่อนอยู่ภายในแวดวงตลาดทุน โดยเป็นเครื่องมือที่ผู้ลงทุนสถาบันใช้ผลักดันให้บริษัทที่ตนเข้าไปลงทุนมีการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม เอาจริงเอาจังกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มานับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 ได้ถูกหยิบมาใช้อย่างแพร่หลาย จนปัจจุบันได้กลายเป็นคำสามัญที่นำมาใช้สื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง นอกเหนือจากที่ใช้สื่อสารกับกลุ่มผู้ลงทุนแรกเริ่ม

จากมุมมองเดิมต่อเรื่อง ESG ที่กิจการส่วนใหญ่ เห็นว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้จัดการความเสี่ยง มาสู่การใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจสำหรับรองรับโอกาสที่เกิดขึ้นจากปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยที่หลายกิจการเริ่มเห็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ทั้งการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และความสามารถในการทำกำไร (Profitability) จากการใช้ประโยชน์ในประเด็นด้าน ESG ที่สอดคล้องกับบริบทของกิจการ


ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กล่าวในงานแถลงทิศทางความยั่งยืน ปี 2567 ที่จัดขึ้นเมื่อวานนี้ (27 กุมภาพันธ์ 2567) ว่า “ทิศทาง ESG ในปีนี้ จะเป็นการเดินหน้าดำเนินงานในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล สำหรับกิจการที่เห็นประโยชน์เป็นรูปธรรม ซึ่งเมื่อเห็นผลลัพธ์ที่ดี ก็จะมีความเชื่อมั่น และผลักดันการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นผลกระทบที่ดีทั้งกับกิจการและผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุนที่ให้น้ำหนักกับการลงทุนที่ยั่งยืน ในลักษณะ “Who cares earns” (ยิ่งใส่ใจ ยิ่งได้รับ)”
โดยกิจการที่คำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ย่อมสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในหลายระดับ คือ ในระดับแรก สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม ‘ได้รับ’ ประโยชน์จากการที่ธุรกิจใส่ใจดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นหรือที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการประกอบการ ในระดับต่อมา กิจการจะมีโอกาส ‘ได้รับ’ รายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้น จากการใช้ประเด็น ESG สร้างการเติบโตและเพิ่มผลิตภาพ และในระดับท้ายสุด ผู้ลงทุนควรจะ ‘ได้รับ’ ผลตอบแทนทั้งกำไรจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ (Capital Gain) และเงินปันผลที่สูงขึ้นจากการลงทุนในกิจการที่ ‘ใส่ใจ’ เรื่อง ESG
ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ประมวล 3 กลยุทธ์ ESG เพื่อให้กิจการใช้เป็นแนวทางการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วย Chance: หาโอกาสในมิติเศรษฐกิจ Choice: สร้างทางเลือกในมิติสังคม Change: เปลี่ยนแปลงในมิติสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการประเมินทิศทางความยั่งยืน ปี 2567 ใน 6 ทิศทางสำคัญ ได้แก่ 1) ESG -> License to Earn 2) One Report -> Double Materiality 3) Net Zero -> Scope 3 Emissions 4) Weaker Governance -> Greener Washing 5) Real Bottom Line -> Nature Profit 6) Sustainability Disclosure -> External Assurance สำหรับองค์กรที่ต้องการใช้ประเด็นด้าน ESG ในการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในระดับต่าง ๆ ได้แนวทางที่สามารถนำไปปรับใช้ตามบริบทของกิจการ เพื่อให้ทันกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิผล




ในงานแถลงทิศทางความยั่งยืนปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ยังได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง ESG Premium: Care to Earn แนะนำเครื่องมือวัดมูลค่าความยั่งยืนของกิจการ ที่ใช้การวิเคราะห์เชิงปริมาณเสริมการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ เพื่อเพิ่มมิติข้อมูลแก่ผู้ลงทุนที่ใช้ปัจจัยด้าน ESG สำหรับประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิม

นายวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า “เครื่องมือ ESG Premium จะใช้ข้อมูล ESG Score ที่ได้จากการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ มาดำเนินการทางคณิตศาสตร์กับข้อมูล ESG Portion ที่ได้จากการวิเคราะห์เชิงปริมาณ เพื่อหาส่วนล้ำทางมูลค่า (Premium) ในผลตอบแทนจากการลงทุนของแต่ละหลักทรัพย์ ซึ่งนอกจากการใช้เป็นข้อมูลนำเข้าในกระบวนการวิเคราะห์ตัดสินใจลงทุนแล้ว ยังใช้เป็นตัวช่วยในการติดตามตรวจสอบการลงทุน เพื่อให้มั่นใจว่าการลงทุนของกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืนสอดคล้องกับหลักการด้านความยั่งยืนตามที่สากลยอมรับ รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่ให้ภาพเชิงลึกกว่าการอ้างอิงดัชนีชี้วัดที่มีองค์ประกอบเป็นหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน”

ด้าน นายฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์ กรรมการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวเสริมว่า “การประเมินมูลค่าความยั่งยืนของกิจการด้วยเครื่องมือ ESG Premium มีส่วนสำคัญในการช่วยให้กิจการเข้าใจและทราบถึงช่องว่าง (Gap) เพื่อยกระดับการดำเนินงานด้าน ESG ขององค์กร ที่สะท้อนมูลค่าความยั่งยืนของกิจการผ่านสมรรถนะการดำเนินงาน (ESG Performance) สู่ส่วนล้ำทางมูลค่า (ESG Premium) ในผลตอบแทนจากการลงทุนของกิจการ”

ทั้งนี้บริษัทจดทะเบียนที่ต้องการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ ESG Premium สถาบันไทยพัฒน์ ได้เปิดรับองค์กรนำร่อง (Pilot Organizations) ที่ต้องการยกระดับสมรรถนะการดำเนินงานด้าน ESG ของกิจการ สู่การสร้างส่วนล้ำทางมูลค่าจากปัจจัย ESG โดยองค์กรที่สนใจสามารถแสดงความจำนงเข้าร่วมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


กำลังโหลดความคิดเห็น