เกษตรกรชาวไร่ยาสูบ รุ่นที่ 3 วอนรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาโครงสร้างอุตสาหกรรมยาสูบก่อนสูญพันธุ์ ระบุเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในวิถีชีวิตเกษตรกรภาคเหนือและภาคอีสานกว่า 50,000 ครอบครัว แนะศึกษาต่อยอดรักษาวิถีชีวิตเกษตรกรจากรุ่นสู่รุ่น
อุตสาหกรรมยาสูบที่เคยสร้างรายได้หลักให้ประเทศไทย และเกษตรกรมานานหลายทศวรรษกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมยาสูบทั้งระบบ รวมทั้งวิถีชีวิตของเกษตรกรชาวไร่ยาสูบกว่า 50,000 ครอบครัว ที่เคยมีรายได้อย่างมั่นคง อาจต้องเลิกกิจการและทำให้องค์ความรู้ในการปลูกยาสูบที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นต้องสูญหายไป
นายสุพจน์ เดชอูป เกษตรกรชาวไร่ยาสูบ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ได้เข้ามารับช่วงกิจการปลูกยาสูบจากครอบครัวเมื่อช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยาสูบในประเทศไทย หลังรัฐเพิ่มการจัดเก็บภาษียาสูบ ทำให้การยาสูบแห่งประเทศไทยต้องลดโควตาการผลิตลง เกษตรกรชาวไร่ยาสูบโดนลดโควตาการปลูกลงเหลือประมาณ 50% ทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งเลิกการปลูกยาสูบ แต่ตนเห็นว่าการปลูกยาสูบเป็นวิถีชีวิตของครอบครัวที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมา 3 เจนเนอเรชั่น รวมถึงมีลูกไร่ที่ต้องดูแลอีกกว่า 30 ครอบครัว จึงเดินหน้าทำต่อแม้ต้นทุนและปัจจัยการผลิตจะมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ยาสูบ ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัวและเกษตรกรชาวไร่มานานหลายรุ่น หลังเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรม ลดโควตาการผลิตลงทำให้เกษตรกรหลายครัวเรือนเลิกปลูกต่อ เพราะทำแล้วไม่คุ้ม ขณะที่ปัจจัยการผลิตทั้งต้นทุนค่าปุ๋ย ค่าไฟฟ้า และค่าแรง ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเท่าตัว แต่ราคารับซื้อผลผลิตไม่ได้ปรับขึ้นมาเป็น 10 ปีแล้ว”
ครอบครัวนายสุพจน์ เป็นเกษตรกรที่ปลูกยาสูบมา 3 รุ่น มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 150 ไร่ หลังการลดโควตาจึงเข้าไปพูดคุยกับเกษตรกรรายย่อยเพื่อให้ปลูกต่ออีกประมาณ 30 ครัวเรือน เพื่อให้มีผลผลิตคุ้มกับต้นทุน ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกิดปัญหาต่างๆ ที่กระทบกับเศรษฐกิจ ทั้งจากการแพร่ระบาดโควิด และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ขณะที่ราคารับซื้อยาสูบเท่าเดิม ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบ แม้ภาครัฐจะมีการช่วยปัจจัยการผลิตในแต่ละปี แต่ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่ตรงจุดในระยะยาว
นายสุพจน์ กล่าวว่า ปัจจุบันโครงสร้างอุตสาหกรรมยาสูบในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับชุมชนและในประเทศ การเก็บภาษีที่สูงจากการใช้ 2 อัตรา มีผลให้บุหรี่ถูกกฎหมายแพงขึ้นเกือบเท่าตัว คนจึงหันไปหาซื้อบุหรี่เถื่อน ซึ่งมีราคาถูกกว่าและหาได้ง่ายในท้องถิ่นหรือสูบยาเส้นแทน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายที่จำหน่ายในตลาดทั่วไป ทำให้อุตสาหกรรมและผู้ปลูกยาสูบได้รับผลกระทบอย่างมาก ในปัจจุบันเราก็ทำได้แค่ประคับประคองวิถีชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบให้คงอยู่ต่อไป
“ยิ่งทางภาครัฐจะมีการจำกัดการใช้ส่วนผสมที่จำเป็นต่อการผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบเพิ่มเติมอีก คาดว่าเราน่าจะได้รับผลกระทบหนักกว่าเดิมอีกหลายเท่า วอนภาครัฐแก้ไขปัญหาตรงจุดเพื่อช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบในระยะยาว” นายสุพจน์กล่าวเพิ่มเติม
ขณะที่ นายบัลลังก์ อุบลศรี เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ จาก จ.เชียงราย กล่าวเช่นเดียวกันว่า ได้ลาออกจากงานประจำเพื่อมาสานต่อการปลูกยาสูบจากคุณพ่อที่ทำต่อไม่ไหว ซึ่งการปลูกยาสูบถือเป็นอาชีพที่มั่นคงที่สร้างรายได้ให้ครอบครัวและชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง เพียงเกษตรกรมีโควตาการปลูกจากโรงงานยาสูบ ธนาคารก็ให้สินเชื่อเพื่อการผลิตได้ทันที ไม่ต้องเอาที่ดินไปค้ำประกันการกู้เงิน เพราะยาสูบเป็นพืชที่มีการรับประกันการซื้อ มีตลาดที่แน่นอนไม่เหมือนพืชชนิดอื่น
อย่างไรก็ตาม หลังการปรับลดโควตาการผลิต ทำให้ชาวไร่ลำบากมากขึ้น ด้วยต้นทุนปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งค่าปุ๋ย ค่าแรง ขณะที่ขายได้น้อยลงและได้ในราคาเท่าเดิม ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอที่จะดูแลลูกไร่และคนงาน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพนี้มานานจากรุ่นสู่รุ่น จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแล แก้ปัญหาต้นทุนการผลิต ทั้งในเรื่องค่าไฟ ค่าแรง ช่วยลดภาษียาสูบจากอัตราที่สูง ตลอดจนบุหรี่เถื่อนนอกระบบ รวมถึงแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างให้อุตสาหกรรมยาสูบในประเทศไทยกลับมาเติบโต ถ้าไม่มีการแก้ปัญหา ชาวไร่ยาสูบอาจต้องเลิกอาชีพและสูญเสียวิถีชิวิตตรงนี้ไป
“การปลูกยาสูบ เป็นองค์ความรู้ที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ที่ต้องใช้ความละเอียดในการดูแลตั้งแต่การเพาะกล้า หว่านกล้า จนถึงการเก็บผลผลิตให้ได้คุณภาพ และมีมาตรฐาน การจะให้ไปปลูกพืชอย่างอื่นทดแทน ก็ไม่สามารถทำได้ง่ายและยังไม่การันตีว่าพืชทดแทนจะทำให้มีรายได้ที่เพียงพอสำหรับครอบครัวและยกระดับชุมชนได้ จึงอยากให้ภาครัฐมองทั้งระบบ ทุกวันนี้บุหรี่เถื่อน บุหรี่ไฟฟ้าที่ทะลักเข้ามา หากรัฐไปควบคุมจัดเก็บภาษีให้ถูกต้อง และนำเงินนั้นมาจัดตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการสำหรับเกษตกรผู้ปลูกยาสูบ จะทำให้พวกเราอยู่ได้ และสามารถประกอบอาชีพได้ต่อไป” นายบัลลังก์ กล่าวเพิ่มเติม
นายกิตติทัศน์ ผาทอง ตัวแทนภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบ แสดงความเห็นว่า หากมีการจัดการที่ถูกต้องอุตสาหกรรมยาสูบของไทยยังมีศักยภาพ การปลูกใบยาสูบสามารถกลับมาเป็นอาชีพที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับครอบครัวของเกษตกรชาวไร่ยาสูบอย่างยั่งยืน รวมถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นในพื้นที่ที่ห่างไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ทั้งนี้ หากปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องราคารับซื้อใบยาสูบที่ไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้น ตลอดจนการแก้ปัญหาโครงสร้างภาษีเพื่อลดปัญหาบุหรี่เถื่อนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชาวไร่ยาสูบที่ยังต้องพึ่งพาโควตา รวมถึงทำให้รัฐขาดรายได้ที่ควรได้รับจากบุหรี่เถื่อนหนีภาษีและจากการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสภาพตลาด
“อยากให้รัฐช่วยแก้ปัญหาที่ชาวไร่ยาสูบกำลังเผชิญ ในขณะเดียวกันการวางกฏเกณฑ์ของการควบคุมการผลิตและการบริโภคเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างชัดเจน ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ต่างมีการส่งเสริมการปลูกไร่ยาสูบซึ่งจัดเป็นพืชเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศ อย่างฟิลิปปินส์มีการส่งเสริมการทำอุตสหากรรมยาสูบอย่างเป็นระบบ มูลค่าส่งออกใบยาสูบของเขาเติบโตกว่า 50% ในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐเองก็สามารถสร้างรายได้จากภาษีจากธุรกิจยาสูบกว่า 9 หมื่นล้านบาท หรืออย่างอินโดนีเซียมีรายได้หลักจากการเก็บภาษีสรรพสามิตจากอุตสหกรรมยาสูบถึง 90%”
“ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว ผมมองว่าการแก้ปัญหาที่ตรงจุดจะช่วยต่ออายุให้เราทำอาชีพได้ต่อ เป็นการช่วยให้ชุมชนมีงานทำต่อช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวได้ และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีมากกว่านำงบประมาณไปทำอย่างอื่นหรือการให้ยกเลิกการปลูกหรือปลูกพืชอื่นทดแทนไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาใดๆ”