xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายเป็นหูเป็นตาฯ ลุยแคมเปญ “ระวังหมดอายุ” ต่อเนื่อง พัฒนา "ถนนสาทร" เป็น “ต้นแบบถนนปลอดอุบัติเหตุ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ขับเคลื่อนเข้มข้น!! เครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม จับมือภาคีเครือข่ายต่างๆ เดินหน้าแคมเปญ “ระวังหมดอายุ STAY SAFE” ต่อเนื่อง มุ่งสร้างวัฒนธรรมถนนปลอดภัย เน้นสื่อสารเชิงรุก จัดเต็มเครื่องมือและกิจกรรมกระตุกต่อมเตือน ทั้งเดินรณรงค์ เปิดเพลงฮิตติดหู และแมสคอตสร้างการจดจำ เน้น 4 ระวัง!! พร้อมจัดประกวดคลิปสั้นสร้างสรรค์โดยเยาวชน เพื่อให้เกิดจุดเปลี่ยนที่ยั่งยืน ตั้งเป้า "ถนนสาทร" เป็น "ต้นแบบถนนปลอดอุบัติเหตุ" หวังสร้างแรงกระเพื่อมทั่วประเทศ ย้ำทุกคนสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ โดยเริ่มจากตัวเรา

เนื่องจากอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดขึ้นทุกวัน ตามสถิติจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก หรือมากถึงปีละประมาณ 2 หมื่นคน สร้างผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจมากมาย จึงเกิดการก่อตั้ง “เครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม” เพื่อมุ่งสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน โดยมีการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. กรุงเทพมหานคร เขตสาทร เขตบางรัก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โรงเรียนในเขตสาทร วินมอเตอร์ไซต์ และภาคเอกชน จัดแคมเปญ “ระวังหมดอายุ STAY SAFE” โดยมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีเครื่องมือต่างๆ เช่น มาสค๊อต “ผึ้งน้อยเป็นหูเป็นตา” และเพลงฮิตติดหู “ระวังหมดอายุ” ที่ใช้ขับเคลื่อนกิจกรรมต่อเนื่องมาอย่างเข้มข้น


ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางสังคมประเทศไทย และประธานเครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม กล่าวว่า การขับเคลื่อนเชิงรุกเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เริ่มแรกจากเป้าหมายเพื่อให้ถนนสาทรเป็นต้นแบบถนนปลอดอุบัติเหตุ มีการสื่อสารเชิงรุกในพื้นที่ถนนสาทร ซึ่งเชื่อมต่อพื้นที่เขตสาทรและบางรัก ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 โดยจัด Mini Exhibition ที่สกายวอล์คช่องนนทรี ได้รับความสนใจจากคนที่ใช้ถนนสาทรและเยาวชนพอสมควร จากการเชิญชวนทุกคนมาร่วมแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วม

จากนั้น เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมรณรงค์ระดับประเทศ เช่น วันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 ได้ร่วมกับเครือข่ายความปลอดภัยของประเทศ มูลนิธิเมาไม่ขับ เดินรณรงค์ เนื่องในวันรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางท้องถนน และวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ในการสัมมนาเครือข่ายสมาชิกรัฐสภาเพื่อความปลอดภัยทางถนน มีการจัดนิทรรศการระวังหมดอายุ เพื่อสร้างการรับรู้ให้ทุกคนตระหนักและมีส่วนร่วมในแคมเปญ รวมทั้ง เล่าให้ภาคส่วนต่างๆ ได้รู้ถึงการขับเคลื่อนเครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม รวมถึงเห็นความสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน และร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนน


สำหรับปี 2567 เริ่มตั้งแต่ต้นปี มีการจัดทำกิจกรรมรณรงค์ร่วมกับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยมีโรงเรียนในเขตสาทรและบางรัก จำนวนทั้งสิ้น 7 โรงเรียนเป็นเป้าหมาย เริ่มจากโรงเรียนวัดยานนาวา ในวันที่ 7 มกราคม 2567 เข้าไปเชิญชวนให้นักเรียนร่วมรณรงค์สร้างจิตสำนึกความปลอดภัยทางถนน พร้อมจัดประกวดคลิปสั้นรณรงค์ให้ทุกคนใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย มีนักเรียนสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก และประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ จะได้เห็นผลงานนักเรียน โดยเชื่อว่าจุดเปลี่ยนอย่างยั่งยืนจะเริ่มจากเยาวชน การมีส่วนร่วมทั้งโรงเรียน โดยเฉพาะการใส่หมวกกันน็อก เมื่อสื่อสารให้พ่อแม่ผู้ปกครองใส่หมวกกันน็อกและมีคุณครูคอยสะกิดเตือนด้วยความห่วงใย ทำให้มีผู้ใส่หมวกกันน็อกเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 50 -70% จาก 20 กว่า%

นอกจากนี้ ตั้งแต่ 23 มกราคม 2567 การสื่อสารเชิงรุกยังต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจากกทม.ติดป้ายประชาสัมพันธ์ สื่อสารสร้างการรับรู้แคมเปญ “ระวังหมดอายุ” บนพื้นที่ถนนสาทรตามแยกต่างๆ รวมถึงศาลาที่พักผู้โดยสารและเสาตอม่อรถไฟฟ้า เพื่อเชิญชวนให้ทุกคนร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย ด้วยการสะกิดเตือนคนที่เรารักและรักเรา ด้วยความรักความห่วงใยให้กลับบ้านอย่างปลอดภัย โดยมี 4 ระวัง คือ ระวังทางข้าม ระวังทางแยก ระวังความเร็ว และระวังน๊อก


และในวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ 2567 มีหมุดหมายที่จะรณรงค์ร่วมกับโรงเรียนวัดยานนาวาจัดกิจกรรมเดินรณรงค์ ขอบคุณผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะผู้ขับขี่ที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเยาวชน อนาคตของประเทศ ด้วยการชะลอความเร็วและหยุดรถให้เด็กได้ข้ามถนน เป็นการมาโรงเรียนและกลับบ้านอย่างปลอดภัย ซึ่งพฤติกรรมดีๆ แบบนี้ อยากจะส่งเสริมให้มีทุกพื้นที่ทั่วประเทศและทุกถนนที่มีทางม้าลาย ไม่เฉพาะหน้าโรงเรียน

“จากเป้าหมายพัฒนาให้ถนนสาทรเป็นต้นแบบถนนปลอดอุบัติเหตุ เพราะเป็นถนนที่มีความสำคัญ ตั้งอยู่ใจกลางของ กทม. มีการเดินทางสัญจรและมีความหนาแน่นของประชากรค่อนข้างมาก จึงมุ่งหวังให้พื้นที่ถนนสาทรกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ทั้งผู้ใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ไรเดอร์ รถโดยสารสาธารณะ ตลอดจนผู้ใช้ทางเดินเท้า หากสามารถร่วมกันทำให้ปลอดอุบัติเหตุได้ ก็จะส่งแรงกระเพื่อมขยายผลพื้นที่ไปยังถนนเส้นอื่นและเขตอื่นๆ ใน กทม. และขยายผลต่อในหัวเมืองสำคัญทั่วประเทศต่อไป”

“เพราะอุบัติเหตุส่งผลกระทบมากมาย ทั้งจิตใจคนที่อยู่รอบข้าง ทุกคนที่สูญเสียญาติพี่น้อง บุตรหลาน แม้เวลาผ่านไปขนาดไหน ตอนนี้ยังทำใจไม่ได้ คนจำนวนมากได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ขาดหัวหน้าครอบครัวไปตลอดกาล ขาดกำลังหลักของครอบครัวอย่างไม่มีวันกลับ หลายคนเป็นคนเก่งหนึ่งเดียวขององค์กร อีกทั้งบุคลากรการแพทย์หากมีชีวิตอยู่จะช่วยผู้คนได้มากมาย จำนวนมากกำลังมีอนาคต แต่ต้องดับฝันไป จำนวนนับแสนที่พิการ เด็กจำนวนมากต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุนั้นรุนแรงมหาศาล แต่เราทุกคนสามารถช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เริ่มจากตัวเรา สะกิดเตือนตนเอง เตือนคนที่เรารัก เตือนคนที่รักเรา เพื่อส่งพวกเขาให้กลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย ชวนกันมาร่วมมือ ไปเพิ่มเพื่อนเป็นเครือข่ายกับเราได้ที่ Face Book เป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม” ดร.อุดม กล่าวทิ้งท้าย