บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ประกาศเป็น one – stop service งานก่อสร้างอาคารภาครัฐ ชูจุดขายเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบอาคารนวัตกรรมอาคารเขียว พร้อมยกระดับศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ เป็นเมืองอัจฉริยะ “ต้นแบบเมืองสีเขียวคาร์บอนต่ำ” ทันสมัยและยั่งยืน
ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) หรือ DAD Asset เปิดเผยว่า อาคารธนพิพัฒน์ ซึ่งเป็นที่ทำการของบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ผู้บริหารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ตั้งอยู่ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ได้รับการออกแบบที่ได้มาตรฐานอาคารยั่งยืน Deutsche Gesellschaftfür nachhaltiges Bauen หรือ DGNB ระดับสูงสุด Platinum จากสภาอาคารยั่งยืนประเทศเยอรมนี และมีแผนที่จะทำให้อาคารธนพิพัฒน์ เป็นต้นแบบ Net Zero building ภายในปี 2570
นอกจากนี้ อาคารธนพิพัฒน์ ยังผ่านเกณฑ์ประเมินมาตรฐานอาคารยั่งยืน คว้ารางวัล EDGE ระดับ ADVANCED ซึ่งสามารถประหยัดพลังงาน (Energy Efficiency Measure) ได้ถึงร้อยละ 48 โดยมีอัตราการประหยัดน้ำของอาคาร (Water Efficiency Measure) ร้อยละ 58 และอัตราการใช้พลังงานเพื่อผลิตวัสดุของอาคาร (Materials Efficiency Measure) ร้อยละ 26 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอาคาร อีกทั้งยังเป็นเป้าหมายในการบริหารจัดการอาคาร เพื่อให้อาคารธนพิพัฒน์เป็นอาคารที่มีความยั่งยืน และเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดภาระด้านสิ่งแวดล้อมของสภาวะโลก รวมถึงได้รับรางวัลฉลากแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานดีเด่น ประจำปี 2562 จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จากกระทรวงพลังงานด้วย
ดร.นาฬิกอติภัค กล่าวว่า รางวัลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า ธพส.มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบอาคารให้ได้มาตรฐานอาคารยั่งยืน จึงมีแนวคิดที่จะรับก่อสร้างอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับหน่วยงานภารรัฐ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดโลกร้อน ซึ่งจะใช้นวัตกรรมเป็นจุดขายและจุดแข็งเพื่อขยายธุรกิจรับพัฒนาและก่อสร้างอาคารตามมาตรฐานอาคารเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอกย้ำ “เป็นผู้นำการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้กับภาครัฐ” ตั้งเป้าปี 2567 – 2570 จะรับออกแบบและก่อสร้างอาคารได้อย่างน้อยปีละ 2 โครงการ
เริ่มจากปี 2567 มี 2 โครงการใหม่เตรียมก่อสร้างรวมมูลค่ากว่า 11,953 ล้านบาท ได้แก่ 1. โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานและที่พักอาศัยของกรมสรรพากร ซอยสุขุมวิท 11 วงเงินลงทุน 992 ล้านบาท และ 2.โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการและสนามกีฬาของกรมพลศึกษา ตำบลแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ วงเงินลงทุน 10,961 ล้านบาท นอกจากนั้นยังอยู่ระหว่างหารือเพื่อก่อสร้างอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการคลังเอกสาร อาคารจอดรถชั้น 5 (PPP) และโครงการอาคารสำนักงาน สรรพสามิตภาคที่ 10 หลังใหม่ ย่านลาดพร้าว – วังหิน
โดย ธพส.เตรียมพร้อมเพื่อขยายธุรกิจการรับพัฒนาโครงการของภาครัฐแบบ one – stop service ตั้งแต่การออกแบบ ก่อสร้าง และบริหารจัดการ ด้วยการพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้มีความเชี่ยวชาญด้านอาคารเขียว ด้านพลังงาน ด้านการบำรุงรักษา รวมถึงการจัดทำแผนงานหรือแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก จากการบริหารจัดการอาคารเป้าหมาย พร้อมกับดำเนินการตามแผนศึกษาแนวทาง Net Zero building การบริหารจัดการอาคารโดยใช้นวัตกรรมใหม่เพื่อยกระดับการให้บริการลูกค้าและผู้ใช้อาคาร การพัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กรให้ได้มาตรฐานตามระบบประเมินผลรัฐวิสาหกิจใหม่ เพื่อตอกย้ำ ธพส. เป็นองค์กรสมัยใหม่ในการพัฒนาและบริหารทรัพย์สินของรัฐให้เกิดมูลค่าเพิ่มเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
นอกจากนั้น ธพส.ยังเตรียมนำอาคารที่เป็นผลงานการออกแบบและก่อสร้าง เสนอชื่อขอใบรับรองอาคารประหยัดพลังงาน ตั้งเป้าปีละ 1 โครงการในเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2566 – 2570 ได้แก่ อาคารโกลเด้น เพลซ สาขาศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารสำนักงานกรมธนารักษ์ ซอยพหลโยธิน 11 อาคารอเนกประสงค์กรมสรรพสามิต ราชวัตร อาคารจอดรถ D (DEPOT) และอาคาร C ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ
ศูนย์ราชการฯ เมืองอัจฉริยะสีเขียว
สำหรับการบริหารจัดการศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะนั้น ดร.นาฬิกอติภัค กล่าวว่าได้วางเป้าหมายยกระดับให้ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เป็น “ต้นแบบเมืองสีเขียวคาร์บอนต่ำ” ที่มีความสมาร์ท ชูจุดเด่นของการออกแบบอาคารที่ประหยัดพลังงาน ทั้งอาคาร A อาคาร B อาคาร C และอาคารจอดรถ D (DEPOT) พร้อมนำนวัตกรรมมาใช้กับการบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ และการกักเก็บน้ำฝนเพื่อนำมาใช้ประโยชน์
ล่าสุด ได้ปรับภูมิทัศน์ ควบคู่ไปกับการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดรถยนต์หน้าอาคาร B กับอาคาร C และพื้นที่บนอุโมงค์จะปรับเป็นสวนสาธารณะและทางเดินเชื่อมต่อระหว่างอาคาร B กับ C รวมถึงการพัฒนาให้เกิดพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ว่างต่างๆ ทั้งแนวราบ และบนดาดฟ้า ตกแต่งให้เป็นสวนสาธารณะ และเปิดให้ผู้ที่ทำงาน ผู้มาติดต่อราชการ ตลอดจนประชาชนทั่วไป และชุมชนในย่านหลักสี่แจ้งวัฒนะ ได้เข้ามาใช้เป็นสถานที่พักผ่อน โดยเมื่อแล้วเสร็จจะมีพื้นที่สีเขียวในศูนย์ราชการฯ แห่งนี้รวมประมาณ 145 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 449 ไร่ สามารถเป็นปอดให้กับพื้นที่ย่านนี้ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จ ธพส. มั่นใจว่าศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ จะถูกยกระดับเป็นเมืองต้นแบบที่มีความทันสมัย มีสิ่งแวดล้อมดีครบทุกมิติ เป็น Smart Environment ที่ให้ความสำคัญทั้งเรื่องสุขภาพของประชาชน การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า การลดมลพิษ ฝุ่นพิษในอากาศและเป็นเมืองแห่งความสุขของทุกคนได้อย่างยั่งยืน