xs
xsm
sm
md
lg

รู้แค่ไหน! “ติดโซลาร์รูฟท็อป บ้านอยู่อาศัย” ช่วยลดค่าไฟ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ฤดูหนาวตามปกติกลับกลายเป็นเจออากาศหน้าร้อนมากกว่า และสิ่งที่ตามมาด้วย ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนจาก “ค่าไฟฟ้า” นั่นทำให้หลายบ้าน อยู่ระหว่างตัดสินใจลดค่าไฟฟ้าด้วยการติดตั้ง “โซลาร์รูฟท็อป”

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ให้ข้อคิด คลายข้อสงสัย ก่อนตัดสินใจติด Solar Rooftop เพื่อช่วยลดค่าไฟ ดังนี้


1. บ้านของเราเหมาะกับการติดตั้ง Solar Rooftop หรือไม่ ?
- บ้านมีคนอยู่ในช่วงเวลากลางวัน หรือเป็น Home Office/ร้านค้า/ร้านกาแฟ แบบนี้ได้ใช้ไฟฟ้าจาก Solar เต็มที่ น่าติดตั้งใช้งาน คุ้มค่าคืนทุนไว
- มีการใช้อุปกรณ์ที่กินไฟมาก “แอร์ ตู้เย็น ตู้แช่”
Hint ไฟฟ้าจาก Solar ผลิตมาใช้ทันที ดีที่สุด และนิยมติดตั้งเป็นระบบที่สามารถใช้งานร่วมกับระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าได้

2. หลังคาบ้านเราเหมาะกับการติดตั้งหรือไม่ ?
- บ้านต้องมีโครงสร้างหลังคาแข็งแรง รองรับน้ำหนักได้ดี
- ไม่มีเงาต้นไม้ใหญ่ หรืออาคารรอบข้างมาบดบังแสงแดด
Hint หลังคามีความลาดเอียงประมาณ 15 องศาและหันไปทางทิศใต้ จะได้ผลิตไฟได้ดีที่สุด

3. ติดตั้งขนาดเท่าไร จึงจะเหมาะสม ?
- ติดตั้งขนาด 3 กิโลวัตต์ เหมาะกับบ้านที่ใช้ แอร์เบอร์ 5 แบบ 1 ดาว 12,000 BTU 2 เครื่อง + ตู้เย็น 12 คิว + หลอดไฟ
- ติดตั้งขนาด 5 กิโลวัตต์ เหมาะกับบ้านที่ใช้ แอร์เบอร์ 5 แบบ 1 ดาว 12,000 BTU 4 เครื่อง + ตู้เย็น 12 คิว 2 เครื่อง + หลอดไฟ
- ขนาดที่นิยมติดตั้ง 3, 5, 10 กิโลวัตต์ เลือกได้ตามขนาด/จำนวนอุปกรณ์ที่ใช้
Hint หากเลือกขนาดใหญ่เกินความจำเป็น ต้องลงทุนสูงและคืนทุนช้า

4. พื้นที่หลังคาที่ใช้ติดตั้ง ต้องขนาดใหญ่แค่ไหน ?
- ใช้พื้นที่ 4-5 ตารางเมตร/ 1 กิโลวัตต์ที่ติดตั้ง ยกตัวอย่างเช่น ระบบขนาด 3 กิโลวัตต์ ใช้พื้นที่ประมาณ 12-15 ตารางเมตร
- ลักษณะ/ประเภทกระเบื้องหลังคาแบบต่างๆ ควรแข็งแรงเพียงพอที่จะติดตั้งแผงโซลาร์ได้
Hint หลังคาบ้านส่วนใหญ่มีพื้นที่เพียงพอต่อการติดตั้งอยู่แล้ว

5. เงินลงทุนในการติดตั้งระบบเท่าได ?
- ใช้งบประมาณ 40,000 – 45,000 บาทต่อ 1 กิโลวัตต์ที่ติดตั้ง มีระยะเวลาคืนทุนโดยประมาณ 6 ปี
- ควรสอบถามราคาจากผู้ให้บริการติดตั้งหลายรายเปรียบเทียบกันก่อนตัดสินใจ
- เปรียบเทียบบริการหลังการขาย เช่น การตรวจสอบอุปกรณ์ประจำปี / การทำความสะอาดแผง / อายุการรับประกันสินค้า
Hint หากลงทุนติดตั้งขนาดที่ใหญ่ขึ้น จะทำให้ค่าลงทุนต่อ 1 กิโลวัตต์ถูกลง


6. ค่าไฟฟ้าที่จะประหยัดได้ และการคืนทุน คิดอย่างไร ?
- ยกตัวอย่างระบบขนาด 3 กิโลวัตต์ จะผลิตไฟได้ประมาณวันละ 12 หน่วย (หรือ 360 หน่วยต่อเดือน)
หากราคาค่าไฟการไฟฟ้าหน่วยละ 5 บาท จะประหยัดค่าไฟได้ 1,800 บาทต่อเดือน (หรือปีละ 21,600 บาท)
- คิดระยะเวลาคืนทุน จากการลงทุน ขนาด 3 กิโลวัตต์ ค่าลงทุนประมาณ 120,000 – 135,000 บาท ประหยัดได้ปีละ 21,600 บาท ดังนั้น มีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 6 ปี
Hint หากสามารถใช้ไฟฟ้าจาก Solar Rooftop ได้เต็มกำลังที่ผลิตได้ และใช้แผงที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ก็จะคืนทุนได้เร็วขึ้น

7. ราคาต้นทุนไฟฟ้าจากระบบ Solar Rooftop ตลอดอายุการใช้งาน เป็นเท่าไร ?
- ยกตัวอย่างระบบขนาด 3 กิโลวัตต์ หากคิดตลอดอายุระบบ Solar Rooftop 15-20 ปี จะผลิตไฟได้ 360 หน่วย/เดือน x 12 เดือน x 15 ปี = 64,800 หน่วย เมื่อคิดค่าลงทุน 120,000 – 135,000 บาท จะมีราคาต้นทุนประมาณ 2 บาทต่อหน่วย
Hint ต้นทุนต่อหน่วยข้างต้น ยังไม่รวมค่าบำรุงรักษารายปี เช่น การล้างแผง การตรวจสอบรายปี อาจทำให้ต้นทุนสูงขึ้นอีกประมาณ 10%

8. อยากติดตั้ง ต้องเริ่มอย่างไรดี ?

- เลือกผู้ให้บริการติดตั้ง ปัจจุบันมีผู้ให้บริการจำนวนมากราย ทั้งการไฟฟ้า และบริษัทที่ให้บริการติดตั้ง Solar Rooftop
- การขออนุญาตต่างๆ ส่วนใหญ่ผู้ให้บริการติดตั้งจะเป็นผู้ดำเนินการให้ด้วย
- ผู้ให้บริการเข้าสำรวจพื้นที่ติดตั้ง ออกแบบ และเข้าดำเนินการติดตั้ง โดยทั่วไปใช้เวลาโดยรวมไม่เกิน 1 เดือน
Hint ควรเลือกผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือ โดยอาจพิจารณาจากประสบการณ์/ผลงานที่ผ่านมา/คุณภาพ การให้บริการ/บริการหลังการขาย/การรับประกันสินค้า

9. เราจะเลือกอุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ ได้อย่างไร ?
- แผง Solar ตรวจสอบตามมาตรฐานที่ได้รับ มอก. 61215 หรือมาตรฐาน IEC 61215 เป็นอย่างน้อย
- อุปกรณ์ Inverter สามารถตรวจสอบรายชื่อรุ่นที่การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้การรับรองได้ทางเว็บไซต์ของการไฟฟ้า
- ศึกษาเปรียบเทียบการเลือกใช้อุปกรณ์ของผู้ให้บริการติดตั้งแต่ละรายเพื่อประกอบการพิจารณา
Hint เราสามารถศึกษาข้อกำหนดการติดตั้ง Solar Rooftop และการเชื่อมต่อระบบของแต่ละการไฟฟ้า ได้จากเว็บไซต์ของ กฟน. กฟภ.

10. การขออนุญาตต่างๆ ต้องทำอย่างไรบ้าง?
- ขอใบอนุญาตเกี่ยวกับการก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคาร กับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งใช้เวลาดำเนินการ 45 วัน
- ยื่นแบบติดตั้ง และการขอจดแจ้งยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.erc.or.th)
- แจ้ง กฟน. กฟภ. ตรวจสอบระบบ และเชื่อมต่อระบบ
Hint โดยทั่วไปแล้วผู้ให้บริการติดตั้งจะช่วยดำเนินการเรื่องการขออนุญาตต่างๆ ให้ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการ


กำลังโหลดความคิดเห็น