รมว.อุตสาหกรรม ย้ำแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมไทย มุ่งสู่ความยั่งยืนในงาน “The Journey of Sustainable Partnership 2024” เผยไทยเดินหน้าพัฒนา “นิคมอุตสาหกรรมสีเขียว” รับนักลงทุนสายรักษ์โลก ภายใต้ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งในด้านเทคโนโลยี สภาพภูมิอากาศ และการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไป พร้อมกำหนดนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมไทยใน 4 มิติ
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยกับ “พิมพ์ภัทรา” ในงาน “The Journey of Sustainable Partnership 2024” ถึงทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ภายใต้ความท้าทายและโอกาส ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความซับซ้อนมากขึ้น ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สงครามในยูเครน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแข่งขันในภูมิภาคที่รุนแรงขึ้น และความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่ความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสำเร็จอย่างสมดุลใน 4 มิติ ทั้งด้านความสามารถในการแข่งขัน การได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคม การตอบโจทย์กติกาสากลด้านสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ชุมชน ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นโยบายที่สำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่ การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เน้นอุตสาหกรรมที่จะเป็นอนาคตของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมชีวภาพ โดยเร่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในประเทศเพื่อยกระดับการผลิตให้สามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคได้ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน Value Chain ของโลก รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอุตสาหกรรมเหล่านี้
ขณะเดียวกันจะพัฒนาอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ โดยนำมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรม (SPRING) มาเป็นเครื่องมือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงเชื่อมโยงกับภาคบริการ อาทิ อุตสาหกรรมรีไซเคิล อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมก่อสร้างที่มีนวัตกรรม (Innovative Construction) การผลักดันอุตสาหกรรม Soft Power ที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยเป็นเครื่องยนต์สร้างการเติบโตและรายได้ให้กับประเทศ รวมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง กำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษในพื้นที่อุตสาหกรรมให้เข้มงวดขึ้น ควบคู่กับการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางน้ำ อากาศ และกากของเสีย ขณะที่มาตรฐานความปลอดภัยในการประกอบกิจการต่างๆ จะผลักดันมาตรฐานอุตสาหกรรมเพื่อมุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้การบริการ การขออนุมัติอนุญาต และการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การให้บริการในรูปแบบ One Stop Service ต้องเข้าถึงและใช้งานง่าย มีความโปร่งใส เพื่อลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชน
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพให้มีความเข้มแข็งและอยู่รอดได้ ภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงต่างๆ ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยี เตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อ่อนไหวสูงที่ต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกันระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม
“กระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน (ชุมพร-ระนอง) (Landbridge) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่จะสร้างโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย ช่วยเชื่อมโยงทางกายภาพระหว่างภาคใต้ของประเทศไทยกับประเทศในภูมิภาค รวมถึงประเทศจีนตอนใต้ เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งจะช่วยลดเวลา และระยะทางการขนส่งจากเดิม ทำให้ประหยัดต้นทุนการขนส่ง เพิ่มศักยภาพทางการค้าของประเทศไทยกับกลุ่มประเทศที่อยู่ทางด้านมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก อีกทั้งยังรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมกันบูรณาการการทำงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ประเทศไทยจะมีศักยภาพรองรับการลงทุนมากขึ้นในอนาคต” รมว.อุตฯ กล่าว
ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) กล่าวว่า กนอ. ตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนภาคเอกชนต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในปี 2567 กนอ. จึงกำหนดแผนฟื้นฟูการลงทุน โดยลดบทบาทการเป็น regulator มาเป็น facilitator ที่มุ่งเน้นอำนวยความสะดวกและสนับสนุนผู้ประกอบการในทุกด้าน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน โดยแผนฟื้นฟูการลงทุนของ กนอ. ประกอบด้วย 1.การพัฒนาพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่เชิงพาณิชย์ใหม่ ๆ ให้พร้อมรับการลงทุน 2.ส่งเสริมการลงทุน โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและการตลาด เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงจัดหาแหล่งเงินทุนและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ 3.พัฒนาผู้ประกอบการด้วยการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และ 4.สร้างความยั่งยืนโดยเน้นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและชุมชนโดยรอบอย่างยั่งยืน ซึ่งคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นหลัก
ขณะที่ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม เป็นคู่ค้าที่สำคัญของ กนอ. ที่ผ่านมาทุกฝ่ายให้ความร่วมมือในการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม รวมทั้งบริหารจัดการสถานประกอบการให้อยู่ในมาตรฐานของ กนอ. ตลอดจนสร้างแรงงานที่มีศักยภาพ ไปจนถึงการสร้างห่วงโซ่อุปทานให้กับหลายกลุ่มอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น งานในวันนี้ (15 ม.ค.67) จึงเป็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ ทิศทางการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมของประเทศ รวมถึงการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อผลักดันนโยบายของรัฐบาลไปสู่ความเจริญเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อไป ภายใต้แนวคิดที่ว่า นิคมอุตสาหกรรมอยู่คู่กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน