TMX Global ชี้ความจำเป็นต้องนำโซลูชันและเทคโนโลยีต่างๆ มาเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร พร้อมนำ TMX Metaverse ร่วมเตรียมความพร้อมก่อนเผชิญปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
นัยนา กอเจริญรัตน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท TMX Global กล่าวถึงสถานการณ์ด้านความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทยและโลกในวันนี้ รวมทั้งแนวโน้มในอนาคตว่า จากผลวิจัยด้านดัชนีความมั่นคงด้านอาหารโลกครั้งที่ 11 ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นการวัดความสามารถของประเทศในการตอบสนองความต้องการด้านอาหารของประชาชนด้านความพร้อมที่เพียงพอ ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ตลอดจนความยั่งยืนและการนำอาหารหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ ระบุว่า ความมั่นคงทางอาหารกำลังถูกคุกคาม ทั้งจากสงครามการค้า การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและแรงกดดันจากอัตราเงินเฟื้อที่สูงขึ้น ส่งผลให้ประชากรในส่วนต่างๆ ของโลกหาซื้ออาหารได้ยากขึ้น ในขณะเดียวกัน ช่องว่างด้านความมั่นคงทางอาหารมีการขยับตัวกว้างขึ้นเนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงทรัพยากรอาหารได้อย่างเพียงพอ
สำหรับประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงทางอาหารปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยพบว่า ณ สิ้นปี 2565 ประเทศไทย มีความมั่นคงด้านอาหารในลำดับที่ 64 จากการประเมินความมั่นคงทางด้านอาหารใน 113 ประเทศทั่วโลก และลำดับที่ 11 จาก 23 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยอยู่ในเกณฑ์ดีด้านความสามารถในการหาซื้ออาหารให้เพียงพอต่อความต้องการ ในขณะที่ ด้านคุณภาพและความปลอดภัยยังคงต้องปรับปรุง เนื่องจากมีคะแนนลดลงจากการประเมินครั้งก่อน
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกอาจเป็นเพียงปัญหาชั่วคราว แต่ปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างมาก เช่น ช่องว่างด้านความมั่นคงทางอาหารและสงครามการค้าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้ อาจกลายเป็นปัญหาในระยะยาว เนื่องจากอาหารมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ดังนั้น การแก้ปัญหาเนื่องจากสถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารจึงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้บริโภคไปจนถึงหน่วยงานของรัฐ โดยภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการพัฒนากลยุทธ์และเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารช่วยผลักดันและขับเคลื่อนให้มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีการเกษตรเพิ่มขึ้น
นัยนา กล่าวถึงการนำโซลูชันและเทคโนโลยีมาใช้ว่า จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มประสิทธิภาพของซัพพลายเชนด้านอาหาร เช่น การใช้โซลูชันเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการในแต่ละขั้นของซัพพลายเชนให้เป็นดิจิทัลจะช่วยเชื่อมโยงทุกฝ่ายให้เข้ามาอยู่ในเครือข่ายเดียวกันทำให้เราสามารถเพิ่มผลผลิตของอาหารเมื่อมีอุปสงค์เพิ่มขึ้น และช่วยลดการสูญเสียคุณค่าจากการผลิตและลดปริมาณขยะอาหารให้เหลือน้อยที่สุด
ในกรณีที่เกิดความล่าช้าในการขนส่งอาหาร การใช้เครื่องมือดิจิทัลจะสามารถช่วยแจ้งเตือนได้ล่วงหน้าหรือเสนอเส้นทางขนส่งใหม่ได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีภาวะการชะงักงันของซัพพลายเชนหรือเมื่อเกิดสงครามทางการค้าโลก เราจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีเพื่อช่วยจัดทำแผนรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ตั้งแต่การออกแบบโรงงานและคลังสินค้า และกำหนดเส้นทางขนส่งอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจัดเก็บผลผลิตให้คงความสดและมีคุณภาพ การนำเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการซัพพลายเชนด้านอาหารได้อย่างยืดหยุ่นและบรรลุเป้าหมายในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารได้เป็นอย่างดี
“อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประเทศไทยมีการลงทุนและนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมซัพพลายเชนด้านอาหาร ตัวอย่างเช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติทำหน้าที่ขับเคลื่อนและส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างแหล่งอาหารในเชิงรุก อีกทั้งยังพัฒนาโซลูชันเพื่อเพิ่มการผลิตอาหารและแหล่งอาหารทางเลือก เช่น โครงการ Space-Fซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นทางด้านอาหาร เป็นต้น นับจากนี้เราน่าจะมีโอกาสได้เห็นถึงความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมอาหารและซัพพลายเชน”
ขณะเดียวกัน องค์กรธุรกิจต่างๆ ได้นำเทคโนโลยีเพื่อคาดการณ์ผลผลิต บล็อกเชน หรือเครื่องมือสร้างแบบจำลองมาใช้เพื่อเพิ่มการผลิตอาหารและพัฒนาซัพพลายเชนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เช่น เทคโนโลยี TMX Metaverse จากบริษัท TMX Transform ซึ่งใช้ออกแบบจำลองพื้นที่ โรงงานผลิต หรือคลังสินค้าได้ล่วงหน้าก่อนการก่อสร้างจริงและสามารถใช้แก้ไขแบบจำลองนี้ได้แบบเรียลไทม์โดยไร้ขีดจำกัด ทำให้สามารถจำลองการใช้พื้นที่ในโรงงานผลิตหรือพื้นที่จัดเก็บสินค้าด้านอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบซัพพลายเชน
ในขณะที่ข้อมูลที่จำลองขึ้นในระบบ Metaverse ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจของผู้บริหารหรือการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาโปรเจคนั้นๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์การณ์ปัจจุบันที่มีความกดดันหรือในกรณีที่มีภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานเกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า โซลูชันและเทคโนโลยีล้ำสมัยหลากหลายประเภทมีส่วนช่วยให้เกิดความยืดหยุ่นแก่ซัพพลายเชนและทำให้มั่นใจได้ว่าทุกคนบนโลกใบนี้จะได้รับอาหารอย่างทั่วถึง