เดินหน้าพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพต่อเนื่อง ล่าสุด Imagine Thailand Movement พาแกนนำเยาวชนจากโรงเรียนบ้านท่ามะพร้าว โรงเรียนบ้านคลองไคร และโรงเรียนบ้านดินนา ต.คลองพน อ.คลองท่อม จ.กระบี่ พร้อมด้วยครู และผู้นำชุมชน ลงพื้นที่ชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ จ.นครปฐม ซึ่งมีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นของเครือข่ายผู้ก่อการดี ร่วมขับเคลื่อนพื้นที่สุขภาวะ และชุมชนลุมพลี จ.พระนครศรีอยุธยา พื้นที่ต้นแบบการจัดการปัญหายาเสพติด เพื่อนำเอาความรู้ และประสบการณ์ไปขยายผล โดยครั้งนี้ทุกคนมีโอกาสได้รับฟังมุมมองจาก ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ กรรมการบริหารแผนคณะ 1 สสส. ซึ่งร่วมลงพื้นที่พร้อมให้แนวคิด การเชื่อมโยง ของดี คนดี และผู้ก่อการดี สู่การพัฒนาและขยายพื้นที่ สุขภาวะให้เยาวชน และคนในชุมชนห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยง
ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางสังคม(ประเทศไทย) และ Imagine Thailand Movement กล่าวว่า ชุมชนบ้านท่ามะพร้าว จ.กระบี่ เป็น 1 ใน 8 พื้นที่สุขภาวะต้นแบบ ที่คนในชุมชนได้ตระหนักถึงปัญหา จึงได้พร้อมใจกันฟื้นค่ายผู้นำเยาวชนขับเคลื่อนพื้นที่สุขภาวะ ที่หยุดไปเพราะโควิด ให้กลับมาอีกครั้ง มีการจัดกิจกรรมหนุนเสริมให้เยาวชนในพื้นที่ได้เรียนรู้ ได้เชื่อมสัมพันธ์ที่ดีกับคนในชุมชน สำหรับกลุ่มเยาวชนที่เดินทางมาเรียนรู้ในครั้งนี้ เป็นแกนนำเยาวชนที่ผ่านกระบวนการค่ายพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำ และได้นำความรู้ไปทำงานการสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชน มีการรณรงค์ชี้ให้คนในหมู่บ้านเห็นพิษภัยยาเสพติด การสูบบุหรี่ และรณรงค์การคัดแยกขยะ ลดปัญหาจากต้นทาง รวมถึงการเปลี่ยนจุดเสี่ยงให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ และยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นชุมชนสุขภาวะ
“ในการดูงานครั้งนี้ เยาวชนมีโอกาสได้นำเสนอผลงานการขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลง ที่ได้ไปทดลองทำมา ทำให้ผู้ใหญ่ได้เห็นถึงศักยภาพของเยาวชน ซึ่งมีการเติบโตทางความคิด กล้าแสดงออกมากขึ้น และหลังจากมีโอกาสได้ทำเวิร์คช็อปกับศิลปินที่เชี่ยวชาญเรื่องนิเวศสุนทรีย์ ได้พบปะผู้นำ ปราชญ์ ผู้ก่อการดี ทั้งของชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ และชุมชนลุมพลี ที่ต่างมาแบ่งปันความรู้ บอกเล่ากระบวนการทำงาน ปัญหา อุปสรรค เพื่อการพัฒนาต่อยอดชุมชนสุขภาวะ แกนนำเยาวชนก็สามารถสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ และสามารถกลับไปเล่า ไปถ่ายทอดให้ เพื่อนๆ และชุมชน ที่ไม่ได้มาเป็นอย่างดี”
ตลอดทั้ง 3 วัน ทั้งผู้นำชุมชนและเยาวชนต่างมีความสุขกับการเก็บเกี่ยวความรู้ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ชุมชน ที่ได้เรียนรู้กระบวนการรวบรวมเรื่องราวประวัติ ของดี คนดี แห่งคลองมหาสวัสดิ์ จาก ผศ.ดร. อภิลักษณ์ เกษมผลกูล ผู้ก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์เรือนมหาสวัสดี” แหล่งเรียนรู้ประวัติคลองมหาสวัสดิ์ วัฒนธรรม และวรรณกรรมท้องถิ่นภาคกลาง (รวมภาคตะวันตกและภาคตะวันออก) ซึ่งมีการเก็บหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ไว้อย่าเป็นระบบ ที่เห็นถึงความโดดเด่นของชุมชน และเชื่อมต่อคนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี
ด้านการพัฒนาพื้นที่ การจัดการขยะ ได้เรียนรู้การสร้างสาธารณศิลป์ และได้เข้าใจแนวคิดนิเวศสุนทรีย์ “เก็บ ทิ้ง สร้าง” จาก ดร.วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร ศิลปินร่วมสมัย ผู้ก่อตั้ง “หอศิลป์ศาลเจ้า” ศูนย์เรียนรู้แนวคิดนิเวศสุนทรีย์ ที่มีเอกลักษณ์ของชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ โดยแนวคิดนี้ สอนให้เด็กๆ รู้จักคิด วิเคราะห์ อย่างสร้างสรรค์ ถ้ารู้จักการเก็บ รู้จักการทิ้ง และรู้จักการสร้าง เชื่อว่าจะนำพาไปสู่นิเวศสุนทรีย์ได้
ขณะที่ด้านจัดการปัญหายาเสพติด เยาวชนได้ไปเรียนรู้กับผู้นำ“ชุมชนลุมพลี” จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ในอดีต เป็นแหล่งแพร่ระบาดของยาเสพติดอย่างหนัก แต่ด้วยความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ทั้ง ปปส.ภาค 1 ตำรวจ ที่เข้ามาทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง บวกกับความเข้มแข็งของผู้นำชุมชน และพลังความสามัคคีของคนในชุมชน บ้าน โรงเรียน มัสยิด รวมเป็นหนึ่งเดียว ร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทำให้ยาเสพติดในชุมชนลดน้อยลง กลายเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการจัดการปัญหายาเสพติด
ตลอดกิจกรรมเยาวชนยังได้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของผู้ก่อการดีชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ เช่น ป้าแจ๋ว “จงดี เศรษฐอำนวย” พี่กบ “วาษิณี เชื้อวงศ์” และชุมชนลุมพลี ทั้ง นายเฟซอล พลีบัตร นายกอบต.ลุมพลี นายประสาร หยงสตาร์ ผอ.ปปส.ภาค 1 นายสงวนศักดิ์ ศรีวัฒนพงงศ์ อดีด ผอ.ปปส.ภาค 1 นายชลอ พาลีคราม กำนันตำบลลุมพลี และนายบรรจง ผาสุก ผอ.โรงเรียนลุมพลีชนูปถัมภ์ ที่ตระหนักถึงปัญหาปัจจัยเสี่ยง ต่างยินดีที่จะใช้ความรู้ ความสามารถ มาร่วมก่อการดีขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ
ดร.วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร ผู้ก่อตั้งหอศิลป์ศาลเจ้า กล่าวว่า ต้องการให้เยาวชนเข้าใจแนวคิดนิเวศสุนทรีย์ คือ รู้จักการเก็บ รู้จักการทิ้ง และรู้จักการสร้าง การเก็บ คือ เก็บสิ่งที่เหมาะสม ที่จะเป็นประโยชน์ การทิ้ง อาจจะทิ้งความคิดไม่ดีหรือคนไม่ดี หรือเป็นพวกขยะที่ควรทิ้ง ส่วนการสร้าง คือ ต้องสร้างสิ่งที่ไม่มี
ศาสตราภิชาน ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมนำเยาวชนเรียนรู้ในพื้นที่ ทำให้เกิดการรับรู้ว่า เราไม่ใช่คนเดียวในโลกที่ทำสิ่งนี้ ชุมชนเราไม่ใช่ชุมชนเดียวในประเทศไทยที่ทำสิ่งนี้ การที่ได้ไปเห็นที่โน่น ที่นี่ นอกจากจะได้เห็นตัวอย่าง เป็นกำลังใจเติมเต็มให้เราทำดีต่อไป ยังทำให้เยาวชน และ ชุมชนต่างพื้นที่ได้เรียนรู้ความแตกต่างและความเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความแตกต่างที่เราจะเอามาต่อยอดกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ที่จะเป็นเกราะป้องกันปัจจัยเสี่ยง ต่างๆ
ด้าน อาจารย์สุบิน นิยมเดชา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ามะพร้าว กล่าวว่า นับเป็นโชคดีของเด็กๆ ที่ได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ใจดี และดีใจที่เห็นเด็กๆ มีพัฒนาการที่ดี คือ มีความกล้าหาญ และมีความตื่นตัว โดยเฉพาะในเรื่องยาเสพติด สังเกตุจากการที่ทุกคนตั้งใจฟัง มีการจดบันทึก กล้าถามในสิ่งที่ตัวเองอยากรู้ เพื่อนำเอาความรู้กลับไปปรับใช้พัฒนาชุมชนของตนเอง
ในส่วนของแกนนำเยาวชน น้องมีนา “อนิญชนา เล็กกอ” นักเรียนชั้นป.6 โรงเรียนบ้านคลองไคร ในฐานะประธานเยาวชนเครือข่ายตำบลคลองพน รุ่นที่ 2 กล่าวว่า การได้มาเรียนรู้กับผู้ใหญ่ใจดีทั้ง 2 ชุมชน คุ้มค่ามาก เพราะได้ความรู้ใหม่ๆ ได้กำลังใจ และความมั่นใจ ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ตอนแรกคิดว่า เราตัวเล็กๆ คงทำอะไรไม่ได้ แต่เมื่อได้ฟังผู้ใหญ่พูดทำให้รู้ว่า เยาวชนคือกำลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้ ความรู้ที่ได้ หนูจะนำไปถ่ายทอดให้กับน้องๆ และนำไปปรับใช้พัฒนาชุมชน ให้เยาวชนห่างไกลจากยาเสพติด
ความพยายามของ Imagine Thailand Movement ในการสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นในชุมชน ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยการสนับสนุนของ สสส. นั้นมีความก้าวหน้าที่สำคัญคือ สามารถสร้างความตระหนักรู้เรื่องปัจจัยเสี่ยง ความสำคัญของการมีพื้นที่สุขภาวะ และโอกาสที่คนหลายวัยสามารถมาร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง และทำให้เกิดพื้นที่สุขภาวะต้นแบบ 8 พื้นที่ เป็นบทพิสูจน์พื้นที่สุขภาวะมีอยู่จริง ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ และเริ่มได้ทันที โดยเริ่มจากตนเอง และแม้จะต่างพื้นที่ก็สามารถร่วมกันพัฒนาให้เกิดผู้ก่อการดีในประเทศไทยได้อีกมากมาย สำหรับผู้สนใจ สามารถชมเรื่องราวการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ ที่จะเกิดขึ้นในวันพุธที่ 13 ธันวาคม 2566 ผ่าน Facebook Live : Imagine Thailand Movement ที่ “ผู้ก่อการดี" 8 พื้นที่สุขภาวะต้นแบบเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ จะมาร่วมกันบอกเล่าบทเรียนและความสำเร็จ ผ่านเวทีสาธารณะ ที่จัดขึ้น ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)