เมื่อวันพฤหัส (29 พ.ย.) ที่ผ่านมา Global Sustainable Investment Alliance (GSIA) ได้ทำการเผยแพร่รายงาน 2022 Global Sustainable Investment Review ที่จัดทำขึ้นทุกสองปี โดยจากงานสำรวจชิ้นล่าสุด พบว่า ในปี พ.ศ.2565 ตัวเลขการลงทุนที่ยั่งยืนทั่วโลก มีมูลค่าอยู่ที่ 30.3 ล้านล้านเหรียญ ลดลงจากตัวเลข 35.3 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2563 หรือลดลงร้อยละ 14.1 ในช่วงเวลาสองปี
โดยสัดส่วนการลงทุนที่ยั่งยืนเมื่อเทียบกับขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ทั้งหมด ในปี พ.ศ.2565 มีตัวเลขคิดเป็นร้อยละ 24.4 ของมูลค่าจำนวน 124.49 ล้านล้านเหรียญ ลดลงจากสัดส่วน ในปี พ.ศ.2563 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 35.9 แสดงให้เห็นถึงสัดส่วนการลงทุนที่ยั่งยืนโดยรวม มีตัวเลขลดลงเป็นครั้งแรก
ปัจจัยหลักมาจากตัวเลขการลงทุนที่ยั่งยืนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งลดลงจาก 17.1 ล้านล้านเหรียญ มาอยู่ที่ 8.4 ล้านล้านเหรียญ หรือลดลงกว่าร้อยละ 50 ในช่วงเวลาสองปี สาเหตุมาจากการเปลี่ยนระเบียบวิธีการเก็บตัวเลขสินทรัพย์ที่ยั่งยืนในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลจากการปรับนิยามของกองทุนยั่งยืนที่เข้มงวดขึ้น จากความกังวลเรื่องการฟอกเขียวที่ขยายวงเพิ่มขึ้น รวมทั้งการนำเรื่อง ESG มาใช้เป็นประเด็นการเมืองท้องถิ่นในสหรัฐฯ
ซึ่งหากไม่นับรวมตัวเลขสินทรัพย์ที่ยั่งยืนในสหรัฐอเมริกา สัดส่วนการลงทุนที่ยั่งยืน (ยกเว้นสหรัฐ) ในปี พ.ศ.2565 จะมีตัวเลขคิดเป็นร้อยละ 37.9 เทียบกับ AUM ทั้งหมด ซึ่งยังเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2563 ขณะที่มูลค่าการลงทุนที่ยั่งยืนรวม (ยกเว้นสหรัฐ) ยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในช่วงเวลาสองปี
ทั้งนี้ สัดส่วนเม็ดเงินลงทุนตามกลยุทธ์การลงทุนที่ยั่งยืน 7 รูปแบบตามการจำแนกของ GSIA พบว่า การลงทุนเพื่อใช้สิทธิผู้ถือหุ้นออกเสียงในกิจการ (Corporate engagement and shareholder action) มีมูลค่ามากสุด อยู่ที่ 8.05 ล้านล้านเหรียญ รองลงมาเป็นการลงทุนโดยผนวกเกณฑ์ด้าน ESG ในกระบวนการตัดสินใจลงทุน (ESG integration) อยู่ที่ 5.59 ล้านล้านเหรียญ การลงทุนโดยใช้เกณฑ์คัดกรองด้านลบ / ตัดออกจากกลุ่ม (Negative/exclusionary screening) อยู่ที่ 3.84 ล้านล้านเหรียญ การลงทุนโดยใช้เกณฑ์คัดกรองที่เป็นบรรทัดฐานนิยม (Norms-based screening) อยู่ที่ 1.81 ล้านล้านเหรียญ การลงทุนตามประเด็นความยั่งยืนที่สนใจ (Sustainability themed investing) อยู่ที่ 5.98 แสนล้านเหรียญ การลงทุนโดยใช้เกณฑ์คัดกรองด้านบวก / เลือกที่ดีสุดในกลุ่ม (Positive/best-in-class screening) อยู่ที่ 5.74 แสนล้านเหรียญ และการลงทุนเพื่อชุมชน / เป็นผลดีต่อโลก (Impact/community investing) อยู่ที่ 5.5 หมื่นล้านเหรียญ ตามลำดับ
ขณะที่ข้อมูลกองทุนยั่งยืนจากการเปิดเผยของมอร์นิ่งสตาร์ ระบุว่า กองทุนยั่งยืนในสหรัฐฯ มีเงินไหลออกสี่ไตรมาสติดต่อกัน โดยมีเงินไหลออกสุทธิจำนวน 1.42 หมื่นล้านเหรียญในรอบปีที่ผ่านมา
สินทรัพย์ในกองทุนยั่งยืนลดลงกลับไปแตะระดับ 2.99 แสนล้านเหรียญ ณ สิ้นสุดไตรมาสที่สาม และลดลงสูงถึงร้อยละ 17 จากระดับสูงสุดที่ 3.58 แสนล้านเหรียญ ณ สิ้นสุดปี ค.ศ.2021
และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่การปิดกองทุนยั่งยืนมีมากกว่าการเปิดกองใหม่ โดยในไตรมาสสามของปีนี้ มีการเปิดตัวกองทุนยั่งยืนเพียง 3 กองทุน แต่มีการปิดกองทุนยั่งยืน 13 กองทุน และมีอีก 4 กองทุนได้ยกเลิกการลงทุนแบบ ESG ทำให้มีจำนวนกองทุนยั่งยืนในสหรัฐฯ ปัจจุบันอยู่ที่ 661 กองทุน
โดยจาก 13 กองทุนยั่งยืนที่ปิดลงในไตรมาสที่สาม กองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด (ตามมูลค่าสินทรัพย์) ได้แก่ กองทุนจากบริษัท Columbia Threadneedle, Hartford และ BlackRock โดย Columbia Threadneedle ปิด Columbia U.S. Social Bond Fund เมื่อเดือนสิงหาคม มีทรัพย์สินรวม 35.8 ล้านเหรียญ และอยู่ในตลาดถึง 8 ปี ตามด้วย Hartford Schroders ESG US Equity ETF ที่มีมูลค่า 9.8 ล้านเหรียญในเดือนกรกฎาคม หลังจากอยู่ในตลาดประมาณ 2 ปี ส่วน BlackRock ได้ปิดกองทุน BlackRock U.S. Impact Fund และ BlackRock International Impact Fund ซึ่งมีทรัพย์สินรวม 5.4 ล้านเหรียญ และ 4.2 ล้านเหรียญ ตามลำดับ
จะเห็นว่า ภาพรวมของการลงทุนที่ยั่งยืนได้มาถึงจุดอิ่มตัว และในบางภูมิภาค เริ่มมีขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหารที่ลดลง จากที่เคยกล่าวไว้เมื่อสองปีที่แล้วว่า ในจำนวนเงินลงทุน 3 เหรียญ จะมีอยู่ราว 1 เหรียญ ที่เป็นการลงทุนที่ยั่งยืน ปัจจุบัน ขนาดการลงทุนที่ยั่งยืน ได้ลดลงมาเป็น 1 ใน 4 เมื่อเทียบกับเม็ดเงินลงทุนทั้งหมด
บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์