xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยต้องรีบ! ปรับทักษะทำงานในยุคคาร์บอนต่ำ / ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่เกิดขึ้นทั่วโลกส่งผลกระทบต่อธุรกิจและตลาดแรงงานครั้งใหญ่ โดยจะเกิด “ธุรกิจสีเขียว” ที่เป็นธุรกิจใหม่หรือขยายตัวขึ้นหลายสาขา ซึ่งนำมาสู่การสร้างงานใหม่

เช่น ธุรกิจจัดการของเสียและรีไซเคิล ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจสร้างและปรับปรุงบ้านและอาคารประหยัดพลังงาน ธุรกิจการลดคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรม ธุรกิจผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจบริหารจัดการและการเงินสีเขียว 

ในทางตรงข้าม “ธุรกิจสีน้ำตาล” หรือธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น ธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิล ธุรกิจรถยนต์สันดาป ธุรกิจเกษตรแบบเดิมที่ใช้สารเคมีสูงและทรัพยากรธรรมชาติมาก จะหดตัวลงและทำให้งานบางส่วนหายไป โดยแรงงานที่น่าจะได้รับผลกระทบสูงหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงมักเป็นแรงงานที่มีทักษะและระดับการศึกษาไม่สูงนัก ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 8 ล้านคนในประเทศไทย






ในต่างประเทศ ความต้องการงานสีเขียวเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยการศึกษาของบริษัทลิงค์อิน (LinkedIn) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการจ้างงานและหางาน พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559-2564) มีประกาศรับสมัคร “งานสีเขียว” หรือ “งานที่มีทักษะสีเขียว” เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของจำนวนแรงงานสีเขียวหรือมีทักษะสีเขียวซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6 ต่อปี โดยงานสีเขียวที่เติบโตสูงในระยะสั้น มักเป็นงานด้านพลังงานหมุนเวียน เช่น ช่างเทคนิคด้านกังหันลม และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ขณะที่งานสีเขียวที่เติบโตสูงในระยะกลาง มักเป็นงานด้านความยั่งยืน เช่น ผู้จัดการด้านความยั่งยืน และนักนิเวศวิทยา

ในประเทศไทย การจ้างงานสีเขียวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยมีอัตราเติบโตสะสมเฉลี่ยประมาณร้อยละ 1.4 ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556-2565) ทำให้สัดส่วนการจ้างงานสีเขียวของไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 7 ของการจ้างงานทั้งหมด โดยงานสีเขียวมีการจ้างงานอยู่ในหลายสาขา ทั้งนี้สาขาที่มีสัดส่วนแรงงานสีเขียวมาก มักเป็นสาขาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น การจัดการของเสีย เหมืองแร่ พลังงาน และก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม งานสีเขียวในไทยจำนวนมากยังเป็นงานรายได้ต่ำ เช่น งานเก็บขยะ ขณะที่งานสีเขียวที่มีรายได้ดี เช่น งานวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และงานช่างเทคนิคพลังงานหมุนเวียน ยังมีจำนวนน้อย

ในภาพรวม รายได้ของแรงงานสีเขียวสูงกว่างานอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากจบการศึกษาระดับ ปวช. ขึ้นไป จะมีความแตกต่างประมาณร้อยละ 26-50 แต่งานสีเขียวโดยรวมยังมีรายได้ต่ำกว่างานด้าน STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) โดยจากการวิเคราะห์รายได้มัธยฐานของบัณฑิตปริญญาตรีจบใหม่ โดยใช้ข้อมูลจากสำนักปลัดกระทรวง อว. พบว่า ในปี 2563-2565 บัณฑิตปริญญาตรีจบใหม่ที่ทำงานด้าน STEM เช่น นักวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ มีรายได้สูงสุด (2 หมื่นบาทต่อเดือน) รองลงมาคือ ผู้ที่ทำงานสีเขียวด้าน STEM เช่น วิศวกรสิ่งแวดล้อม (1.9 หมื่นบาทต่อเดือน) และผู้ที่ทำงานสีเขียวที่ไม่ใช่ STEM เช่น ผู้จัดการฟาร์มเกษตรกรรม (1.7 หมื่นบาทต่อเดือน) ขณะที่ทำงานอื่นๆ มีรายได้ประมาณ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน

ทีดีอาร์ไอ ได้วิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่จากประกาศรับสมัครงานเกือบล้านตำแหน่งในปี 2565-กลางปี 2566 พบว่า ประกาศหางานมีงานสีเขียวประมาณร้อยละ 7 หรือเกือบ 7 หมื่นตำแหน่ง นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากเว็บไซต์สมัครงานขนาดใหญ่ในช่วงเดือนกันยายน–ครึ่งแรกของเดือนตุลาคม 2566 ชี้ว่า มีทักษะสีเขียวที่ต้องการสูงในหลากหลายสาขา เช่น การจัดการด้านความยั่งยืน วิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน การจัดทำรายงานด้านความยั่งยืน และการบริหารความเสี่ยงด้านความยั่งยืน และยังมีทักษะสีเขียวที่ต้องการสูงในสาขาเฉพาะด้วย เช่น สาขาพลังงานมีทักษะสีเขียวที่ต้องการ เช่น การออกแบบระบบพลังงานแสงอาทิตย์ การจัดการคาร์บอนฟุตพรินท์ และการทำแบบจำลองพลังงาน


ในปัจจุบัน ประเทศไทยยังขาดแคลนแรงงานสีเขียวทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ หากจะเปลี่ยนให้คนไทยได้งานสีเขียวรายได้ดี ประเทศไทยต้องเร่งสร้างทักษะโดยรวมที่สำคัญให้แก่คนไทย ได้แก่

A (Attitude) หมายถึง ทัศนคติที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

S (Skill) หมายถึง ทักษะเฉพาะที่สำคัญ ได้แก่ การสื่อสาร ความสามารถในการปรับตัว ความคิดสร้างสรรค์ และการคิดเชิงออกแบบ (design thinking)

K (Knowledge) หมายถึง ความรู้เชิงเทคนิคด้านวิศวกรรมและเทคนิค หรือด้านวิทยาศาสตร์ (หรือเรียกโดยรวมว่า STEM) หรือด้านการจัดการดำเนินงาน หรือด้านการติดตามประเมินเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

นอกจากนี้ควรมีการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มเติมทักษะสีเขียวที่สำคัญ เช่น ทักษะการจัดการและพัฒนากลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ทักษะเกี่ยวกับพลังงาน การหมุนเวียนทรัพยากรและการลดคาร์บอน (รวมถึงการประเมินโครงการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์) ทักษะด้านโครงสร้างพื้นฐานและการเดินทางสีเขียว (รวมถึงการจัดการและบำรุงรักษารถไฟฟ้า) และทักษะการเงินเพื่อความยั่งยืน (รวมถึงการวิเคราะห์และรายงานผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน)

หากไม่เร่งยกระดับสมรรถนะที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะด้าน STEM ซึ่งขาดแคลนมากในปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการเร่งฝึกอบรมเพื่อเพิ่มเติมทักษะสีเขียวให้คนไทย ประเทศไทยจะปรับเปลี่ยนสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้ยากและช้ากว่าที่กำหนด และจะขาดกลจักรที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งจะทำให้การสร้างงานรายได้ดีเกิดขึ้นน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และที่สำคัญแรงงานจำนวนมากจะตกงานหรือได้งานรายได้ต่ำมาก







ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งดำเนินนโยบายที่สำคัญ ดังนี้

ประการแรก ปรับการพัฒนาแรงงานตามนโยบายเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยสร้างเวทีที่ให้ภาครัฐและภาคเอกชนมาทำงานร่วมกัน และทำให้หน่วยงานรัฐที่อยู่ภายใต้กระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ

ประการที่สอง วางระบบข้อมูลเพื่อระบุทักษะและจัดทำแผนพัฒนา โดยใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ระบุทักษะที่ตลาดต้องการ และจัดทำแผนพัฒนาทักษะแรงงานที่ต้องการรายอุตสาหกรรมทุกปี โดยร่วมหารือใกล้ชิดกับภาคเอกชนและภาคการศึกษาเพื่อจัดลำดับทักษะที่ต้องพัฒนาและออกแบบหลักสูตรรองรับตลาดแรงงานในอนาคต รวมทั้งวิเคราะห์คุณลักษณะและทักษะที่ควรเสริมของแรงงานที่มีความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้าง

ประการที่สาม พัฒนาทักษะ STEM ให้เข้มแข็ง โดยฝึกอบรมผู้สอนให้มีความรู้ความเข้าใจจริง และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียนได้ ร่วมกับปรับการเรียนรู้ให้เป็นแบบสหวิทยาการ โดยเน้นการแก้ปัญหาจริง

และ ประการสุดท้าย ฝึกทักษะแรงงาน โดยใช้แนวทางที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย กล่าวคือ แนวทางแรก การอุดหนุนนายจ้างให้ฝึกทักษะสีเขียวแก่แรงงานในระบบ โดยอุดหนุนค่าเรียนและให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นายจ้างปัจจุบัน แนวทางที่สอง การอุดหนุนการฝึกทักษะสีเขียวให้แรงงานนอกระบบ โดยแจกคูปองฝึกทักษะ ควบคู่กับจัดทำระบบแนะแนวและจับคู่หางาน และแนวทางที่สาม การอุดหนุนการฝึกทักษะเพื่อเปลี่ยนงานให้แก่แรงงานกลุ่มเสี่ยงในธุรกิจสีน้ำตาล โดยช่วยจับคู่หางาน ควบคู่กับการสนับสนุนค่าเรียนและเงินเดือนบางส่วนให้นายจ้างใหม่

บทความโดย ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู
ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ งานสัมมนาสาธารณะประจำปี 2566 ของทีดีอาร์ไอ ในหัวข้อ “ปรับทักษะคนไทย…ทำงานใหม่ในยุคคาร์บอนต่ำ” (ชมรายละเอียดในคลิป)




กำลังโหลดความคิดเห็น