xs
xsm
sm
md
lg

NRF เดินหน้าลดคาร์บอน ชวนเกษตรใช้เทคโนโลยีลดขยะชีวมวล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF
เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของธุรกิจในวันนี้ เพราะภาวะโลกร้อนกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบยิ่งใหญ่ และสามารถกลายเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจได้ ดังนั้น การขับเคลื่อนธุรกิจจึงต้องหาแนวทางและมียุทธศาสตร์เพื่อตอบโจทย์สำคัญนี้ “NRF” หนึ่งในสมาชิกของ UN Global Compact Network Thailand เครือข่ายธุรกิจของไทย เป็นหนึ่งในธุรกิจตื่นตัวอย่างมากและมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริง

นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF กล่าวถึงเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ว่าปัจจุบัน NRF เป็นโรงงานผลิตอาหารเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่บรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ โดยได้รับประกาศนียบัตร รับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) มา 3 ปีแล้ว จึงคาดว่าภายใน ปี ค.ศ. 2025 หรือ 1-2 ปีข้างหน้าจะสามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี ค.ศ.2030 และมุ่งหวังที่จะเป็น “Net Zero Food Product” เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง


“เนื่องจากเราเป็นบริษัทด้านการผลิตอาหาร มีการส่งออกไปในอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย เป็นหลัก ลูกค้าของเราคือซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ซึ่งอยู่ในอเมริกาและยุโรปมีเป้าหมาย Net Zero ในปี 2030 ดังนั้น หากสินค้าของเราสามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ก่อน จะทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ มี loyalty กับสินค้าของเรา นี่คือจุดเริ่มต้น ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการสร้างความแตกต่างอย่างโดดเด่นของสินค้าเรากับสินค้าคู่แข่ง ไม่เพียงคู่ค้าหรือซัพพลายเออร์ต่างๆ แต่ยังรวมถึงผู้บริโภคที่รับรู้จากการโปรโมทของเรา ว่าสินค้าของเราเป็น Net Zero Product ยังไม่มีใครทำได้ในวันนี้ แต่ในวันข้างหน้า คือประโยชน์ใหญ่ ซึ่งต้นทุนสินค้าอาจจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1% แต่ไม่ทำให้ราคาสินค้าเพิ่ม เพราะเรามีมาร์จิ้นมากกว่า 30%”

สำหรับการเป็น The 1st Carbon Negative Company คือการสามารถลดคาร์บอนได้มากกว่าการปล่อย โดยการนำ “เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน” มาใช้นั้น เนื่องจากในช่วง 3- 4 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีความพยายามอย่างมากในการเฟ้นหาเทคโนโลยีเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ให้เร็วที่สุด ซึ่งในตอนแรกมองว่าการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย แต่เมื่อได้ปฎิบัติจริงแล้วพบว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น แนวทางจัดการจึงเป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีจากสตาร์ทอัพที่อเมริกา อินเดีย และยุโรป ประมาณ 3 -4 รายที่เป็นพันธมิตรกำลังร่วมกันดำเนินการ ซึ่งมองว่าจะช่วยให้ทำในสเกลเล็กได้

“หมายความว่าเมื่อดูจากซัพพลายเชน สามารถแยกเป็น 2 ส่วนตามสโคป โดยสโคปแรก คือเกษตรกรรายย่อยระดับครัวเรือน มีพื้นที่ขนาด 3-5 ไร่ ซึ่งวิธีการจัดการลดการปล่อยคือการทำให้เข้าสู่เกษตรอินทรีย์ให้ได้ ส่วนเกษตรกรขนาดกลางที่มีไบโอแมสค่อนข้างมาก เราจะสร้างโรงงานขนาดย่อมและใช้เทคโนโลยี Pyrolysis ซึ่งเป็นการเผาโดยไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย ไม่มีมลพิษและของเสียเกิดขึ้น โดยกำลังเจรจาเพื่อจะทำในอินเดีย ส่วนที่เป็นซัพพลายเอออร์หรือกลุ่มเกษตรกรรายใหญ่ เราต้องใช้เทคโนโลยีซึ่งเราเข้าไปลงทุนในบริษัท Frontline Bio Energy ในอเมริกา”


การใช้เทคโนโลยี Pyrolysis กระบวนการคือนำไบโอแมสไปเผาในสูญญากาศ มี output 3 อย่าง ได้แก่ 1.Bio Carbon เป็นก้อนคล้ายถ่านหิน เมื่อนำไปฝังจะอยู่เกือบพันปี โดยสามารถนำวัสดุการเกษตรที่เหลืออยู่ในไร่มาผลิตแล้วนำไปฝังในไร่ เพื่อจะขาย Carbon Renewable Certificate และนำ CRC มาหักลบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในส่วนที่ไม่สามารถซื้อคาร์บอนเครดิต 2.Bio Oil คล้ายน้ำมันดิบ สามารถนำไปทำได้หลายอย่าง เช่น ทำพื้นถนนเพื่อทดแทนยางมะตอย หรือเป็นเชื้อเพลิงโดยนำไปผสมประมาณ 3% กับน้ำมันในเรือขนส่ง และ 3.Bio Gas ใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าภายในองค์กร เป็นต้น

“นี่คือประโยชน์หลักที่ได้จากเทคโนโลยีนี้ ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะไม่คิดว่าเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดนวัตกรรมเปลี่ยนโลกจะสามารถนำมาใช้จริงได้ เนื่องจากจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ผมไม่คิดว่าใครที่บอกว่ามีเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดนวัตกรรมเปลี่ยนโลกจะทำได้ทัน การเน้นนวัตกรรมเปลี่ยนโลก ถามว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ ต้นทุนต่อตันเท่าไหร่ และจะเอามาใช้จริงยังไง เพราะถ้าทำหลังปี 2030 หรือ 2035 ก็ไม่มีประโยชน์แล้ว เพราะจะไม่ทันเป้าหมาย Net Zero ซึ่งบริษัทต่างๆ ตั้งเป้าไว้ในปี 2030 หรือ 2050 ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือทำตอนนี้ ด้วยโซลูชั่นที่ปฏิบัติได้จริงในไร่ขนาดเล็ก และในอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ได้”

Bio Carbon
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทิ้งท้ายว่า “ข้อเสียของเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก คือราคาคาร์บอนที่เกิดขึ้นจะสูงถึง 400-600 เหรียญต่อตัน แต่ในเวลานี้ยุโรปและอเมริกาขายในราคา 125 เหรียญต่อตัน ทำให้ขายไม่ได้ ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีง่ายๆ แต่ใช้ได้จริงดีกว่า วันนี้เราไม่มีอุสรรคด้านเทคโนโลยี แต่มีในเรื่องการกระจายตัวของเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยทำให้เราไม่สามารถผลิต Bio carbon ในปริมาณมากได้ อีกเรื่องคือความร่วมมือของเกษตรกรรายย่อยยังเป็นอุปสรรค เพราะการเผาเป็นเรื่องง่ายไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่ต้องใช้เวลากับแรงงาน”

“อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยมีเกษตรกรรายย่อยประมาณ 200 ครัวเรือนสนใจร่วมโครงการ หากทำสำเร็จข้อดีคือจะทำให้การใช้เทคโนโลยีเห็นเป็นรูปธรรม สามารถใช้เป็นกลุ่มตัวอย่างหรือต้นแบบของการลดโลกร้อนด้วยการไม่เผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพราะอยากเห็นผู้ประกอบการเร่งร่วมมือกันผลักดันเกษตรกรเข้าร่วมโครงการลดโลกร้อน และอยากให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญและไม่สนับสนุนสินค้าที่มาจากการเผาไร่หรือเพิ่มภาวะโลกร้อน”


กำลังโหลดความคิดเห็น