xs
xsm
sm
md
lg

ม.รังสิต เร่งเครื่องสู่ “มหาวิทยาลัยสีเขียว” ดึงเอสพี กรุ๊ป จัดเต็มโซลูชั่นพลังงานยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 (จากซ้าย)รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ รุจิระยรรยง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายอาคารและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต กับ นายแบรนดอน เจีย กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียของเอสพี กรุ๊ป
มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ เอสพี กรุ๊ป กลุ่มสาธารณูปโภคชั้นนำและผู้ให้บริการโซลูชันพลังงานที่ยั่งยืนในสิงคโปร์และเอเชียแปซิฟิก เดินหน้าเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานสู่ “มหาวิทยาลัยสีเขียว” เพื่อสร้างความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในโครงการ “RSU X SP GROUP GO GREEN” นำโซลูชันพลังงานแบบบูรณาการที่ยั่งยืนมาปรับใช้ให้ครอบคลุมทั้งมหาวิทยาลัย

รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ รุจิระยรรยง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายอาคารและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มหาวิทยาลัยรังสิตมีจุดมุ่งหมายในการเป็น “มหาวิทยาลัยสีเขียว” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงการพัฒนาแบบยั่งยืนที่มีเป้าหมายเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน และบรรลุเป้าหมายสูงสุดคือปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในที่สุด สำหรับการขับเคลื่อนไปสู่ “มหาวิทยาลัยสีเขียว” ของม.รังสิต แบ่งตามแบบ UI-Green Metrics ซึ่งพัฒนาโดย University of Indonesia ในปี 2010 ใช้เป็นแนวทางให้มหาวิทยาลัยต่างๆเปลี่ยนผ่านไปสู่มหาวิทยาลัยที่มีความยั่งยืน (sustainable University) มีทั้งหมด 6 ด้าน1. วิชาการและวิจัย (Education and Research)2. การใช้พื้นที่และโครงสร้างพื้นฐาน(Setting and Infrastructure)3. พลังงานและการเปลี่ยนภูมิอากาศ(Energy and Climate Change)4. ของเสีย(Waste)5. น้ำ(Water) 6. การขนส่ง(Transportation)

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่มหาวิทยาลัยต้องเร่งยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอาคารและพัฒนาเป้าหมายเพื่อความยั่งยืน เพื่อมุ่งมั่นสนับสนุนเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย จากวิสัยทัศน์ ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ที่คำนึงถึงความสำคัญในการอนุรักษ์พลังงาน โดยเฉพาะในยุคเปลี่ยนผ่านพลังงานที่หลายประเทศทั่วโลกร่วมมือกันหันมาใช้พลังงานสะอาด (Energy Transformation) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก

นอกจากนี้ การให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานก่อนเนื่องจากสามารถดำเนินการได้ง่ายและเห็นผลลัพธ์ชัดเจนที่สุด ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงมีการจัดกิจกรรมลดการใช้พลังงาน ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่ใช้ได้ง่ายที่สุด โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2558 มีการเปลี่ยนไปใช้หลอดไฟ LED ซึ่งช่วยประหยัดค่าไฟได้ประมาณปีละ 1.4 ล้านบาท และมีการเปลี่ยน Chiller ในอาคารเก่าที่ใช้งานกว่าสิบปีแล้วช่วยให้เกิดการประหยัดได้ถึงปีละ 2.9 ล้านบาท ดำเนินการร่วมกับแคมเปญของภาครัฐที่ออกมาในแต่ละช่วง และในส่วนนี้ยังได้รางวัลจากกระทรวงพลังงานอีกด้วย อีกทั้งมีการติดตั้งโซลาร์เซล 2 เฟสๆ ละ 1 MWp ทำทีละขั้นเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนก่อน

โครงการ “RSU X SP GROUP GO GREEN”
๐ ยกระดับขับเคลื่อนด้วยระบบพลังงานอัจฉริยะ

ล่าสุด ม.รังสิตได้ร่วมกับ เอสพี กรุ๊ป ยกระดับการดำเนินการ ปัจจุบันเป็นเฟส 3 และปลายทางคาดว่าการปริมาณการจะใช้อยู่ที่ 3.5 – 4 MWp และในปีหน้าวางแผนจะดำเนินการใน 2 เรื่องคือ การเปลี่ยน Chiller และการใช้ระบบการควบคุมดูแลอากาศภายในห้องให้มีความสบายและสอดรับกับจำนวนคนที่อยู่ภายในห้อง ซึ่งเป็นเรื่องการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงาน และจะทำระบบ Distric cooling ระบบจ่ายน้ำเย็นกลาง ซึ่งต้องปรึกษาว่าจะทำได้แค่ไหน แต่พยายามจะดำเนินการในแบบคุ้มค่าที่สุด และอีกส่วนคือการทำ EV Charger ให้สอดรับกับความต้องการ ปัจจุบันมี 2 หัวชาร์จของบริษัทฯ ที่ให้ตู้ไว้ เพราะจำนวนรถ EV ยังมีน้อยมาก และใช้เวลานานหลายชั่วโมงในการชาร์จ ซึ่งต่อไปอาจจะเปิดให้ผู้สนใจเข้ามาลงทุน ทั้งนี้ แผนงานที่กล่าวมาใน 3 – 5 ปีข้างหน้าจะเห็นความคืบหน้าแน่นอน

มหาวิทยาลัยรังสิตพิจารณาคัดเลือก บริษัท สิงคโปร์ เพาวเวอร์ เอนเนอร์จี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เอสพี กรุ๊ป จากผลงานที่ประสบความสำเร็จ รวมถึงแนวคิดและความมุ่งมั่น รวมทั้ง โซลูชันที่ครอบคลุมของบริษัท จึงเชื่อว่าความสำเร็จในการนำโซลูชันพลังงานแบบบูรณาการของเอสพี กรุ๊ป มาปรับใช้ที่มหาวิทยาลัยรังสิตจะช่วยเป็นต้นแบบให้สถาบันการศึกษาอื่นๆ สามารถนำไปปฏิบัติตามได้ โดยโครงการ “RSU X SP GROUP GO GREEN” นำโซลูชันพลังงานแบบบูรณาการที่ยั่งยืนมาปรับใช้ให้ครอบคลุมทั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบไปด้วยการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (PV) พร้อมระบบการจัดการและจัดเก็บพลังงานแบบรวมศูนย์ รวมทั้งโซลูชัน GETTM (Green Energy Tech) ซึ่งเป็นระบบอัจฉริยะสำหรับอาคาร ช่วยให้การใช้พลังงานของอาคารเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้อาคาร โดยหากมหาวิทยาลัยดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2567 โซลูชันเหล่านี้จะช่วยให้มหาวิทยาลัยมีสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด ถึงร้อยละ 21 ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ 1,400 ตันต่อปี

“การขับเคลื่อนภาคพลังงานเพื่อไปสู่มหาวิทยาลัยสีเขียวมีความคืบหน้ามากกว่าส่วนอื่นๆ เพราะมีข้อมูลชัดเจนและทำให้เห็นผลได้ง่ายที่สุด ด้วยบิลค่าไฟที่ต้องจ่ายแต่ละเดือน แต่รูปแบบที่เลือกใช้ต้องมีความคุ้มค่าและเหมาะสมด้วย เราจึงค่อยๆ ทำเป็นเฟส เพราะย้อนไป 6-7 ปีก่อนหากจะติดตั้งโซลาร์เซลต้องใช้เงินประมาณ 50 ล้านบาทเพื่อผลิตไฟ 1 MWp แต่ปัจจุบันราคาลดลงประมาณครึ่งหนึ่งหรืออยู่ที่ประมาณ 20 กว่าล้านบาท อย่างไรก็ตาม เราให้พื้นที่บริษัทมาลงทุนติดตั้ง แล้วขายไฟฟ้าให้เราในราคาและเวลาที่ตกลงกัน เฟส 3 เป็นของเอสพี กรุ๊ป 12 ปี หลังจากนั้นเป็นของเรา ซึ่งปกติโซลาร์เซลมีอายุใช้งาน 25-30 ปี”

การที่ เอสพี กรุ๊ป ได้รับเลือกเพราะมีข้อเสนอที่ดีกว่าบริษัทอื่น ขณะที่รายอื่นให้ส่วนลดเท่านั้น โดยนำเสนอ “นวัตกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์มหาวิทยาลัย” ในคอนเซ็ปต์ Net Zero ด้วยการเสนอให้ “อาคาร 13” เป็น “ต้นแบบอาคารพลังงานสะอาด” มีแหล่งพลังงานสะอาดเพียงพอต่อการใช้ และมีมากพอที่จะเก็บสำรองเพื่อใช้ มีทีวีแสดงผลปริมาณการผลิตเรียลไทม์ สามารถนำมาคำนวณการใช้งานความคุ้มค่า หรือนำข้อมูลเชิงลึกมาศึกษา โดยผลพวงที่ได้จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและเสริมบทบาทการเป็นสถาบันการศึกษาของม.รังสิตสามารถเป็นต้นแบบให้องค์ความรู้กับผู้ที่สนใจ

(จากซ้าย)รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ รุจิระยรรยง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายอาคารและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต กับ นายแบรนดอน เจีย กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียของเอสพี กรุ๊ป
๐ ก้าวสำคัญกับโครงการ “RSU X SP GROUP GO GREEN”

ด้านนายแบรนดอน เจีย กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียของเอสพี กรุ๊ป กล่าวว่า “ความเชี่ยวชาญของเราในการส่งมอบบริการด้านพลังงานแบบบูรณาการที่ครอบคลุมทุกขั้นตอนและสามารถกำหนดเองได้จะช่วยให้อาคารต่างๆ เช่น อาคารสำนักงาน โรงงาน โรงพยาบาล และ มหาวิทยาลัย ซึ่งล้วนมีความต้องการด้านการดำเนินงานและด้านพลังงานที่แตกต่าง ได้รับประโยชน์สูงสุดจากแหล่งพลังงานที่หลากหลาย ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดและช่วยให้บรรลุผลประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วย ดังนั้นความร่วมมือครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยรังสิตเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยสามารถมุ่งสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน และร่วมกันพัฒนาในด้านอื่นๆ เพื่อช่วยขับเคลื่อนการลดปริมาณคาร์บอนในสภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นได้ของประเทศไทย”

ในการส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมดังกล่าว บริษัท สิงคโปร์ เพาวเวอร์ เอนเนอร์จี (ประเทศไทย) จำกัด หรือเอสพี กรุ๊ป และมหาวิทยาลัยรังสิต ยังได้ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับใช้โซลูชันพลังงานแบบบูรณาการที่ยั่งยืนให้มากขึ้นทั่วทั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งรวมถึงระบบการทำความเย็นแบบศูนย์รวม (District Cooling) เพื่อให้ระบบปรับอากาศสามารถประหยัดพลังงานมากขึ้น การเพิ่มพื้นที่การติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงาน รวมทั้งต่อยอดการปรับใช้ชุดระบบการจัดการพลังงานแบบดิจิทัลอัจฉริยะของ GETTM ซึ่งใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการดำเนินการอย่างยั่งยืน รวมถึงยกระดับประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้อาคาร

ภายใต้โครงการ “RSU X SP GROUP GO GREEN” เอสพี กรุ๊ป จะติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ (PV) บนหลังคาขนาด 2 เมกะวัตต์ (MWp) บนอาคาร 9 หลัง และติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ บริเวณสระน้ำ อาคารหอสมุด (อาคาร 7) รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั่วทุกอาคารของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานซึ่งช่วยให้สามารถจ่ายพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ตามความต้องการ โดยคาดว่าระบบโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งเพิ่มจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 2,749 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี เมื่อดำเนินการติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ อาคารที่ตั้งของสำนักงานอาคารและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต (อาคาร 13) จะเป็นอาคารต้นแบบที่ถูกขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ 100 เปอร์เซ็นต์ และจะเป็นอาคารแห่งแรกของสถาบันการศึกษาในประเทศไทยที่ได้รับสถานะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

นอกจากนี้ เอสพี กรุ๊ป ยังนำระบบ GET TM Control ซึ่งเป็นระบบร่วมศึกษาควบคุมคุณภาพสภาพแวดล้อมในอาคารอัจฉริยะมาใช้ศึกษาประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศในอาคารให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งอาคารนำร่อง ได้แก่ พื้นที่ชั้น 2 อาคาร 12/1 และพื้นที่ชั้น 10 อาคาร 11 โดยใช้ระยะเวลาทดลองและสำรวจประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานให้ได้ร้อยละ 40 และยกระดับความสะดวกสบายให้ผู้อาศัยในอาคารได้ร้อยละ 14 โดยโซลูชันดังกล่าวได้ผสานความสามารถของ AI และ IoT เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและควบคุมเครื่องปรับอากาศผ่านการคำนวณจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ จำนวนผู้ใช้อาคารและสภาพแวดล้อมโดยรอบ เพื่อปรับปรุงการไหลเวียนของอากาศให้เหมาะสมและกระจายความเย็นทั่วทั้งพื้นที่ โดยโครงการ “RSU X SP GROUP GO GREEN” และความร่วมมือกันครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่มหาวิทยาลัยรังสิตมุ่งมั่นและตั้งใจขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานอัจฉริยะสู่มหาวิทยาลัยสีเขียวที่ร่วมสร้างความยั่งยืนให้กับโลกต่อไปในอนาคต

โครงการ “RSU X SP GROUP GO GREEN”

โครงการ “RSU X SP GROUP GO GREEN”


กำลังโหลดความคิดเห็น