กรุงเทพมหานครลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ (จีไอแซด) โดยนายไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย และนางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร รักษาราชการแทนปลัดกรุงเทพมหานคร ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้กรอบการทำงานของโครงการการทำงานร่วมกันเพื่อการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CAP SEA) ซึ่งจะช่วยให้กรุงเทพมหานครมีสภาพแวดล้อมที่ดี เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในกรุงเทพมหานครให้ดียิ่งขึ้น
โครงการ CAP SEA (แคป ซี) มีเป้าหมายในการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งเน้นที่กลยุทธ์การป้องกันและเตรียมความพร้อมสำหรับการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ โดยโครงการฯ ได้สนับสนุนประเทศไทยในการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย แผนปฏิบัติการ และส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อป้องกันและลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวรวมถึงขยะบรรจุภัณฑ์
สำหรับการร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในครั้งนี้จะเน้นไปที่การรับมือกับมลพิษที่เกิดจากขยะพลาสติก รวมถึงการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และสร้างความตระหนักรู้ในการจัดการขยะพลาสติก ผ่านการแบ่งปันความรู้ ทรัพยากร และนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่องการพัฒนาสิ่งแวดล้อมยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 – 2570)
นายฮันส์-อูลริช ซืดเบคอุปทูตและหัวหน้าแผนกเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย เน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างไทยและเยอรมนีอันยาวนานและประสบผลสำเร็จว่า “ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา เราได้ร่วมเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและเยอรมันในวาระครบรอบ 160 ปี ภายใต้แนวความคิด “พันธมิตรเพื่อการศึกษาที่ยั่งยืน” โดยความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและเยอรมนีประสบความสำเร็จมาอย่างยาวนานในหลากหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจ การศึกษา การท่องเที่ยว สาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ปัญหาสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ การบริโภคที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืนครบวงจร”
นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร รักษาราชการแทนปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความมุ่งมั่นที่จะบรรลุยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แผนพัฒนากรุงเทพมหานครด้วยการสนับสนุนจาก GIZ “การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการการทำงานร่วมกันเพื่อการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CAP SEA) ถือเป็นการขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการจัดการขยะพลาสติกและขยายต่อยอดการดำเนินการของกรุงเทพมหานครให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของเมือง เพื่อมุ่งให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน”
นายไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย กล่าวขอบคุณรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีสำหรับความร่วมมืออันยาวนาน และเน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและ GIZ ในการรับมือกับวิกฤติสิ่งแวดล้อม “ด้วยประสบการณ์กว่า 60 ปีในประเทศไทย GIZ มีสถานะที่แข็งแกร่งในประเทศ การลงนามในบันทึกความเข้าใจนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในความพยายามของ GIZ ที่จะยกระดับการมีส่วนร่วมในระดับเมือง ด้วยการแลกเปลี่ยนแนวทาง นโยบาย โมเดลธุรกิจ และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด กรุงเทพมหานครจะได้รับข้อมูลเชิงลึกและเสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นด้วยการเพิ่มพูนความรู้ ข้อมูล ทักษะการปฏิบัติ และประสบการณ์”
โครงการ CAP SEA (แคป ซี) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือระดับโลก “Export Initiative Environmental Protection” ซึ่งมีพันธกิจหลักในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อม การลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ในประเทศพันธมิตร และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติ ความปลอดภัยนิวเคลียร์ และการคุ้มครองผู้บริโภค แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV) เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 โดยจะสานต่อความพยายามในการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว โดยมุ่งเน้นที่กลยุทธ์การป้องกันและเตรียมความพร้อมสำหรับการนำกลับมาใช้ใหม่ในระดับเมือง โดยโครงการฯ จะดำเนินการจนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568
ติดตามข้อมูลของโครงการฯ เพิ่มเติมได้ทาง https://www.thai-german-cooperation.info/en_US/the-collaborative-action-for-single-use-plastic-prevention-in-southeast-asia-cap-sea/ และบนแพลตฟอร์ม Greentech Knowledge Hub ของ Export Initiative Environmental Protection: https://greentechknowledgehub.de