จากการที่ประเทศไทยมีการตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุcarbon neutrality ภายในปี 2050 นั้น ภาคไฟฟ้าถือว่าเป็นภาคที่มีส่วนสำคัญที่สุดที่จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายนี้ เนื่องจากการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยมีอัตราสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและทำให้ภาคการผลิตไฟฟ้าถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด
ซึ่งภาคเอกชนได้มีความตื่นตัวเป็นอย่างมากในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยในภาคการผลิตขององค์กรเอกชนชั้นนำได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุ carbon neutrality เร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ เช่นบริษัทในกลุ่ม RE100 ซึ่งหมายความว่า ภาคไฟฟ้าต้องปรับตัวในการลดการปล่อยemission ด้วยเพราะเป็นส่วนสำคัญของภาคการผลิตโดยรวม ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ทางภาครัฐต้องเร่งปฏิรูปภาคไฟฟ้าให้เป็นไฟฟ้าที่มาจากการผลิตโดยเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดมากขึ้น
อย่างไรก็ตามผู้วางแผนนโยบายพลังงานของแต่ละประเทศมาสามารถให้ความสำคัญเฉพาะการทำให้ไฟฟ้ามีความสะอาดได้เพียงด้านเดียว นโยบายพลังงานต้องคำนึงถึงความสมดุลด้านพลังงาน ทั้งทางด้านความมั่นคงเช่นสัดส่วนการนำเข้าเชื้อเพลิง ความมั่งคั่งเช่นราคาค่าไฟ และความยั่งยืนเช่น สัดส่วนไฟฟ้าพลังงานสะอาด จากรายงานการประเมินดัชนีชี้วัดความสมดุลด้านพลังงานประเทศไทยของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน พบว่าประเทศไทยมีแนวโน้มความสมดุลด้านพลังงานลดลงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะด้านราคาค่าไฟและมูลค่าการนำเข้าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าที่ค่อนข้างสูง และเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งก็คือ เวียดนามและอินโดนีเซีย ผลที่ได้ออกมาสอดคล้องกันนั่นคือประเทศไทยควรปรับปรุงในเรื่องราคาไฟฟ้า สำหรับในเรื่องสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานสะอาดนั้นถึงแม้จะไม่ได้แย่นักเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็เป็นสิ่งที่ประเทศควรพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
โดยที่ภาครัฐเองก็ได้ตระหนักถึงในสิ่งนี้ว่าประเทศไทยต้องปรับปรุงเรื่องค่าไฟ และเร่งเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานสะอาด นอกจากจะมีการตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุ carbon neutrality ภายในปี 2050 นั้น ก็ได้เร่งให้ภาคไฟฟ้าเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานสะอาดและทำให้ค่าไฟถูกและเป็นธรรมมากขึ้น โดยการที่ภาคไฟฟ้าจะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย carbon neutrality ได้นั้น การผลิตไฟฟ้าต้องมีสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานสะอาดถึง 74%ของเชื้อเพลิงทั้งหมดในการผลิตไฟฟ้าภายในปี 2050 (จากแผน LT-LEDS) ซึ่งจากร่างแผน PDP 2023 รัฐบาลไทยได้มีการวางนโยบายที่จะช่วยประเทศบรรลุเป้าหมายเช่น การสนับสนุนโครงการโซลาร์ภาคประชาชน การลดและเลิกการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า การกำหนดว่าสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ต้องมีกำลังการผลิตไฟฟ้ามาจากพลังงานสะอาดอย่างต่ำ 50% มีการให้การสนับสนุนเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน และ Hydrogen สำหรับค่าไฟมีการตั้งเป้าหมายเพดานราคาค่าไฟไม่เกิน 5 บาทต่อหน่วยตลอดแผน รวมไปถึงให้การสนับสนุนการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมไฟฟ้าเช่นโครงการ ERC Sandbox แต่อย่างไรก็ตามความพยายามเหล่านี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งในการช่วยให้บรรลุเป้าหมาย carbon neutrality แต่ยังคงไม่เพียงพอ ปัจจัยหลักในการที่จะช่วยให้เป้าหมายเป็นจริงได้มากขึ้นคือการเปิดไฟฟ้าเสรีซึ่งควรกำหนดแน่ชัดในแผน PDP
ถึงแม้ว่าภาครัฐมีการออกนโยบายหลายนโยบายที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย carbon แต่ที่ผ่านมายังมีนโยบายหลายนโยบายที่ถือว่าสวนทางกับเป้าหมายที่ตั้งไว้และกีดกันการเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีจากพลังงานสะอาด โดยสามารถแบ่งนโยบายเหล่านี้ตามห่วงโซ่อุปทานภาคไฟฟ้าได้ดังนี้
ในด้านภาคการผลิต การที่ไทยมีการอนุญาติให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซเพิ่มเติมนั้น จะส่งผลให้ประเทศไทยยังคงต้องพึ่งพาก๊าซเป็นเชื้อพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าต่อไปอีกประมาณ 20 ปีตามอายุเฉลี่ยของโรงก๊าซ นอกจากจะทำให้สัดส่วนไฟฟ้าพลังงานสะอาดอาจไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว อาจส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงในด้นความมั่นคงในระบบพลังงาน เนื่องจากการที่ประเทศต้องพึ่งพิงการนำเข้าก๊าซในการผลิตไฟฟ้าในปริมาณที่ค่อนข้างสูง ในปี 2017 ถึง 2022 สัดส่วนการนำเข้าก๊าซสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 18 ถึงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับการเชื้อเพลิงทั้งหมด ซึ่งถ้าเกิดปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์เชนนำเข้าก๊าซจากพม่าไม่ได้ อาจจะส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ และเมื่อในอนาคตที่อาจต้องมีการเร่งลดบทบาทของโรงไฟฟ้าก๊าซ จะทำให้เกิดความเสี่ยงในด้านการจัดการกับสินทรัพย์โรงไฟฟ้าที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไป
นอกจากนั้น การที่ภาครัฐปรับราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดจากเอกชน ซึ่งทำให้บริษัทพลังงานไทยหลายบริษัทได้ย้ายการลงทุนไปยังเวียดนามโดยสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด ในปี 2020 บริษัทพลังงานไทยได้เข้าไปลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดอยู่ที่ 2,000 MW หรือ ร้อยละ12 ของไฟฟ้าพลังงานสะอาดของเวียดนาม นอกจากทำให้ประเทศเสียโอกาสการแข่งขันในการเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานสะอาดด้วยศักยภาพและทรัพยากรภายในประเทศนั้น ยังทำให้เสียความสามารถในการดึงดูดนักลงทุนที่ต้องการมาลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดในประเทศด้วย
ตัวอย่างนโยบายสุดท้ายที่ถือว่าสวนทางกับเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานสะอาดคือการที่ ภาครัฐพับแผน Net metering ในช่วงท้ายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์จากการอ้างถึงระบบการจัดเก็บภาษีที่ไม่เอื้ออำนวย โดยถือว่าเป็นการลดแรงจูงใจที่สำคัญในการช่วยเร่งการเพิ่มขึ้นของพลังงานสะอาดจากการติดตั้งSolar rooftop เนื่องจากนโยบายNet metering นั้นสามารถช่วยประชาชนประหยัดค่าไฟได้จากการหักลบกลบหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้จากหลังคาบ้านกับที่ใช้จริง
ในด้านภาคการจัดส่ง นโยบายภาครัฐที่ถือว่าไม่สนับสนุนการเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีคือการที่ยังไม่เปิดให้เอกชนเข้าถึงระบบสายส่ง ถึงแม้ว่าคณะกรรมการกิจการพลังงานได้ออกร่างหลักเกณฑ์เชื่อมต่อระบบสายส่งโดยมีการคิดค่าบริการตั้งแต่ต้นปี 2022 จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีนโยบายชัดเจน
ในด้านภาคการจำหน่าย การที่ภาครัฐมีการกำหนดราคาค่าไฟจากการวางโครงสร้างค่าไฟที่ไม่เป็นธรรมได้ส่งผลให้ค่าไฟแพง โดยโครงสร้างค่าไฟที่ไม่เป็นธรรมนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเด็น โดยประเด็นที่1 นั่นคือการที่ภาครัฐมีการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินจริงทำให้มีการอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม และเมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่ได้สูงตามที่คาดการณ์ไว้ทำให้มีโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่องเป็นจำนวนมากส่งผลให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองอยู่ในระดับสูงเกินเกณฑ์ (36.4%) จากเกณฑ์ที่ 15% ซึ่งจากสัญญาที่ภาครัฐทำไว้กับโรงไฟฟ้าเอกชนนั้น (PPA) มีการระบุการให้สิทธ์ค่าความพร้อมจ่าย (Availability payment) แก่เอกชนถึงแม้ไม่มีการเดินเครื่อง ซึ่งค่าความพร้อมจ่ายถูกสะท้อนในค่า FT ที่เป็นส่วนหนึงของค่าไฟ ประเด็นที่ 2 คือการที่ภาครัฐมีการกำหนดราคาต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าอย่างไม่เป็นธรรม กล่าวคือภาคไฟฟ้าใช้ก๊าซราคาแพงเป็นต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ส่วนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ก๊าซต้นทุนราคาถูก โดยก๊าซจากอ่าวไทยซึ่งถือว่าเป็นก๊าซราคาถูกและคุณภาพดีนั้นส่วนหนึ่งถูกส่งไปให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทำให้การผลิตไฟฟฟ้าต้องชดเชยก๊าซส่วนดังกล่าวจากการนำเข้าก๊าซ LNG และก๊าซจากเมียนมาร์ซึ่งมีต้นทุนที่สูงกว่า ถึงแม้ตามหลักการแล้วการจัดสรรก๊าซจากอ่าวไทยให้โรงงานปิโตรเคมีถือว่าเป็นหลักการที่ถูกต้องเนื่องจากก๊าซอ่าวไทยมีส่วนประกอบที่เหมาะสมกับการใช้ในการผลิตสินค้าปิโตรเคมีซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง แต่ความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นจากการที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้นไม่ได้นำส่วนก๊าซอ่าวไทยมาคิดถัวเฉลี่ยนในการกำหนดโครงสร้างต้นทุนราคาก๊าซในการผลิตไฟฟ้า
จะเห็นได้ว่าถึงแม้ภาครัฐจะมีการออกนโยบายที่ช่วยส่งเสริมให้ภาคไฟฟ้ามีสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและด้วยเป้าหมายไฟฟ้าราคาถูกและเป็นธรรม แต่ก็มีหลายนโยบายที่สวนทาง อย่างไรก็ตามจากแรงกดดันทั้งจากองค์กรเอกชนในประเทศ และจากประชาคมโลกทำให้ภาครัฐต้องเร่งทำให้เป้าหมายสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ 74% และด้วยราคาค่าไฟที่ถูกและเป็นธรรมเป็นไปได้จริง ซึ่งการที่จะทำให้เป้าหมายนี้เป็นจริงคือการที่ภาครัฐต้องเร่งปฏิรูประบบไฟฟ้า มุ่งสู่ตลาดไฟฟ้าเสรี
ระบบไฟฟ้าเสรีและระบบไฟฟ้าปัจจุบันของไทยนั้นมีความแตกต่างกัน โดยระบบปัจจุบันเรียกว่าระบบ Enhance single buyer นั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน โดยผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนไม่สามารถขายไฟฟ้าตรงให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าได้ (ยกเว้นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กที่สามารถขายให้นิคมอุตสาหกรรมได้โดยตรง) การจำหน่ายไฟถึงประชาชนต้องผ่านภาครัฐเช่นกันคือการไฟฟ้านครหลวงและภูมิภาค สำหรับในระบบไฟฟ้าเสรี นั้นจะมีผู้ผลิตไฟฟ้ารายหลายแข่งขันประมูลขายไฟฟ้าให้ผู้ค้าปลีกผ่านตลาดกลาง (Wholesale) หลังจากนั้นผู้ค้าปลีกรวมถึงการไฟฟ้านครหลวงและภูมิภาค และผู้ค้าปลีกเอกชนรายอื่นๆรวมถึงกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากครัวเรือนจะทำการแข่งกันขายไฟฟ้าให้กับผู้บริโภคไฟฟ้า โดยผู้บริโภคสามารถมีเสรีเลือกซื้อไฟจากผู้ต้าปลีกไฟฟ้ารายใดก็ได้ผ่านระบบตลาดกลาง (Trading platform) หรือไม่ผ่านตลาดกลางก็ได้ ซึ่งระบบไฟฟ้าเสรีได้ช่วยส่งเสริมการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพในราคาที่เป็นธรรมเนื่องจาก ผู้ผลิตไฟฟ้าที่อยู่ในตลาดไฟฟ้าเสรีที่มีการแข่งขันสูง จะมีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจเพื่อตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในด้านราคาและชนิดรวมถึงคุณภาพ
การเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีนั้นจะสามารถช่วยให้ภาคไฟฟ้าบรรลุเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานสะอาด และด้วยราคาค่าไฟที่เป็นธรรม โดยที่ภาครัฐต้องให้การสนับสนุนในด้าน การเปิดแข่งขันการผลิต เปิดสิทธ์ให้ผู้ผลิตให้สู่ระบบสายส่ง และขายไฟให้ประชาชนด้วยราคาที่เป็นธรรม
ในด้านการเปิดแข่งขันการผลิต นอกจากการลด และเลิกการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าซึ่งมีอยู่ในแผนของรัฐนั้น ภาครัฐควรพิจารณาให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อสนับสนุนเป้าหมายสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ 74% ภายในปี 2050 และลดบทบาทของโรงไฟฟ้าก๊าซ โดยส่วนหนึ่งมาจากการนำ Hydrogen เข้ามาผสมกับก๊าซเพื่อลดปริมาณemissionจากการผลิตไฟฟ้า แต่อย่างไรก็ตามก็จะมีคำถามตามมาว่าโรงไฟฟ้าปัจจุบันจะเป็นอย่างไร เพราะขณะนี้ปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศก็อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นการเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพียงอย่างเดียวไม่สามารถสนับสนุนความสมดุลด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งที่ควรจะดำเนินการไปด้วยกันคือควรมีการเจรจาหาแนวทางร่วมกับโรงไฟฟ้าเอกชนในการปรับสัญญาPPA ให้ลดอายุโรงไฟฟ้าก๊าซ รวมถึงลดค่าความพร้อมจ่ายเนื่องจากความต้องการก๊าซในการผลิตไฟฟ้าจะน้อยลงถ้าสามารถเพิ่มจำนวนโรงไฟฟ้าพลังงานะอาดได้
อย่างไรก็ตามในระยะสั้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดของประเทศไทยยังคงติดปัญหาเรื่องเสถียรภาพการผลิต ซึ่งโรงไฟฟ้าก๊าซยังคงมีหน้าที่สำคัญในการรกษาเสถียรถภาพระบบการผลิตไฟฟ้า แต่ต้องปรับให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งก็คือสามารถเดินเครื่องและหยุดเครื่องได้ไวกว่าเดิม การเพิ่มหรือลดกำลังผลิตของระบบไฟฟ้ามีความรวดเร็วมากขึ้นและสามารถเดินเครื่องได้ต่ำกว่าเดิม เพื่อเสริมกำลังการผลิตเมื่อเวลาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดไม่ได้ตามแผน โดยในระยะยาวเมื่อต้นทุนของเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานรวมกับต้นทุนต่อหน่วยของพลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้าลดลงถึงระดับถูกกว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยจากเชื้อเพลิงก๊าซ บทบาทของโรงไฟฟ้าก๊าซจะลดลง
นอกจากนั้นในด้านการเปิดแข่งขันการผลิต ภาครัฐควรที่จะอนุมัตินโยบาย Net metering โดยในปี 2020 กำลังการผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปอยู่ที่ 350 เมกะวัตต์ต่อปีจากเป้าหมายที่ 3,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2025 ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งให้การสนับสนุน นอกจากมีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากหลังคาบ้าน และรูปแบบธุรกิจที่ช่วยประชาชนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปโดยที่ไม่ต้องอาศัยเงินลงทุนเอง เช่น Solar leasing / Solar PPA หรือสินเชื่อโซลาร์ แต่นโยบายเหล่านี้ยังคงไม่จูงใจมากพอที่จะให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยสิ่งที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจนั่นก็คือการที่ให้ประชาชนเห็นประโยชน์จากการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจากส่วนลดค่าไฟที่มากขึ้น ซึ่งจะได้จากระบบ Net metering
ทางด้านการจัดส่ง ภาครัฐควรที่จะเปิดให้ผู้ผลิตทุกรายเข้าสู่สายส่ง (Third party access) โดยมีการคิดค่าบริการ (Wheeling charge) อย่างเป็นธรรมและพัฒนาระบบให้มีความทันสมัยเพื่อรองรับพลังงานสะอาดที่สูงขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น จัดตั้งศูนย์สั่งดำเนินการตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าเพื่อช่วยให้ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถปรับปริมาณการผลิตไฟฟ้าตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสม มีพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานในระดับสถานีไฟฟ้าเพื่อลดความผันผวนของไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาด เป็นต้น
สุดท้ายในด้านการจำหน่าย ภาครัฐควรสนับสนุนการขายไฟกับประชาชนด้วยราคาที่เป็นธรรม ซึ่งการจำหน่ายไฟในระบบไฟฟ้าเสรีนั้นจะช่วยลดระดับราคาค่าไฟเนื่องจากการที่มีเอกชนมากรายแข่งขันในตลาดและมีความสามารถในการบริหารจัดการที่สามารถรักษาเสถียรภาพของต้นทุน แต่อย่างไรก็ตาม ในระบบตลาดไฟฟ้าเสรีจะส่งผลให้การซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าน้อยลง ทำให้ผู้ซื้อไฟฟ้าจากครัวเรือนที่ผลิตไฟฟ้าเองไม่ได้ต้องรับผิดชอบต้นทุนของระบบไฟฟ้า
นอกจากนั้นการที่ในระยะสั้นประเทศยังคงต้องพึ่งโรงไฟฟ้าก๊าซทำหน้าทีรักษาเสถียรภาพของระบบการผลิตไฟฟ้า ซึ่งโรงไฟฟ้าเหล่านี้มีต้นทุนการก่อสร้าง การบำรุงรักษาที่ผู้ใช้ไฟฟ้าควรร่วมกันรับผิดชอบ ดังนั้นภาครัฐควรมีการพิจารณาออกหลักเกณฑ์และนโยบายที่ให้ ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกรายในประเทศต้องร่วมรับผิดชอบต้นทุนเพื่อความมั่นคงด้านไฟฟ้านี้ โดยอาจแบ่งตามประเภทกิจการ หรือขนาดกำลังไฟฟ้าที่ผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละรายต้องการ ทำให้ในระยะสั้นราคาค่าไฟในระบบตลาดไฟฟ้าแบบเสรีในประเทศไทยอาจจะไม่ได้ถูกกว่าระบบปัจจุบันมากนักเนื่องจากมีต้นทุนค่าความมั่นคงนี้รวมด้วย แต่ในระยะยาวเมื่อเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานเข้ามามีบทบาทมากขึ้นและบทบาทของโรงไฟฟ้าก๊าซที่ช่วยเสริมเสถียรภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดลดลง จะทำให้ต้นทุนค่าความมั่นคงนี้ลดลงและไม่จำเป็นอีกต่อไปซึ่งจะช่วยให้ค่าไฟในระบบตลาดไฟฟ้าแบบเสรีถูกกว่าระบบปัจจุบันอย่างชัดเจนได้
โดยสรุปแล้วการเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานสะอาดโดยให้ค่าไฟอยู่ในราคาที่เป็นธรรมนั้นจะไม่บรรลุผลถ้าภาครัฐไม่เปิดไฟฟ้าเสรี ซี่งสามารถทำให้เกิดขึ้นได้โดยการที่ภาครัฐควรให้การสนับสนุนทั้งระบบไฟฟ้าตั้งแต่ การผลิต การจัดส่งและการจำหน่ายโดยที่ต้องมีการ “เปิดแข่งขันการผลิต” “เปิดให้ผู้ผลิตทุกรายเข้าสู่สายส่ง” และ “ขายไฟกับประชาชนด้วยราคาที่เป็นธรรม” เพื่อให้ภาคไฟฟ้าเป็นแรงสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Carbon neutrality และเป็นส่วนช่วยสำคัญในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บทความโดย ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์
นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
เอกสารอ้างอิง
-สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน. 2022. ปริมาณการใช้ไฟฟ้า และการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์รายภาคเศรษฐกิจ
-สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน. 2022. รายงานการประเมินดัชนีชี้วัดความสมดุลด้านพลังงานประเทศไทย 2020-2022
-การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. 2023. การบริหารจัดการธุรกิจไฟฟ้ายุคใหม่ให้ทันต่อการบริโภคพลังงานไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป
-Thailand long-term low greenhouse gas emission development strategy. 2022 pages 17-24, Office of Natural Resources and Environmental Policy and Planning Ministry of Natural Resources and Environment