ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกำลังเผชิญคลื่นความท้าทายใหม่ที่จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจในภายภาคหน้า ได้แก่ การลดการปล่อยคาร์บอนในการดำเนินธุรกิจ และการมาถึงของ ChatGPT โมเดลภาษาขั้นสูงที่ถูกพัฒนาโดยบริษัท OpenAI ซึ่งสองความท้าทายนี้ ไม่เพียงช่วยสร้างประสิทธิภาพให้แก่ภาคธุรกิจ แต่ยังหมายถึงการมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ธนาคารไทยพาณิชย์ ระดมผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนและเทคโนโลยี ถ่ายทอดโลก ESG เพื่อนำไปสู่ภาคปฏิบัติ รวมถึงการใช้ประโยชน์จาก ChatGPT ในการดำเนินงาน ผ่านสัมมนา “BOOTCAMP เพิ่มกำไร SME อย่างยั่งยืนด้วย Chat GPT & ESG” ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในกลุ่มเทรดดิ้งจำนวน 180 คน ด้วยหวังว่าจะช่วยสร้างแต้มต่อในการแข่งขันบนเวทีการค้าและสร้างผลกำไรที่มั่นคง พร้อมร่วมสร้างสังคมยั่งยืนสู่เป้าหมาย Net Zero 2050
๐ ESG เพื่อเอสเอ็มอีที่ยั่งยืน
นายปรเมศร์ รักการงาน ผู้จัดการ Strategic Management Division ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แนวคิด ESG ประกอบด้วยความรับผิดชอบสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาลในการกำกับดูแล สำหรับภาคธุรกิจนั้น ไม่ใช่การทำให้กำไรน้อยลง แต่เพื่อให้การอยู่รอดทางธุรกิจยาวนานขึ้น มีผลกำไรที่คงที่และแน่นอนมากขึ้น ธนาคารพร้อมสนับสนุนการเงินยั่งยืน (Sustainable finance) ให้ธุรกิจที่ทำ ESG มีความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานและการประกอบกิจการให้สอดคล้องกับการสนับสนุนความยั่งยืน ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการลงมือทำตามแนวคิด ESG จะยิ่งทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการง่ายขึ้นและถูกลง ธนาคารไทยพาณิชย์มีข้อแนะนำเริ่มต้นในการทำ ESG ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่าน 3 แนวทาง ดังนี้
1. เปลี่ยนทุกอย่างที่อยู่ในกระบวนการผลิตและการดำเนินงานให้ใช้ส่วนที่เป็นไฟฟ้ามากที่สุด เช่น การเปลี่ยนยานพาหนะ หรือ รถขนส่งเป็นรถไฟฟ้า
2.เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลส์ ออกแบบและพัฒนาให้เกิดการรียูส การรีไซเคิล และอัพไซเคิล เพื่อลดการใช้ทรัพยากร และลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ
3. ศึกษา Thailand Taxonomy ซึ่งเป็นมาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย เพื่อจัดกลุ่มกิจกรรมของธุรกิจสู่การลดก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบัน Thailand Taxonomy ยังเป็นภาคสมัครใจ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ หากกิจกรรมไหนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำมาซึ่งโอกาสของการเข้าถึงสินเชื่อ หรือ ความช่วยเหลือจากภาครัฐและสถาบันการเงินได้มากขึ้น
๐ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ สร้างโอกาสทางธุรกิจในโลกยุคใหม่
นางสาวภคมน สุภาพพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักรับรองธุรกิจคาร์บอนต่ำ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO กล่าวว่า โลกยุคใหม่หลังจากนี้ ภาคธุรกิจทั่วโลกจะดำเนินกิจการไปพร้อมกับการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวต้องเริ่มจากการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือที่เรียกว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product : CFP) ซึ่ง “ไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่มีระบบรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่สอดคล้องกับมาตรสากล” การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทำให้ภาคธุรกิจทราบปริมาณและแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตน สามารถกำหนดแนวทางดำเนินงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน สามารถเข้าถึงตลาดยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญสินค้าและบริการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ หรือไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นอกจากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์แล้ว เอสเอ็มอี จำเป็นต้องศึกษาวิธีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint of Organization: CFO) เพื่อประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมขององค์กร นำไปสู่หนทางการลดก๊าซเรือนกระจก และสามารถยกระดับไปสู่การชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero
ในเดือนธันวาคม 2566 นี้ TGO จะเปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ สำหรับให้ภาคธุรกิจใช้ในการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร การชดเชยคาร์บอน และใช้บริหารจัดการเพื่อมุ่งสู่ Net Zero ภายในปี 2050 สอดคล้องกับเป้าหมายในระดับสากล
“คาร์บอนฟุตพริ้นท์ เป็นเครื่องมือในการสร้างโอกาสทางธุรกิจ และสร้างมูลค่าให้แก่องค์กร ขณะนี้ องค์กรขนาดใหญ่ในประเทศไทยมากกว่า 500 ราย ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการดำเนินงานเพื่อมุ่ง Carbon Neutrality และ Net Zero นั่นหมายถึง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ค้าขายกับองค์กรดังกล่าว ต้องเร่งดำเนินการด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์ นอกจากนี้ ผู้บริโภคก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเช่นกัน ผลการสำรวจโดย PwC พบว่า แนวคิดของผู้บริโภคปัจจุบัน ไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์กับธุรกิจที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และมูลค่าของกิจการจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังจากมีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่อง Net Zero”
๐ ปรับโมเดลธุรกิจสู่นวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
บริษัท แพค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เอสเอ็มอีที่จัดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศ และนำแนวคิด ESG มาสร้างคุณค่าให้ธุรกิจ จนสามารถเป็นธุรกิจด้านนวัตกรรมประหยัดพลังงาน โดย นางสาวอัจฉรา ปู่มี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำ ESG ได้อย่างน่าสนใจว่า บริษัทเริ่มต้นจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องปรับอากาศ แต่การเป็นตัวแทนจำหน่ายไม่นำมาสู่ความยั่งยืนให้ธุรกิจ จึงให้ความสำคัญกับการนำ ESG มาสร้างเป็นโมเดลให้ธุรกิจ โดยตั้งเป้าว่าใน 3-5 ปีข้างหน้า การดำเนินธุรกิจต้องทำด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงเริ่มจากการศึกษาและทำความเข้าใจองค์กร เพื่อนำมาสู่การลดกระบวนการทำงานที่ใช้พลังงาน และปรับใช้ระบบ Automation เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสร้างโอกาสให้แก่ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงพัฒนานวัตกรรมจากการทำงานของเครื่องปรับอากาศ ด้วยการทำเครื่องทำน้ำร้อนจากเครื่องปรับอากาศ และเป็นการนำพลังงานที่สูญเปล่ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ และได้ประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 1 หมื่นตัน จนได้รับรางวัลด้านนวัตกรรมและความเป็นผู้นำด้านการประหยัดพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำมาซึ่งโอกาสขยายสู่ตลาดต่างประเทศ จากพันธมิตรลูกค้าที่มีแนวคิดเรื่อง ESG เดียวกัน
“การทำ ESG ไม่ใช่เพิ่มต้นทุน แต่เป็นการลดต้นทุนให้กับกระบวนการทำงาน ทั้งยังช่วยให้ธุรกิจสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงโอกาสในการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อีกด้วย และควรให้ความสำคัญในการทำรายงาน ESG บรรจุไว้ควบคู่กับงบการเงินของบริษัทด้วย เพื่อที่ในอนาคตอาจต้องนำข้อมูลดังกล่าวรายงานแก่ผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร”
๐ เสริมประสิทธิภาพองค์กรด้วย ChatGPT
นายอุกฤษฎ์ ตั้งสืบกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท เรียล สมาร์ท จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการการทำการตลาดดิจิทัลชั้นนำของประเทศ ยกให้ ChatGPT เป็นเครื่องมือสำคัญในยุคนี้ที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม เพราะสามารถเสริมประสิทธิภาพให้กับองค์กร และยกระดับระบบปฏิบัติการให้กับธุรกิจในทุกวงการได้จริง พร้อมกันนี้ได้สกัด 5 วิธีสำคัญของการใช้ ChatGPT เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีนำไปปรับใช้ในธุรกิจ
Idea generation หาไอเดีย วิเคราะห์ปัญหา หาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ เพื่อนำไปพัฒนานวัตกรรมและสินค้าใหม่ๆ ที่ธุรกิจเดิมยังไม่มีใครทำ
Market research Business plan และ Branding marketing วิจัยเทรนด์ตลาดเพื่อช่วยวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ วิเคราะห์จุดเด่นที่แตกต่างอย่างชัดเจน เพื่อนำไปสู่การวางแผนกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจ และกำหนดแนวทางสร้างแบรนด์ การสร้างเนื้อหาและแคมเปญการตลาดที่จะสื่อสารกับลูกค้า
Sales and Customer acquisition สร้างช่องทางสำหรับขาย การหาลูกค้า และการสร้างความผูกพันกับลูกค้า
Customer service รับฟังและช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้า รวมทั้งสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า
Scaling and Growth แนะนำวิธีการขยายขนาดธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตระยะยาว
ธนาคารไทยพาณิชย์พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปรับตัวรับกับบริบทใหม่ของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและช่วยให้ธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จึงมุ่งให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งนำเสนอโซลูชั่นเพื่อธุรกิจรักษ์โลก (Sustainable Financing) โดยให้วงเงินสูงสุด 100% ของเงินลงทุน ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 10 ปี (รวมระยะเวลาปลอดเงินต้น 1ปี) ด้วยอัตราดอกเบี้ยปีแรกคงที่ 3.99% ต่อปี และสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถประหยัดพลังงาน วงเงินสูงสุด 30 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 5 ปี