ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติเตือน 2 เมืองหลักภาคเหนือ ‘เชียงใหม่-เชียงราย’ มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับกระทบจากการเกิดแผ่นดินไหวและดินเหลว แนะปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบเพื่อรองรับภัยพิบัติ รวมถึงการออกแบบโครงสร้างและเสริมกำลังอาคารต่างๆ ภายใต้องค์ความรู้จากงานวิจัยให้ทันสมัยและเหมาะสมกับประเทศไทยยิ่งขึ้นในอนาคต
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนางานวิจัยแผ่นดินไหวของประเทศไทย ครั้งที่ 1 ณ ห้องประชุมสามย่านมิตรทาวน์ ซึ่งจัดโดยศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ วช. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อรับฟังรายงานผลงานวิจัยจากนักวิชาการด้านแผ่นดินไหวในประเทศไทย รวมถึงการสัมมนาที่น่าสนใจจากวิทยากรรับเชิญซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และการเสวนาเรื่องการใช้งานของมาตรฐานกรมโยธาธิการและผังเมือง มยผ. 1301/1302-61 ปัญหาและแนวทางแก้ไข โดยมีผู้ร่วมงานจากหลากหลายภาคส่วน อาทิ นักวิจัย วิศวกร และตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
“ประเด็นสำคัญของงานนี้คือการแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ อาทิ การวิเคราะห์ความเสี่ยงแผ่นดินไหวและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเมืองหลัก 2 เมืองทางภาคเหนือ คือ เชียงใหม่และเชียงราย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะทำให้ทราบถึงระดับความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น และสามารถนำไปปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบแผ่นดินไหว รวมถึงผลกระทบด้านอื่น เช่น ความเสี่ยงในการเกิดดินเหลวในบริเวณตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย นอกจากนี้ยังได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ต่าง ๆ อาทิ วิธีการออกแบบโครงสร้าง การปรับปรุงเสริมกำลังอาคาร การตรวจวัดการสั่นไหวอาคาร รวมถึงเวทีการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างนักวิจัยและวิศวกรในภาคปฏิบัติเกี่ยวกับแนวทางการใช้มาตรฐานการออกแบบและทิศทางในการปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบอาคารให้เหมาะสมกับประเทศไทย” ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ กล่าว
ทั้งนี้ คณะวิจัยได้วิเคราะห์ความเสี่ยงแผ่นดินไหวบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย โดยมีบริเวณพื้นที่ศึกษาคือ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีรอยเลื่อนมีพลัง เช่น รอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนแม่ลาว และรอยเลื่อนแม่จัน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดกลางและสร้างความเสียหายแก่อาคารในบริเวณดังกล่าวได้ โดยงานวิจัยมุ่งเน้นในการประเมินความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้จริงกับอาคารในพื้นที่ ซึ่งได้มีการลงพื้นที่สำรวจอาคารต่างๆ อีกทั้งจำลองเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นได้จริงในพื้นที่ศึกษา และผลกระทบจากการขยายตัวของแอ่งดินอ่อน
ด้าน ศ.ดร.นคร ภู่วโรดม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหว ภายใต้โครงการการปรับปรุงมาตรฐาน/แก้ไขมาตรฐานความปลอดภัยอาคารต้านทานแผ่นดินไหวของกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ได้ใช้ข้อมูลงานวิจัยโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งมีประเด็นที่ปรับปรุง 8 เรื่อง คือ 1) การปรับปรุงระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวในรูปของความเร่งตอบสนองเชิงสเปกตรัมทั่วประเทศ 2) การปรับปรุงความเร่งตอบสนองเชิงสเปกตรัมสำหรับการออกแบบที่รวมผลเนื่องจากสภาพชั้นดินอ่อนในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียง 3) การปรับปรุงข้อจำกัดในการใช้โครงต้านแรงดัดแบบความเหนียวจำกัด 4) การปรับปรุงการพิจารณาผลของผนังอิฐก่อต่อพฤติกรรมของอาคารภายใต้แผ่นดินไหว 5) การปรับปรุงข้อกำหนดการออกแบบฐานราก 6) การปรับปรุงการให้รายละเอียดเหล็กเสริม 7) การปรับปรุงวิธีการออกแบบโครงสร้างด้วยวิธีเชิงพลศาสตร์ 8) การปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวให้มีความชัดเจนและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
สำหรับมาตรฐานที่ปรับปรุงแล้วและเริ่มใช้งานไประยะหนึ่ง ได้รับความเห็นจากภาคปฏิบัติและข้อมูลงานวิจัยที่มีมากขึ้น ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์และนักวิจัยและกรมโยธาธิการและผังเมืองจะใช้พิจารณาวางแผนการปรับปรุงและพัฒนามาตรฐานฉบับใหม่ โดยปัจจุบันมีงานวิจัยอีกหลายเรื่องที่กำลังดำเนินการภายใต้การสนับสนุนของ วช. คาดว่าผลที่ได้จะมีประโยชน์และถูกใช้ในการพิจารณาปรับปรุงมาตรฐานใหม่ให้มีความทันสมัยและเหมาะสมยิ่งขึ้นในอนาคต