xs
xsm
sm
md
lg

อิมเมจินไทยแลนด์ฯ จับมือ “แม่ศรีนวล” ศิลปินแห่งชาติ ติวเข้มคนหลายวัย ใช้เพลงลำตัดสื่อสารสุขภาวะลดปัจจัยเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กิจกรรมอบรมเชิงปฎิบัติการ “นักสื่อสารสุขภาวะ  ผ่านวิถีเพลงพื้นบ้าน”
อิมเมจิน ไทยแลนด์ มูฟเม้นท์ ผู้นำขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ ร่วมกับ แหล่งเรียนรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมลำตัดและเพลงพื้นบ้านภาคกลาง พ่อหวังเต๊ะ-แม่ศรีนวล จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฎิบัติการ “นักสื่อสารสุขภาวะ ผ่านวิถีเพลงพื้นบ้าน” ภายใต้ โครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้วยการใช้ลำตัดเป็นเครื่องมือในการสร้างนักสื่อสารสุขภาวะ ทำหน้าที่สร้างสรรค์สื่อ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง

เป้าหมายของกิจกรรมเน้นให้ผู้เข้าร่วมอบรมแต่งเพลงลำตัดสื่อสารสุขภาวะ และสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารได้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง อีกทั้งแม่ศรีนวลต้องการสืบสานการแสดงลำตัดไม่ให้สูญหาย เพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่คู่สังคมไทยตามเจตนารมย์ของพ่อหวังเต๊ะ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมอบรม 30 คน ทั้งเยาวชนไปจนถึงผู้สูงอายุ จากหลากหลายสาขาอาชีพ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมบ้านสวนบางเตย ริเวอร์ไซด์ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

กิจกรรมอบรมเชิงปฎิบัติการ “นักสื่อสารสุขภาวะ  ผ่านวิถีเพลงพื้นบ้าน”
ตลอดกิจกรรม 2 วัน 1 คืน นับช่วงเวลาพิเศษที่มีคุณค่าและความหมายมากมาย อบอวลไปด้วยความอบอุ่น อิ่มใจทั้งผู้ให้และผู้รับ เต็มอิ่มกับแม่ศรีนวล ขำอาจ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ศิลปะพื้นบ้าน-ลำตัด) ปี2562 พี่ปุ๊ก นิรามัย นิมา ลูกสาว รวมถึงคณะลูกศิษย์ ที่ขนเอาความรู้มาถ่ายทอดแบบไม่มีกั๊ก จบค่ายแต่ละทีมสามารถแต่งเพลงตำลัดสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาวะเป็น พร้อมแสดงบนเวที ถ่ายทอดผลงานออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางสังคม(ประเทศไทย) และ Imagine Thailand Movement กล่าวว่า เป้าหมายการอบรมวันนี้เราจะชวนกันมาเรียนรู้เทคนิคการสื่อสาร เรื่องราวดีๆ ผ่านเพลงพื้นบ้าน ที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้จากแม่ศรีนวล เพื่อนำไปเผยแพร่เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนรอบข้าง แน่นอนว่าจบค่ายนี้ทุกคนจะทำหน้าที่นักสื่อสารสุขภาวะ นำความรู้จากค่ายไปต่อยอด สร้างสรรค์สื่อสุขภาวะใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพต่อไป เพราะยุคสมัยนี้สุขภาวะเป็นเรื่องสำคัญ ทุกคนต้องมีสุขภาวะดีทั้งกาย และใจ และการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

กิจกรรมอบรมเชิงปฎิบัติการ “นักสื่อสารสุขภาวะ  ผ่านวิถีเพลงพื้นบ้าน”
“เสาหลัก 4 เสาที่จะทำให้เกิดสุขภาวะ ประกอบด้วย เสาแรก คือการตระหนักรู้ เป็นการรู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึกของตัวเราเอง เพื่อให้สามารถแสดงออกต่อคนรอบข้างได้อย่างเหมาะสม เสาหลักที่สอง คือการเชื่อมโยงกับคนรอบข้าง เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม จึงสำคัญที่เราจะต้องอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่เรารัก คนที่รักเรา เสาที่สามคือ การรู้จักตนเอง รู้จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง รู้ว่าเราไม่สมบูรณ์แบบ เราอาจจะมีความสามารถอะไรพิเศษบางอย่าง แต่เราไม่ได้เก่งในทุกเรื่อง เมื่อเราผิด เราพลาด เราจะสามารถเรียนรู้และพัฒนาต่อได้ และเสาที่สี่ เป้าหมายของชีวิต ความหมายของชีวิต การรู้จักคุณค่าของตนเอง การรู้ว่าเราตื่นขึ้นมาเพื่อทำอะไร สร้างประโยชน์อะไรให้ใครได้บ้าง 4 เสาหลักสุขภาวะ ถือเป็นกรอบความคิด แนวทางที่สำคัญที่จะสร้างให้เรามีสุขภาวะได้ครับ” ดร.อุดม กล่าว

ด้าน แม่ศรีนวล ขำอาจ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง กล่าวว่า ดีใจที่อิมเมจินสนับสนุนในการจัดค่ายครั้งนี้ มีคนหลากหลายวัย หลายอาชีพเข้ามาร่วมเรียนรู้ ที่น่าดีใจคือคนที่เป็นครู เพราะพ่อหวังเต๊ะย้ำให้ฝึกครู เนื่องจากครูจะเป็นผู้ถ่ายทอดไปสู่เด็ก ครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ละทีมแต่งเพลงกันเก่งมาก ซึ่งได้บอกผู้มาเข้าร่วมอบรมว่า สิ่งสำคัญคือการเอาชนะใจตัวเอง ถ้าชนะได้จะสามารถเลิกสิ่งไม่ดีทั้งหมดได้ ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด บุหรี่ หรือเหล้า และการทำให้เกิดพื้นที่สุขภาวะนั้นครอบครัวต้องมาที่หนึ่งรวมทั้งคนรอบข้างด้วย

แม่ศรีนวล ขำอาจ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง
ส่วน นางยุภา ปรีชานุกูล หรือครูยะฮ์ วัย 63 ปี หัวหน้ากิจกรรมชมรมผู้สูงอายุ ต.หน้าไม้ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ผู้เข้าร่วมอบรม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยมาเข้าค่ายลำตัดแม่ศรีนวล 2 ครั้ง และสมัยนั้นพ่อหวังเต๊ะยังมีชีวิต ท่านเคยบอกไว้ว่าให้สืบสานเพลงลำตัดไว้ ต้องสอนเด็กเพื่อไม่ให้ลืมรากเหง้าของตัวเอง ก่อนหน้านี้ตนได้นำลำตัดไปบูรณาการกับทางรพ.สต.หน้าไม้ ด้วยการนำเพลงพื้นบ้านไปประยุกต์กับกิจกรรมต่างๆ เช่น การรณรงค์เรื่องโรคอัลไซเมอร์ มีการแต่งเพลงให้ผู้สูงอายุร้อง ส่วนการมาอบรมครั้งนี้ทำให้ได้แนวทางการเขียนเพลง เพื่อให้สอดคล้องกับงานที่ทำอยู่ ซึ่งเพลงลำตัดและเพลงฉ่อยสามารถนำไปสื่อเรื่องสุขภาวะ และบูรณาการกับทุกวิชาได้หมด

“น้องกาฟิว” พีรพัฒน์ โพบาทะ นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนมัธยมนครรังสิต กล่าวว่า ตนเพิ่งเข้าค่ายลำตัดเป็นครั้งแรก เคยแสดงลำตัดมาบ้างแล้วจึงสนใจ มาเรียนเพิ่มเติม ตั้งใจว่าจบม.6 จะไปเรียนต่อสาขาดนตรีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี การมาอบรมครั้งนี้ได้รับความรู้เยอะมาก ในเรื่องการแต่งเพลงลำตัดและเพลงฉ่อย อย่างเช่น การเรียบเรียงคำให้ถูกต้องคล้องจองกัน เรื่องพื้นที่สุขภาวะกับลำตัดเป็นเรื่องเดียวกันได้ ซึ่งการแสดง การชมลำตัดทำให้เกิดความสุข ความสนุกสนาน การมีสุขภาพจิตที่ดีจะทำให้สุขภาพกายดีไปด้วย อีกทั้งการแต่งเพลงลำตัด หรือเพลงฉ่อยสามารถนำเสนอเรื่องพวกนี้เข้าไปได้ด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวการสร้างสังคมสุขภาวะกับ Imagine Thailand Movement ได้ทาง Facebook Page : Imagine Thailand Movement และ Website https://www.imaginethailandmovement.com

กิจกรรมอบรมเชิงปฎิบัติการ “นักสื่อสารสุขภาวะ  ผ่านวิถีเพลงพื้นบ้าน”

กิจกรรมอบรมเชิงปฎิบัติการ “นักสื่อสารสุขภาวะ  ผ่านวิถีเพลงพื้นบ้าน”

กิจกรรมอบรมเชิงปฎิบัติการ “นักสื่อสารสุขภาวะ  ผ่านวิถีเพลงพื้นบ้าน”


กำลังโหลดความคิดเห็น