xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยกรุงศรี เผย 3 ปัจจัยท้าทาย “ตลาดคาร์บอนเครดิตในไทย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิจัยกรุงศรีเผยแพร่บทวิจัย Research Intelligence “คาร์บอนเครดิต กลไกพิชิตเป้าหมายความยั่งยืน“ โดยประเมินสถานการณ์และทิศทางตลาดคาร์บอนเครดิตของไทย ตลอดจนโอกาสและความท้าทายที่อาจจะเกิดขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว

อ่านบทวิจัย ฉบับเต็ม เจาะลึก
“คาร์บอนเครดิต” กลไกพิชิตเป้าหมายความยั่งยืน


แม้ว่าปัจจุบันตลาดคาร์บอนเครดิตในไทยจะยังมีขนาดเล็ก แต่ก็มีทิศทางเติบโตอย่างก้าวกระโดดทั้งด้านปริมาณและราคา เมื่อมองไปข้างหน้า ตลาดคาร์บอนเครดิตยังมีโอกาสเติบโตได้ดี จากการมุ่งไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนขององค์กร และประเทศต่างๆ

ทั้งนี้ 3 ปัจจัยสำคัญที่เป็นความท้าทายของประเทศไทย คือ


1) ต้นทุนและความคุ้มค่าของโครงการคาร์บอนเครดิต
แม้ตลาดคาร์บอนเครดิตจะมีทิศทางเติบโตขึ้นในไทย แต่มีข้อจำกัดที่สำคัญคือ ปัจจุบันการซื้อขายคาร์บอนเครดิตยังเป็นภาคสมัครใจ ทำให้มีเพียงผู้สนใจหรือมีความสามารถทางการเงินเท่านั้นที่พัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต เนื่องจากการจัดทำโครงการลดคาร์บอนมีต้นทุนทุกขั้นตอน ตั้งแต่ค่าจัดทำเอกสารหรือดำเนินโครงการ ค่าตรวจวัดและจัดเก็บข้อมูล เช่น อุปกรณ์ตรวจวัดและบันทึก ค่าวางแปลง ค่าจ้างผู้ตรวจสอบความใช้ได้และผู้ทวนสอบ ซึ่งคิดในอัตราบาท/วันทำงานต่อคน (man-day) และขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความซับซ้อนของการตรวจวัด ขนาดพื้นที่โครงการ นอกจากนี้ยังมีค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียนโครงการ (5,000-10,000 บาท/โครงการ) และการรับรองเครดิตจากโครงการ (3,000-10,000 บาท/คำขอ) ที่ต้องชำระให้กับ อบก. ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ประมาณการค่าใช้จ่ายโครงการป่าใม้ ซึ่งมีระยะเวลาคิดเครดิตรอบละ 10 ปี และป่าแต่ละประเภทมีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนต่างกัน จึงให้ปริมาณคาร์บอนเครดิตต่างกัน โดยป่าเศรษฐกิจที่เป็นไม้โตเร็ว เช่น กระถินเทพา พื้นที่ 100 ไร่ จะมีต้นทุนเฉลี่ยตลอด 10 ปีอยู่ที่ 90 บาท/tCO2e ซึ่งต่ำกว่าราคาขายเฉลี่ยคาร์บอนเครดิตจากป่าไม้ในปัจจุบันที่ 184 บาท/tCO2e แต่หากลงทุนปลูกป่าประเภทอื่นด้วยพื้นที่ 100 ไร่เท่ากัน อาทิ ป่าบก และป่าเศรษฐกิจที่เป็นไม้โตช้า จะมีต้นทุนของคาร์บอนเครดิตสูงกว่าราคาขายเฉลี่ย สะท้อนว่าหากต้องการปลูกป่าที่โตช้า ต้องดำเนินการในพื้นที่ขนาดใหญ่จึงจะคุ้มทุน เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยจะลดลงเมื่อขนาดของพื้นที่ป่าใหญ่ขึ้น ดังตารางที่ 3

นอกจากนี้ ต้นทุนของโครงการปลูกป่าจะสูงในปีแรกๆ และจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป เช่น ในกรณีปลูกป่าบก (พรรณไม้โตช้า) 1,000 ไร่ ต้นทุนต่อหน่วย ณ ปีที่ 3, 6 และ 10 จะอยู่ที่ 209, 104 และ 78 บาท/tCO2e ตามลำดับ40 หากเปรียบเทียบกับราคาขายปัจจุบัน สะท้อนว่าโครงการลักษณะนี้ต้องใช้เวลานานกว่าโครงการจะคุ้มทุน ด้วยต้นทุนรวมของโครงการที่ค่อนข้างสูงและระยะเวลาคืนทุนโดยเฉลี่ยที่นาน จึงเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ต้องการพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต โดยเฉพาะผู้พัฒนารายเล็ก หรือชุมชนที่มีงบประมาณน้อย อย่างไรก็ดี ผู้สนใจสร้างคาร์บอนเครดิตสามารถรวมกลุ่มเพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาดได้ เช่น รวมที่ดินหลายแปลงเพื่อปลูกป่า และจ้างที่ปรึกษาหรือ VVB ร่วมกัน

2) ความพร้อมด้านระบบนิเวศ มาตรฐาน และการกำกับดูแลตลาด
ปัจจุบันราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทยยังอยู่ในช่วงกว้างในแต่ละประเภทโครงการ ซึ่งขึ้นอยู่กับการต่อรองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย บวกกับคุณภาพของคาร์บอนเครดิตเป็นหลัก ในขณะที่การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์ม (FTIX) ยังอยู่ในวงจำกัดและมีราคาขายที่ต่ำ โดยมูลค่าการซื้อขาย ณ 11 กันยายน 2566 อยู่ที่ 616,845 tCO2e คิดเป็นเพียง 1% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นคาร์บอนเครดิตจากพลังงานชีวมวล แต่มีราคาเฉลี่ยเพียง 48 บาท/tCO2e เท่านั้น ดังนั้นจะเห็นว่าแม้ในภาพรวมราคาคาร์บอนเครดิตจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่มองลึกลงไปยังค่อนข้างผันผวนตามประเภทเครดิต และขณะนี้ยังไม่มีการกำกับดูแลเรื่องราคา ซึ่งนับเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากหากราคาต่ำเกินไปก็จะไม่จูงใจให้เกิดการสร้างคาร์บอนเครดิต ในทางตรงข้าม ราคาที่สูงเกินไปก็ทำให้คาร์บอนเครดิตน่าสนใจน้อยลง และผู้ซื้ออาจหันมาลงทุนลดก๊าซเรือนกระจกด้วยตนเอง
นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องมาตรฐานการรับรองคาร์บอนเครดิตก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายหากไทยต้องการรองรับความต้องการจากต่างประเทศ เช่น ปัจจุบันคาร์บอนเครดิตจากมาตรฐาน T-VER ของไทยยังไม่สามารถใช้ชดเชยภายใต้ CORSIA ได้ แต่เมื่อปี 2565 อบก. ได้จับมือกับ Verra ร่วมพัฒนา Premium T-VER ให้เป็นมาตรฐานที่ยอมรับโดย CORSIA อย่างไรก็ดี เมื่อมาตรฐานในการรับรองคาร์บอนเครดิตมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นก็จะเป็นอุปสรรคสำหรับผู้พัฒนาโครงการที่มีประสบการณ์และเงินทุนน้อยกว่า

3) การบังคับใช้กฎหมายและนโยบายสีเขียว
ด้วยตลาดคาร์บอนในไทยเป็นภาคสมัครใจจึงยังไม่มีแรงขับเคลื่อนให้ขยายขนาดได้เหมือนกับตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ไทยยังไม่มีกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับอื่นๆ เช่น ภาษีคาร์บอน และระบบ ETS ซึ่งโดยทั่วไปแล้วกลไกภาคบังคับเหล่านี้จะช่วยให้ความต้องการคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้นในกรณีที่สามารถนำคาร์บอนเครดิตไปชดเชยเพื่อลดต้นทุนของกลไกราคาภาคบังคับในประเทศได้ ดังนั้น หลายๆ ประเทศจึงมีตลาดคาร์บอนเครดิตควบคู่กับภาษีคาร์บอนและ/หรือ ETS ซึ่งราคาคาร์บอนในกลไกเหล่านี้จะมีความเชื่อมโยงกับราคาคาร์บอนเครดิตด้วย

นอกจากนี้ ไทยยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายที่ผลักดันให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง หลายภาคส่วนจึงยังไม่มีแรงกระตุ้นให้ดำเนินการวัด เก็บข้อมูล ลด หรือชดเชยการปล่อยคาร์บอน ทำให้ตลาดคาร์บอนเครดิตไทยยังมีขนาดเล็ก อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามต่อไปว่าเมื่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. (กฎหมายโลกร้อน) ผ่านการเห็นชอบและมีผลบังคับใช้ จะช่วยให้ตลาดคาร์บอนเครดิตไทยเติบโตขึ้นได้มากน้อยเพียงใด


มุมมองวิจัยกรุงศรี: ตลาดคาร์บอนเครดิตที่เติบโตท่ามกลางโอกาสของผู้เล่นทุกภาคส่วน

ทิศทางตลาดคาร์บอนเครดิตของโลก


เมื่อมองไปข้างหน้า ตลาดคาร์บอนเครดิตทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามการแข่งขันเพื่อมุ่งไปสู่ Net Zero โดย McKinsey & Company คาดการณ์ว่าความต้องการคาร์บอนเครดิตจะอยู่ที่ 1,500-2,000 MtCO2e/ปี ภายในปี 2573 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 15 เท่าจากปี 256341 ทั้งนี้ตลาดจะถูกขับเคลื่อนโดยหน่วยงานที่ตระหนักและต้องการชดเชยการปล่อยคาร์บอน เพื่อแสดงให้ลูกค้าเห็นถึงความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม โดยผู้บริโภคจะมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มความต้องการคาร์บอนเครดิตด้วย สะท้อนจากผลสำรวจของ Boston Consulting Group ที่พบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่พร้อมที่จะเปลี่ยนไปหาแบรนด์ที่สามารถชดเชยคาร์บอนจากการซื้อสินค้าหรือบริการได้ โดยเฉพาะในธุรกิจการขนส่งโดยรถไฟและเครื่องบิน42 ทั้งนี้ ความต้องการคาร์บอนเครดิตจะมาจากบริษัทขนาดใหญ่ เช่น Disney, Microsoft และ Salesforce.com43 เป็นสำคัญ ในขณะที่การปลูกป่าหรือการดูดซับคาร์บอนจากธรรมชาติจะเป็นแหล่งที่มาหลักของคาร์บอนเครดิตในอนาคต

ทิศทางตลาดคาร์บอนเครดิตในไทย


ตลาดคาร์บอนเครดิตไทยมีศักยภาพในการเติบโตอีกมหาศาลเช่นเดียวกับตลาดโลก เพราะไทยเองก็ตั้งเป้าหมายสอดคล้องกับนานาประเทศ ในด้านอุปสงค์ อบก. ประมาณการว่าความต้องการคาร์บอนเครดิตในไทยจะอยู่ที่ราว 182-197 MtCO2e/ปี ในปี 2573 ซึ่งปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการชดเชยคาร์บอนขององค์กรต่างๆ ทั้งในภาคพลังงาน การเงิน การท่องเที่ยว การจัดประชุม รวมถึงกฎระเบียบการบินระหว่างประเทศอย่าง CORSIA เป็นสำคัญ โดยความต้องการจะมาจากผู้เล่นในประเทศและต่างประเทศที่มุ่งไปสู่เป้าหมายแห่งความยั่งยืนพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ เทคโนโลยีด้านการวัดการปล่อยคาร์บอนที่ดีขึ้น ประกอบกับกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ เช่น CBAM ที่กำหนดให้ผู้ส่งออกต้องวัดคาร์บอนของสินค้า จะผลักดันให้องค์กรต่างๆ รู้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนของตนเองมากขึ้น และมีแนวโน้มนำไปสู่การชดเชยคาร์บอนหรือซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อเป้าหมายขององค์กรได้

อย่างไรก็ตาม ด้วยความต้องการที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ตลาดคาร์บอนเครดิตไทยมีแนวโน้มอยู่ในภาวะขาดแคลนอุปทาน (Supply Shortage) ในอนาคต สะท้อนจากปริมาณคาร์บอนเครดิตที่คาดว่าจะผลิตได้ในปี 2573 อยู่ที่เพียง 6.86 MtCO2e/ปี แม้ว่าในระยะถัดไปคาร์บอนเครดิตจะมาจากกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน การขนส่ง เกษตรกรรมและป่าไม้ โดยเฉพาะภาคป่าไม้ที่จะมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งสร้างคาร์บอนเครดิตในปริมาณและคุณภาพสูง แต่ด้วยข้อจำกัดด้านต้นทุนที่สูงของโครงการคาร์บอนเครดิต ทำให้เป็นอุปสรรคของผู้เล่นหน้าใหม่ที่ไม่ใช่ผู้เล่นรายใหญ่ ที่อาจต้องใช้เงินลงทุนต่อหน่วยสูงในขณะที่ราคาขายเฉลี่ยยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ การกำกับดูแลราคาที่เหมาะสมที่ช่วยให้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกสามารถเกิดขึ้นได้ รวมถึงแพลตฟอร์มที่ช่วยจับคู่ผู้ซื้อและผู้ขายยังเป็นช่องว่างที่อาจทำให้ผู้ผลิตคาร์บอนเครดิตยังไม่ตัดสินใจเข้าสู่ตลาด




โอกาสของผู้เล่นทุกภาคส่วน

ท่ามกลางปัจจัยส่งเสริมและข้อจำกัดในตลาดคาร์บอนเครดิตไทยข้างต้น นำมาซึ่งโอกาสของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนในการร่วมกันผลักดันตลาดคาร์บอนเครดิตไทย โดยผู้พัฒนาคาร์บอนเครดิต (Supply) จะมีโอกาสจากความต้องการที่เติบโตทั้งในและต่างประเทศ จากเดิมที่อาจจะจับคู่กับผู้ซื้อได้ยากผ่านการเจรจาแบบ OTC แต่เมื่อแพลตฟอร์มซื้อขายพัฒนาขึ้น ประกอบกับการมีตัวกลาง (Intermediary) ที่รับซื้อคาร์บอนเครดิตหรือทำหน้าที่เป็นช่องทางซื้อขาย จะช่วยให้การขายสะดวกยิ่งขึ้น โดยตัวกลางเหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นหลังจากเห็นช่องว่างของระบบซื้อขาย รวมถึงแนวโน้มอุปสงค์และอุปทานที่ขยายตัว ในขณะที่ผู้ซื้อคาร์บอนเครดิต (Demand) ไม่ว่าจะเป็นองค์กร บุคคล หรือรัฐบาล จากทั้งในและต่างประเทศ จะมีส่วนเพิ่มความต้องการในตลาดคาร์บอนเครดิตของไทย และเป็นผู้ผลักดันให้เกิดโครงการลดคาร์บอนที่มีคุณภาพสูง นอกจากนี้ ผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ (Third Party) เช่น ผู้ตรวจสอบและทวนสอบโครงการ บริษัทที่วัดการปล่อยคาร์บอน และที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม จะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มาแรงในยุคเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งจะได้รับอานิสงส์จากทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย

ทั้งนี้ ผู้ดำเนินนโยบายรวมถึงผู้กำหนดมาตรฐานและรับรองจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางและขับเคลื่อนตลาดคาร์บอนเครดิตไทยให้ไปได้ไกลยิ่งขึ้น ด้วยการพัฒนาระบบนิเวศของตลาด ทั้งระบบการซื้อขายที่มีประสิทธิภาพในการรองรับปริมาณการซื้อขายที่คาดว่าจะเติบโตขึ้น และมาตรฐานของเครดิตที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะเมื่อไทยจะมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของภูมิภาคอาเซียน ในขณะเดียวกันต้องสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้โครงการคาร์บอนเครดิตมีความคุ้มทุนยิ่งขึ้น รวมไปถึงการผลักดันให้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ กฎหมายโลกร้อน มีผลบังคับใช้ เพื่อเร่งเครื่องการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ในขณะที่ภาคการเงินก็สามารถเข้าไปมีบทบาทในทุกตำแหน่งของระบบนิเวศคาร์บอนเครดิตเช่นกัน

ตราบใดที่ถนนทุกเส้นมุ่งไปที่ความยั่งยืน มุมมองต่อตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยก็ยังคงเป็นภาพบวก เนื่องจากศักยภาพในการขยายตัวของตลาดได้ดึงดูดให้ผู้เล่นเข้าร่วมมากยิ่งขึ้น และการทำงานร่วมกันของแต่ละภาคส่วนภายใต้การพัฒนาระบบนิเวศและการกำกับที่ดีนี้เอง จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ตลาดคาร์บอนเครดิตไทยเติบโตได้อย่างแท้จริง

อ้างอิง https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/carbon-credit-2023


กำลังโหลดความคิดเห็น