xs
xsm
sm
md
lg

ส่อง “เครือซีพี” องค์กรแถวหน้า TCNN เร่งเครื่องใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2030

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



• เครือซีพี แบบอย่างของการขับเคลื่อนองค์กรแถวหน้า เพื่อลดคาร์บอนของประเทศไทย ซึ่งแสดงถึงเจตนารมณ์ในการลงมือปฏิบัติจริง


•เร่งเครื่องทุกทาง เพื่อบรรลุเป้าการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2030 ตามภารกิจมุ่งสู่ Net Zero Emissions


•ล่าสุด อบก.ประกาศผลการประเมินและจัดระดับการรับรอง “องค์กรนำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก (CALO)” ประจำปี 2566 และเครือซีพี เป็น 1 ใน 16 องค์กร

ณ ปัจจุบัน มีองค์กรเข้าร่วมเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network หรือ TCNN แล้วทั้งสิ้น 509 องค์กร (อ้างอิง https://tcnn.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=YUc5dFpRPT0) ตามวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น ชุมชน ในการยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งนำโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.

ทั้งนี้องค์กรขนาดใหญ่ ระดับแถวหน้าของประเทศไทย อย่างเช่น กลุ่มปตท.ธนาคารกสิกรไทย นั่นรวมถึงเครือซีพี จัดว่าเป็นกลุ่มองค์กรชั้นนำที่แสดงถึงเจตนารมณ์และการลงมือดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทำให้การขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก เป็นไปตามเป้าหมายของประเทศไทย และประชาคมโลก คือ เป้า Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions

นอกจากนี้ยังตอบโจทย์แนวทางของภาครัฐที่กำลังขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมให้เกิดโครงการเพิ่มพูนการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก จากกิจกรรมปลูกป่าธรรมชาติที่สามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ได้ ผ่านการจูงใจด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตให้กับผู้พัฒนาโครงการต่อภาครัฐ ในสัดส่วน 90 :10 ซึ่งมีโอกาสประสบผลสำเร็จ


เครือซีพี ลุย Net Zero
ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ปี พ.ศ. 2573

นายสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกรรมการคณะกรรมการเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย กล่าวว่าในปีนี้เป็นปีแรกที่เครือซีพีได้จัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ หรือ Charoen Pokphand Group's Climate-Related Risk Management Report โดยอ้างอิงจากTask Force on Climate-Related Financial Disclosure: TCFD เพื่อวิเคราะห์การบริหารความเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานทั้งในส่วนของระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว เพื่อแสดงความโปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสีย

นอกจากนี้เครือฯ ยังได้ร่วมขึ้นเวทีระดับโลกในการประกาศเจตนารมณ์ Race to Zero ผ่านโครงการ Business Ambition for 1.5 องศาC และแสดงความมุ่งมั่นในการกำหนดเป้าหมายระยะยาวเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ตลอดห่วงโซ่อุปทานภายในปี 2050

"เครือซีพี" ได้มีการวางปัจจัยแห่งความสำเร็จ หรือ Key Success Factors ในการพลิกโฉมนำองค์กรสู่ Net Zero ดังนี้


1. ผู้นำมีส่วนสำคัญในการกำหนดเป้าหมายและนโยบายที่ชัดเจนในการสะท้อนความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก


2.ต้องมีการประเมินวัดผล ติดตามการดำเนินงาน และต้องเปิดเผยผลการประเมินทุกปี


3. อาศัยกลไกตลาด มีการวิเคราะห์ต้นทุนและเทคโนโลยีที่เหมาะสม


4.เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกกลุ่มธุรกิจต้องปรับตัวและนำมาพัฒนาองค์กรร่วมกับคู่ค้า เกษตรกร และผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง


และ 5. ต้องสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการนำสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้"

ในการลดก๊าซเรือนกระจกของเครือมี 6 เรื่องหลักด้วยกัน คือ 1. พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ต้องมาจากพลังงานหมุนเวียน 2. การพัฒนาการใช้ลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด 3. การใช้พลังงานในภาคขนส่งและโลจิสติกส์ 4. การพัฒนาฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่า 5. ลดก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมในภาคเกษตรกรรม 6. การจัดการของเสียและน้ำเสีย

วิธีการไปสู่เป้าหมายของเครือฯ จึงไม่ใช่แค่การปรับฐานการผลิตหรือโมเดลธุรกิจภายในองค์กรเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือการเข้าร่วมมือกับคู่ค้า (supplier) ยิ่งกว่านั้นคือต้องหันไปใช้ ‘พลังงานสะอาด’ และพลังงานหมุนเวียนในแทบทุกกระบวนการผลิตขององค์กร

เครือเจริญโภคภัณฑ์จึงตั้งเป้าหมายเป็นองค์กรความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2030 ( พ.ศ.2573) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) ครอบคลุมถึงการตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่คุณค่า ของเครือซีพีทั้ง 21 ประเทศ 14 กลุ่ม

ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ คณะกรรมการบริหารความยั่งยืน จึงได้กำหนดแผนเพิ่มเติม ตามแนวทาง Science-based Targets (SBT) โดยมีเป้าหมายระยะสั้น ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก Scope 1 และ Scope 2 อยู่ที่ 50% และ Scope 3 ตั้งเป้าหมายลดอยู่ที่ 25 % ภายในปี 2573 จากเดิมที่กำหนดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบข่ายที่ 1 และขอบข่ายที่ 2 ลง 42 % และในขอบข่ายที่ 3 ลง 25% ภายในปี 2573 จากปีฐาน 2564

สำหรับการขับเคลื่อนนั้น มีการปรับแผนโดยจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 100 % ภายในปี 2573 จากเดิมที่กำหนด 30 % ซึ่งปัจจุบันเครือซีพีมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 15 %
ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ทั้งในรูปแบบ การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop)

ส่วนที่ติดตั้งบนดิน (On Ground) และส่วนที่ติดตั้งแผงแสงอาทิตย์บนนํ้า (Solar Floating) ในปี 2565 มีการติดตั้ง Solar PV มีกำลังการผลิตรวมกว่า 153 MW สามารถประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ 257,899 MWh/ปี หรือประมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้มากกว่า 0.12 ล้านตัน CO2e รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและดำเนินโครงการอนุรักษ์พลังงานควบคู่ไปด้วย

“ที่ผ่านมามีจำนวนสถานที่ติดตั้้ง แผงโซลาร์เซลล์มากกว่า 5,000 แห่ง (โรงงาน ศูนย์กระจายสินค้า ร้าน 7-Eleven สถานี ฐานและชุมสาย) เทียบเท่าพลังงานที่ใช้ 0.56 ล้านกิกะจูล ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงได้ 0.12 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า”

เขากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ มีการนำเชื้้อเพลิงชีวมวลมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยกลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารมีนโยบายยกเลิกการใช้ถ่านหินทั้งหมด และหันมาใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล เช่น ไม้สับ แกลบ กากถั่วเหลือง และซังข้าวโพด เป็นต้น สำหรับการผลิตไอนํ้าใน 106 โรงงาน เทียบเท่าพลังงานที่ใช้ 4.94 ล้านกิกะจูล ช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 0.47 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

อีกทั้ง การนำมูลสัตว์และนํ้าเสียมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าและไอนํ้า ใน 252 ฟาร์ม เทียบเท่าพลังงานที่ใช้ 1.05 ล้านกิกะจูล ช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 0.17 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า รวมถึงการซื้อใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) จำนวน 265,000 REC คิดเป็นปริมาณลดกก๊าซเรือนกระจก 0.12 ล้านตันคาร์บอนได ออกไซด์เทียบเท่า

รวมถึงการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในการขนส่งจากเครือฯ และคู่ค้าธุรกิจเพิ่มมากขึ้น จากปี 2565 มีจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าในการขนส่งกว่า 800 คัน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 2,914 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าการปลูกป่าได้กว่า 278,000 ต้นต่อปี และยังได้มีการติดตั้งสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้กับลูกค้าที่สายธุรกิจค้าปลีก โดยเครือซีพีมีแผนงานที่จะขยายการติดตั้งสถานีชาร์จเพิ่มอีก 100 สาขา จากปัจจุบันมีจำนวน 24 แห่ง รองรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้า 1,013 คัน

ขณะเดียวกันเครือซีพี ยังดำเนินการดูซับกักเก็บก๊าซเรือนกระจก โดยการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ ด้วยเป้าหมายการปลูกป่า 20 ล้านต้น ภายในปี 2025 (พ.ศ. 2568) ซึ่งในปัจจุบันดำเนินการปลูกแล้วราว 8.2 ล้านตัน อาทิ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ดำเนินการปลูกป่าแล้ว 14,189 ไร่ จากเป้าหมาย 5 หมื่นไร่ในปี 2573 เป็นต้น


เดินตาม 5 แนวทางของซีอีโอ สู่ 3 เป้าหมายที่ท้าทาย

ส่วนเป้าหมายที่ท้าทายมากที่เครือซีพีจะบรรลุให้ได้ ตอนนี้มี 3 เรื่อง คือ Carbon neutrality 2030, Net zero 2050 กับอีกเป้าที่สำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งของ Net zero 2050 คือ Zero waste 2030 เรื่องขยะของเสีย

ในขณะที่ Carbon neutrality ของประเทศไทยอยู่ที่ปี 2050 ของเครือซีพีจะเร็วกว่า 20 ปี Net zero ของประเทศไทยอยู่ที่ปี 2065 ของเครือซีพีจะเร็วกว่า 15 ปี

อีกข้อหนึ่งที่เครือซีพีให้ความสำคัญ และเป็นตัวที่จะขับเคลื่อนโลกอย่างยืน คือ การศึกษา จะทำอย่างไรเพื่อส่งเสริม สนับสนุนการศึกษา การเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านสื่อผ่านวิธีต่างๆ เราตั้งเป้าให้สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพตลอดชีวิต 50 ล้านคนทั่วโลก

ทั้งนี้ 5 ข้อสำคัญที่ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ CEO ของเรา ให้เป็นแนวทางในการดำเนินงานที่ต้องเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร รวมถึงการไปสู่ Net zero คือ

1) commitment ของผู้นำองค์กร ของไทยเราเอง เราเห็นแล้วว่านายกรัฐมนตรีให้ commitment กับ UN และองค์กรทั้งหลาย ในส่วนขององค์กรเองเราก็มี commitment ในองค์กร ไล่ไปถึงผู้นำในแต่ละระดับด้วยที่ต้องรับผิดชอบเป้าหมายร่วมกัน

2) ความโปร่งใส เป็นเรื่องการติดตามความก้าวหน้าเทียบกับเป้าหมายของเรา บางข้อเราอาจจะทำไม่ได้ตามเป้าหมาย บางข้อทำได้ตามเป้าหมาย ดีกว่าเป้าหมาย แย่กว่าเป้าหมาย เราก็ต้องทำรายงานอย่างโปร่งใสว่าสิ่งไหนเราทำได้ดี/ไม่ดี

3) Market mechanism ที่เราพูดเรื่องต้นทุน บางอย่างเป็นต้นทุนที่ทำให้เกิด saving บางอย่างก็เป็นต้นทุนที่สูงอยู่ แต่ก็มีโอกาสสร้างทางธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นในอนาคต ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

4) เทคโนโลยีกับนวัตกรรม เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ อย่างที่เรียนว่าตัวที่ต้นทุนยังสูง เราก็ต้องการนวัตกรรมมาทำให้มันลดลงมา สุดท้าย

5) ความร่วมมือและมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ตรงนี้สำคัญมาก และเป็น 1 ใน 17 ข้อ SDGs (Sustainable Development Goals) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ คือ partnership พันธมิตรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างที่เราคุยกันมาตลอดในเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก การลดของเราเองเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่การจะไปสู่เป้าหมาย Net zero ของโลก เรายังมีสิ่งที่ต้องทำร่วมกันตลอดห่วงโซ่อีกมากซึ่งเป็นพันธกิจที่จะต้องร่วมมือกัน

“โดยส่วนตัวผมคิดว่า ณ เวลานี้ ความท้าทายเป็นเรื่องของเวลาและต้นทุน คือเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพราะเราเหลือเวลาน้อยลงเรื่อยๆ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มาตอบโจทย์ จากแต่ก่อน 10 ปี ต้องให้เหลือ 2 ปี จากห้องแล็ปมาสู่ commercialize ให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถนำมาใช้ได้เร็วที่สุด”




สำหรับการเข้าร่วมเครือข่าย TCNN ของซีพี ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ตอนนี้มีหลายบริษัทในเครือซีพีที่เป็นสมาชิกในเครือข่าย TCNN นอกจากบริษัทแม่แล้ว CPF, CPI, CPALL, TRUE ก็เป็นสมาชิก

“ผมคิดว่าส่วนหนึ่งที่เราทำมาตลอดคือเรื่องการพัฒนา กฎเกณฑ์การรับรอง อย่างที่เรียนว่าการลดก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กรเป็นสิ่งที่เราจัดการเองได้ แต่ภายนอกองค์กร ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานข้างนอก ถ้าเรามีกลไก เครือข่ายต่างๆ ทำให้ผู้ประกอบการไทยตระหนักรู้ความสำคัญในเรื่องนี้ และจับมือร่วมกันทำ ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์ที่ตามมาจากการดำเนินการของเครือข่าย TCNN”

นอกจากความตระหนักรู้ต่างๆ ยังมีองค์ความรู้อีกมากที่ตามมา อาจจะมีการพัฒนาเครื่องมือให้องค์กรสมาชิกเอาไปให้บริษัทในห่วงโซ่อุปทานของเขาเอาไปใช้ต่อได้ ผมว่าตรงนี้เป็นประโยชน์ทวีคูณ เพราะแต่ละบริษัทมีคู่ค้าเยอะ ทำให้มีโอกาสการสื่อสารที่ขยายไปได้เรื่อยๆ ซึ่งจะเป็นอิมแพคที่จะตามมาเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย แล้วก็น่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวไปสู่ Carbon neutrality 2050 และ Net zero 2065


กำลังโหลดความคิดเห็น