xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ โชว์ CUiHub ปั้นธุรกิจนวัตกรรม มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบ. มุ่งสูตรสำเร็จ “3 C” สร้างยูนิคอร์นไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จุฬาฯ ประกาศความสำเร็จ CUiHub เผย 7 ปี สร้างผู้ประกอบการกว่า 5,000 ราย ปั้นสตาร์ทอัพกว่า 350 ทีม มีมูลค่าตลาดกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติเพิ่มเป็น 100 เหรียญสหรัฐ ภายในปี 2026 มุ่งใช้สูตรสำเร็จ“3 C” Coach-Cash-Connection เพิ่ม Scale Up และสร้าง Unicorn พร้อมขยายความร่วมมือพันธมิตรรอบด้านทั้งสถาบันการศึกษา กลุ่มธุรกิจ และภาครัฐ หวังสร้างเศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคงควบคู่สังคมยั่งยืน

ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา จุฬาฯ สร้างระบบนิเวศนวัตกรรมและทักษะความเป็นผู้ประกอบการให้กับอาจารย์ นิสิต รวมทั้งศิษย์เก่าให้มีโอกาสได้สร้างธุรกิจฐานนวัตกรรมเกิดใหม่ โดยนำความรู้จากมหาวิทยาลัยทั้งที่ได้เรียนและจากการทำวิจัยออกสู่รูปแบบนวัตกรรมและเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ใหม่หรือจ้างงานที่มีคุณภาพให้กับประเทศไทย รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย Global Chief Innovation Officer จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนนวัตกรรมของจุฬาฯ และกล่าวถึงการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ว่า “เพราะเด็กในโลกอนาคตอยากเป็นผู้ประกอบการ เราจึงมอบทักษะการเป็นผู้ประกอบการที่ได้จากการลงมือทดลองทำธุรกิจสำคัญมาก และทุกธุรกิจอยากได้พนักงานที่มีทักษะความเป็นผู้ประกอบการซึ่งเป็นคนที่สร้างประโยชน์อย่างมืออาชีพ ทุกบริษัทอยากได้พนักงานที่คิดเป็น ทำเป็น สื่อสารได้ นี่คือวิธีการสร้างบัณฑิตแห่งอนาคตที่เรากำลังพยายามทำในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา”


สำหรับผลลัพธ์ที่ได้คือ CU Innovation Hub สามารถสร้างผู้ประกอบการได้มากกว่า 5,000 คน มีทีมนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการบ่มเพาะมากกว่า 354 ทีม และมี student club ที่เป็น entrepreneurship club มากกว่า 12 คลับ โดยธุรกิจที่เกิดขึ้นหรือสตาร์ทอัพมีมูลค่าตลาดประมาณ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท และในปีที่ผ่านมามีความพยายามดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันสตาร์ทอัพที่ได้รับการบ่มเพาะสามารถระดมทุนได้มากกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 350 ล้านบาท สามารถสร้างประโยชน์ให้กับคนไทยมากกว่า 4 ล้านคน โดยเป้าหมายใน 3 ปีข้างหน้า หรือในปีค.ศ.2026 ธุรกิจที่เกจะสร้างมูลค่าตลาดให้ได้ 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือให้มียูนิคอร์นเกิดขึ้นซึ่งเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดมากถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และอยากให้ธุรกิจที่ระดมทุนจากต่างประเทศจาก 10 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มเป็น 100 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 10 เท่า

รศ.ดร.ณัฐชา ย้ำว่า สิ่งที่ได้แน่นอนคือประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพราะธุรกิจที่สร้างมูลค่ามากเช่นนี้จะนำไปสู่งานใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ การจ้างงาน รายได้จากภาษี และรายได้ที่หมุนเวียนในประเทศ ขณะที่ มหาวิทยาลัยได้ผู้นำแห่งอนาคต หรือ Future Leader และสามารถนำงานวิจัยมาสร้างเป็นนวัตกรรมและสร้างธุรกิจซึ่งเกิดผลกระทบที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้จริงๆ เพราะที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมมากมาย แต่ประชาชนมองว่าไม่ได้รับประโยชน์

แต่ด้วย start up และ enterprise ที่เกิดขึ้น จะทำให้ประชาชนได้เห็นถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจริงๆ เช่น ViaBus ซึ่งได้รับรางวัลมากมาย และประชาชนที่ได้ใช้แอปฯ นี้ชื่นชมมาที่จุฬาฯ อย่างมาก เพราะช่วยแก้ปัญหาที่เป็น pain point ได้ดีมาก หรือนวัตกรรมเส้นโปรตีนไข่ขาว EggyDay ที่ช่วยคนป่วยที่จำเป็นต้องกินโปรตีน ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการมีทางเลือกในการรับประทานอาหารได้อย่างมีความสุข เพราะสามารถนำเส้นโปรตีนไข่ขาวไปประกอบอาหารได้หลากหลาย ซึ่งเป็นเป้าหมายของ CU Innovation Hub ในการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้สังคมไทย ผ่านการเรียนรู้และความคิดที่สร้างสรรค์จาก 7 ปีก่อนที่ฝันไว้ วันนี้เกิดเป็นความจริง


ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสก้าวไปสู่เป้าหมายในอนาคต เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUiHub) กระทรวง อว. ได้จัดงาน “Chula Deep Tech Demo Day 2023” ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีการนําเสนองานวิจัยจาก 9 กลุ่มสตาร์ทอัพ ได้แก่ Increbio, TannD, Hiveground, EngineLife, Baiya Phytopharm, Mineed technology, Nabsolute, CELLMIDI, CrystalLyte เพื่อสตาร์ทอัพไทยที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูงได้โชว์ศักยภาพต่อ Venture Capital หรือนักลงทุนต่างชาติที่ลงทะเบียนมาร่วมงานประมาณ 800 รายจากทั่วโลก เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ สิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น ฯลฯ

รศ.ดร.ณัฐชา กล่าวถึงมุมมองของนักลงทุนต่างชาติต่อสตาร์ทอัพของไทยว่า จากการได้พูดคุยกับนักลงทุนสหรัฐฯ ไม่รู้ว่าประเทศไทยมี Deep Tech ไม่คิดว่าสตาร์ทอัพไทยจะมีความสามารถด้านนี้ ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงมีการนำเสนอธุรกิจสตาร์ทอัพและนำทีม CU Innovation Hub ไป pitching ในเวทีต่างๆ เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติได้เห็น เช่น Nabsolute ทีมจากจุฬาฯ ซึ่งชนะรอบ Apec เป็นตัวแทนเอเปคไปพิชงาน SelectUSA ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และได้รับคำชมอย่างมากกับการนำเสนอเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์เชิงลึก ที่ไม่ใช่แค่ business model เท่านั้น แต่มีงานวิจัยเชิงลึกรองรับ มีการจดสิทธิบัตรรับรอง คนอื่นลอกเลียนแบบไม่ได้

เนื่องจากชื่อเสียงในด้านนี้ของประเทศไทยยังไม่เป็นที่รับรู้ในระดับโลก แม้สตาร์ทอัพไทยจะมีความสามารถไม่แพ้ต่างชาติ แต่อุปสรรคสำคัญมาจากการสื่อสารภาษาอังกฤษของสตาร์ทอัพไทยยังทำได้ไม่ดี จึงไม่สามารถถ่ายทอดความเก่งออกมาได้อย่างแท้จริง รศ.ดร.ณัฐชากล่าวและย้ำว่า “สำหรับอาจารย์ของเราสื่อสารภาษาอังกฤษได้ แต่นิสิตยังมีปัญหา คือภาษาสำคัญมาก เพราต่อให้ของเราดีแค่ไหน แต่จะขายไม่ออก เราต้องฝึกการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษอย่างมาก ฝึกเล่าเรื่อง ซึ่ง CUiHub มีการฝึกอย่างมาก เพื่อให้เราไปถึงเป้าหมาย”


นอกจากนี้ ยังใช้โอกาสจากที่ได้ไปอยู่อเมริกาประมาณ 1 ปีครึ่ง ทำงานวิจัยโดยเก็บข้อมูล Accelerator ในอเมริกา และไปเป็นพาร์ทเนอร์กับ Founder Institute ซึ่งเป็น Accelerator ที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา มีเครือข่ายนักลงทุนมากที่สุดในโลก และมีโอกาสร่วมประชุม รวมทั้งได้สัมภาษณ์เพื่อให้ได้คำตอบว่าเขาทำให้สตาร์ทอัพหรือนวัตกรรมเกิดเป็นธุรกิจเชิงพาณิชย์ได้อย่างไร และยังได้สัมภาษณ์ Center of Advance Innovation (CAI) เป็น Accelerator นำผลงานวิจัยจาก NIH ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยทางการแพทย์อันดับ 1 ของอเมริกาที่มีสิทธิบัตรมากที่สุด ไปสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ ทั้งยังไปศึกษาระบบ TEDCO ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตเป็น scale up”

การเก็บข้อมูลจนได้เป็นข้อสรุปและเรียบเรียงไว้ในหนังสือเรื่อง Accelerating Scale Up Nation เพื่อให้มีในระบบนิเวศที่ช่วยให้เกิด scale up คือธุรกิจมีรายได้เติบโตแบบก้าวกระโดด ในขณะที่ใช้ทรัพยากรเพิ่มเพียงเล็กน้อย เช่น สามารถขยายธุรกิจไปต่างประเทศ และสร้างรายได้จำนวนมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกประเทศต้องการ พบว่าจะต้องมีสูตรสำเร็จ หรือ Key Success Factor 3 C ได้แก่ C - Coach คือการมีระบบพี่เลี้ยงที่คอยดูแลแต่ละระยะของการเติบโต โดยสามารถเปลี่ยนพี่เลี้ยงให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงของการเติบโต C – Cash หรือ Capital Risk Fund คือ กองทุนที่กล้าเสี่ยงกับความล้มเหลว ซึ่งในอเมริกามีจำนวนมาก แต่ในไทยมีน้อยมาก ซึ่งในส่วนนี้มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเป็นผู้ดำเนินการให้กับสตาร์ทอัพเพื่อลดความเสี่ยงของธุรกิจลง เพื่อให้นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้นกับการลงทุน โดยมหาวิทยาลัยร่วมลงทุนด้วย โดยล่าสุดจุฬาฯ มีการประกาศระเบียบการร่วมลงทุนจากมหาวิทยาลัย

“เพราะ matching fund จากมหาวิทยาลัยต้องเกิดขึ้น ต้องร่วมลงทุน ลองนึกภาพลูกเราหรือธุรกิจที่บ่มเพาะจนเติบโตมาอย่างดี แต่พ่อแม่หรือมหาวิทยาลัยไม่ให้เงินสนับสนุนเลย นั่นแปลว่าไม่เชื่อว่าเก่งจริงใช่หรือไม่ แล้วใครจะยอมลงทุนให้ ดังนั้น ต้องเริ่มที่พ่อแม่หรือมหาวิทยาลัย โดยไม่ได้ให้กับทุกคน แต่ให้กับคนที่เรามั่นใจว่าจะสำเร็จได้ในอนาคต ไม่เช่นนั้นก็ต้องกลับไปบ่มเพาะใหม่ให้มีความพร้อมเพียงพอ ซึ่งจุฬาฯ มี CU Enterprise ซึ่งเป็นโฮลดิ้งคอมปานี เป็นผู้ร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพของเรา และไปพาร์ทเนอร์กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ให้ร่วมเป็น matching fund เช่น กองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ หรือ INNOVATION ONE หรือ VC ต่างๆ”


และสุดท้าย C - Connection คือการช่วยให้ธุรกิจเติบโตแบบ exponential เหมือนเป็นการช่วยหาพันธมิตรที่เหมาะสม ให้ทุกจุดสำคัญหรือที่สตาร์ทอัพต้องการ เช่น การผลิต การขาย ฯลฯ นี่คือบทบาทของ Accelerator และ Holding Company ซึ่งมหาวิทยาลัยต้องเข้าไปช่วย สำหรับสตาร์ทอัพที่อยู่ภายใต้ CU Innovation Hub กับ CU Enterprise มีอัตราความสำเร็จอยู่ที่ 80% เพราะใช้สูตรสำเร็จ 3 C ในวันนี้จึงเห็นความสำเร็จเกิดขึ้นแล้ว และจะขยายโอกาสต่อไป

“เบื้องหลังความสำเร็จของสตาร์ทอัพในอเมริกาและที่อื่นๆ แน่นอนว่ามาจากสูตร 3 C สำหรับจุฬาฯ เป็นความภูมิใจที่มาถูกทาง เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้ประเทศไทย ก้าวต่อไปคือการช่วยมหาวิทยาลัยอื่นๆ ให้มากขึ้น เพื่อให้สตาร์ทอัพที่มีศักยภาพได้มีโอกาสเติบโตยิ่งขึ้น วันนี้ทีมงานของราทำอยู่แล้ว แต่จะขยายขึ้นอีก ด้วยสูตรสำเร็จนี้“รศ.ดร.ณัฐช






กำลังโหลดความคิดเห็น