xs
xsm
sm
md
lg

“สปริงเคิล” เปลี่ยนโฉมขวดน้ำดื่ม 3 ดีไซน์ใหม่ "ธารน้ำแข็งขั้วโลก" บันดาลใจ ลดสิ่งไม่จำเป็น ง่ายต่อการรีไซเคิล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมรภูมิน้ำดื่มยังคงเป็นตลาด Red Ocean ที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด แต่สำหรับ “สปริงเคิล” (Sprinkle) เป็นแบรนด์ที่ชอบสร้างสรรค์ความแปลกใหม่ให้กับวงการน้ำดื่มอยู่เสมอ ด้วยจุดแข็งด้านดีไซน์ จากการสร้างแบรนด์ด้วยกลยุทธ์ ‘Underdog’ หรือการตลาดมวยรอง ที่ไม่เน้นทำสินค้าหรือวาง Positioning แข่งกับเจ้าตลาดโดยตรง แต่เน้นนำเสนอความแตกต่างและเพิ่มทางเลือกใหม่เพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้เลือกแบรนด์ และจากที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า “สปริงเคิล” (Sprinkle) ประสบความสำเร็จในการจำหน่ายขวดน้ำแบบใสรวมถึงคอลเลกชั่นลิมิเต็ดมาโดยตลอด

ล่าสุด “สปริงเคิล” (Sprinkle) ประกาศเปลี่ยนโฉมขวดดีไซน์ใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจจากภาวะโลกร้อน ภายใต้แนวคิดที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้บริโภค โดยขวดน้ำดีไซน์ใหม่นี้ยังมาในคอนเซ็ปต์ ‘REDESIGN TO REDUCE’ ซึ่งเป็นดีไซน์ที่ลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออก ให้เหลือเพียงสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น ไม่มีฉลากซึ่งเป็นขยะส่วนเกิน ไม่มีสีเจือปนซึ่งสร้างภาระให้กับการรีไซเคิล และยังง่ายต่อการแยกขยะเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับโลก

กฤตวิทย์ เลาหธนาพร กรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม วอเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่มแบรนด์สปริงเคิล กล่าวว่า “ขวดน้ำ 3 ดีไซน์นี้ได้แรงบันดาลใจมาจากปัญหาภาวะโลกร้อนที่รุนแรงและใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกวัน ผ่านการนำเรื่องราวการละลายของธารน้ำแข็งขั้วโลกมาเป็นตัวแทนในการสะท้อนปัญหาโลกร้อนให้คนได้ตระหนักรู้มากขึ้น โดยขวดแรกจะเป็นขวดที่มีลวดลายของธารน้ำแข็งที่ยังสมบูรณ์อยู่ ขวดต่อมาจะเป็นดีไซน์ของธารน้ำแข็งที่เริ่มละลาย และขวดสุดท้ายจะเป็นธารน้ำแข็งที่ละลายหมดแล้วเหลือเพียงน้ำแข็งบริเวณตรงกลางที่เป็นโลโก้แบรนด์ ซึ่งในขั้นตอนการออกแบบเราคำนึงถึงทุกๆ มิติรอบด้าน เพื่อให้ตอบโจทย์ในสิ่งที่แบรนด์ตั้งใจจะสื่อสารได้มากที่สุด เราเลือกใช้ขวดใส ไม่มีสี ไม่มีฉลาก เพื่อลดการใช้พลาสติกให้เหลือเพียงชิ้นเดียว สามารถรีไซเคิลได้ง่าย และมีประสิทธิภาพในการถูกรีไซเคิลได้สูงที่สุด (Recyclability) และอีกหนึ่งขั้นตอนที่แตกต่างจากคู่แข่งคือเราเป็นเจ้าแรกที่สามารถพิมพ์ข้อมูลตามที่สำนักงานอาหารและยากำหนดลงบนขวดผลิตภัณฑ์ได้ ด้วยเทคนิคการพิมพ์อิงค์เจ็ทแทนการใช้ฉลากพลาสติก โดยหมึกอิงค์เจ็ทสามารถล้างออกได้ในกระบวนการรีไซเคิลตามปกติ ซึ่งแตกต่างจากขวดสปริงเคิลแบบเดิมที่มีการสกรีน หรือขวดลิมิเต็ดที่เป็นขวดสีซึ่งรีไซเคิลจริงได้ยาก เราได้นำปัญหาเหล่านี้มาเป็นโจทย์หลักในการออกแบบขวดสปริงเคิลดีไซน์ใหม่ ที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของสปริงเคิลเอาไว้ และสามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ง่ายที่สุด”


ด้าน กิติยา เมษินทรีย์ กรรมการบริหาร บจก.เบทเทอร์ ช้อยส์ ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำดื่มแบรนด์สปริงเคิล เสริมเรื่องกลยุทธ์การตลาดว่า “หลายแบรนด์ในท้องตลาดมักจะชูจุดเด่นในเรื่องของคุณภาพน้ำดื่มหรือพรีเซนเตอร์ แต่สปริงเคิลจะเน้นที่เรื่องราวของขวดดีไซน์ใหม่ที่นำเสนอเรื่องราวของภาวะโลกร้อน เพราะครั้งนี้นับว่าเป็นการพลิกโฉมของแบรนด์เลยก็ว่าได้ สิ่งที่เราต้องสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าของสปริงเคิลคือสร้างความเข้าใจในการปรับโฉมดีไซน์ว่าเราเปลี่ยนเพราะอะไร ดีกว่าขวดเดิมอย่างไร เพราะกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของเราจะคุ้นชินกับคอลเลกชั่นลิมิเต็ดที่มีสีสันสดใส ส่วนการขยายฐานลูกค้าเราก็จะเข้าถึงกลุ่มคนที่รักษ์โลกเพิ่มขึ้น สำหรับกลยุทธ์ในการกระจายตลาด ช่องทางหลักที่วางขายจะเป็นพวก Modern Trade อย่าง 7-11, ซูเปอร์มาร์เก็ตในกรูเมต์มาร์เก็ต, ฟู้ดแลนด์ และวิลล่ามาร์เก็ต รวมถึงช่องทางออนไลน์ชอปปิ้งอย่าง Lazada และ Shopee และล่าสุดเราได้เจาะตลาดคอนโดฯ โดยการติดตั้งตู้จำหน่ายน้ำดื่มสปริงเคิลบริเวณใต้คอนโดฯ เริ่มที่โซนกทม. เป็นหลักก่อน ตั้งเป้าไว้ว่าปลายปีนี้จะติดตั้งให้ได้ 50 แห่ง”

นอกจากนี้ช่องทางการโฆษณาอื่นๆ “สปริงเคิล” (Sprinkle) ได้วางกลยุทธ์ไว้ทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาโทรทัศน์ (TVC), ป้ายโฆษณา (Out Of home media), ผู้มีอิทธิพล (Influencer), กิจกรรม Roadshow กับทางมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงการสปอนเซอร์ในรายการที่ต้องใช้น้ำ อาทิ งานคอนเสิร์ต และงานวิ่ง

สำหรับทิศทางการพัฒนาแบรนด์ในอนาคต “สปริงเคิล” (Sprinkle) กำลังศึกษาเกี่ยวกับ rPET (Recycled' Polyethylene Terephthalate) การรีไซเคิลขวดพลาสติกเก่า ที่สามารถนำมาผลิตเป็นขวดพลาสติกใหม่เพื่อใช้งานได้อีกครั้ง และแนวทางการออกแบบขวดลิมิเต็ดในรูปแบบใหม่ๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น