xs
xsm
sm
md
lg

TCP Spirit ปั้นอาสารักษ์โลกรุ่นใหม่ เดินหน้า “คณะเศษสร้างปี 2” เจาะลึก “เศรษฐกิจหมุนเวียน” สร้างเครือข่ายยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


TCP Spirit นำทีม “คณะเศษสร้าง ปี 2” ร่วมกิจกรรม “แอ่วเหนือขึ้นดอย ตามรอยวิถีไร้ขยะ”
กลุ่มธุรกิจ TCP เพิ่มดีกรีความเข้มข้นขับเคลื่อนแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” สู่การลงมือปฏิบัติจริง เดินหน้าโครงการ TCP Spirit นำทีม “คณะเศษสร้าง ปี 2” ร่วมกิจกรรม “แอ่วเหนือขึ้นดอย ตามรอยวิถีไร้ขยะ” มุ่งหน้าสู่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมพลังจัดการ “เศษ” ขยะและ “สร้าง” มูลค่าใหม่ผ่านการลงมือทำแบบครบวงจร พร้อมเรียนรู้ความเชื่อมโยงในระบบนิเวศ เพื่อเข้าใจต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริง ด้านอาสาสมัครรุ่น 1 และ 2 เปิดใจหลังร่วมโครงการ

จากความสำเร็จของ TCP Spirit คณะเศษสร้างปีที่ 1 ซึ่งนำอาสาสมัครลงพื้นที่ชุมชนบ้านหาดทรายดำในจังหวัดระนอง เพื่อเรียนรู้การจัดการขยะทั้งคัดแยก เก็บกลับ รวมถึงแปลงเป็นรายได้ให้ชุมชน เป็นจุดเริ่มต้นของเครือข่ายอาสาที่ปลุกพลังคนในชุมชนให้ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและร่วมมือจัดการขยะอย่างจริงจัง ปัจจุบันสามารถเก็บกลับวัสดุรีไซเคิลได้แล้วกว่า 43 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 200% กลุ่มธุรกิจ TCP จึงเดินหน้าสู่ TCP Spirit “คณะเศษสร้าง ปี 2” ลงลึกการจัดการขยะอย่างเข้มข้นสู่วิถีไร้ขยะ

   นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP
๐ จากวิสัยทัศน์เข้มแข็ง สู่เครือข่ายแข็งแรง “เรียนรู้-ลงมือทำ-ส่งต่อ”

นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP เล่าถึงโครงการ TCP Spirit ว่า ด้วยความเชื่อมั่นว่าเมื่อมีพลัง โลกที่ดีขึ้นก็เป็นไปได้ จึงลงมือทำงานอย่างจริงจัง เพื่อขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ผ่าน TCP Spirit กิจกรรมอาสาที่นำประเด็นสำคัญด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมาให้อาสาสมัครได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพื่อสร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่มีพลัง พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับคนรอบตัว เพื่อโลกที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน

“ในปีนี้ ผมภูมิใจที่ได้ต้อนรับกลุ่มรุ่นพี่จากคณะเศษสร้าง ปี 1 กลับมาทำหน้าที่อาสา TCP Spirit เป็นพี่เลี้ยงช่วยดูแลและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ขณะที่เหล่าอาสาปี 2 จะได้เรียนรู้อย่างเข้มข้นครบวงจรในเรื่อง “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ซึ่งเป็นแนวทางที่ทั่วโลกร่วมกันผลักดัน เพื่อเป็นอีกหนึ่งพลังในการดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรโลก จากความร่วมมือของทุกคน”

สำหรับ TCP Spirit คณะเศษสร้าง ปี 2 “แอ่วเหนือขึ้นดอย ตามรอยวิถีไร้ขยะ” พาอาสาเข้าห้องเรียนธรรมชาติ ศึกษา “เศรษฐกิจหมุนเวียน” แบบครบวงจร ผ่านการคัดแยกขยะด้วยตนเอง ลงมือสร้างคุณค่าให้กลายเป็นวัสดุแบบไม่เหลือทิ้งอย่างเปล่าประโยชน์ เรียนรู้เรื่องราวของการหมุนเวียนวัสดุในอุตสาหกรรม การใช้ทรัพยากรแบบใช้แล้ว ใช้ซ้ำ ทำเพื่อโลก โดยโครงการ TCP Spirit ตั้งใจจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อให้อาสาสมัครได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เข้าใจปัญหา ร่วมลงมือทำพร้อมขับเคลื่อนสังคมไปด้วยกัน

   ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์
๐ เจาะลึกแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ผ่านการร่วมลงมือปฏิบัติจริง

ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ รับหน้าที่ครูใหญ่คณะเศษสร้าง มหาวิทยาลัยชีวิตจริง เล่าถึงกิจกรรมในหลักสูตร “แอ่วเหนือขึ้นดอย ตามรอยวิถีไร้ขยะ” ว่า อาสาสมัครทั้ง 60 คนที่เข้าร่วมในปีนี้ จะได้เรียนรู้ เจาะลึกแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ผ่านประสบการณ์จริงในหลักสูตรพิเศษฉบับ “ดอยตุงโมเดล” ต้นแบบการพัฒนาครบวงจรเพื่อความยั่งยืน จากโครงการพัฒนาดอยตุง จังหวัดเชียงราย แบบครบวงจรตั้งแต่กิจกรรมคัดแยกขยะ ซึ่งศูนย์จัดการขยะที่ดอยตุงสามารถแยกได้ถึง 44 ประเภท การนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ การสร้างมูลค่าให้กับวัสดุ สร้างรายได้ให้ชุมชน และเวิร์กช็อปทำความเข้าใจภาพรวมผ่าน “The Butterfly Diagram: Visualizing the Circular Economy” ไขความลับวัฏจักรหมุนเวียนจากห้องเรียนธรรมชาติ เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างตัวเรากับสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่มีผลกระทบต่อกัน เป็นจุดเริ่มต้นในการทำความเข้าใจและเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งกำลังเป็นวิกฤตของโลกในปัจจุบัน

สำหรับ 7 วิชารักษ์โลก ในหลักสูตรนี้ ได้แก่ 1) วิชากายวิภาคของ “เศษ”: เข้าใจบริบทของสำนักงานและโรงงานผลิตผ่านของเหลือหรือ “ขยะ” และจะได้ลงมือจริง ไม่ใช่แค่แยกขยะที่เราบริโภค แต่ลงลึกถึงขยะปลายทางที่สามารถแยกได้ถึง 44 ประเภท และทุกประเภทสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

2) วิชาสร้างโอกาสปลุกปัญญา: ลงมือเปลี่ยน “ขยะ” ให้กลายเป็น “วัสดุ” จากพลาสติกให้กลายเป็นกระถางใส่ต้นไม้ จากเปลือกหัวหอมให้กลายเป็นสีย้อมผ้า หรือจากห่อขนมกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ และปุ๋ยไส้เดือนที่มีกระบวนการ Circular ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งอาสาจะได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างเศษให้กลายเป็นของใช้หลากหลาย

3) วิชาการเดินทางของขยะ: ร่วมแบ่งปันเรื่องราวของขยะผ่านผลงานชิ้นเอกที่เหล่าอาสาสร้างขึ้น ว่าเส้นทางของขยะ และกระบวนการชุบชีวิตขยะต้องทำอย่างไร สามารถนำกลับไปทำเองที่บ้านหรือต่อยอดไอเดียเพิ่มมูลค่าสร้างวิถีไร้ขยะได้อีกหลากหลาย

4) วิชาสร้างคุณค่าให้กับ “ขยะ” กลายเป็น “เศษวัสดุ”: อาสาจะได้ร่วมกันออกแรงซ่อมแซมถนนที่ชำรุด โดยใช้เศษโมลด์ที่เหลือจากกระบวนการผลิตเซรามิกร่วมกับปูน และเปลือกแมคคาเดเมีย ถมถนนที่เป็นหลุมเป็นร่องให้เรียบ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในการสัญจรของผู้คนในชุมชน

5) วิชาปลูกคนปลูกป่า วิถีวงกลม: พาอาสาทุกคนไปเดินป่า ฟังเสียงนก ใช้เวลาสัมผัสกับธรรมชาติ บนเส้นทางที่ตัดผ่านพื้นที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นป่าใช้สอย ป่าเศรษฐกิจ และป่าอนุรักษ์ สะท้อนให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน

6) วิชาดวงดาวในจักรวาล: ชวนกันมาถอดบทเรียนเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่าน Butterfly Diagram เรียนรู้ความเชื่อมโยงระหว่างตัวเรากับธรรมชาติ ว่าทุกอย่างล้วนส่งผลกระทบต่อเนื่องกัน แล้วจะเข้าใจว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” เป็นคำกล่าวที่ไม่ไกลเกินจริง

7) วิทยานิพนธ์: ตกตะกอนความคิดและต่อยอดความสร้างสรรค์จากกิจกรรมที่เรียนรู้ทั้งหมด กลั่นออกมาเป็น THESIS การจัดการ “เศษ” เพื่อ “สร้าง” ประโยชน์ ส่งต่อไอเดียดีๆ และพลังสร้างการเปลี่ยนแปลง


๐ ตัวแทนอาสาวางแผนลงมือทำจริง

นายอภิวัฒน์ จินตะ หรือ ครูเสก โรงเรียนพิชัยรัตนาคาร จังหวัดระนอง นักกิจกรรมรุ่นใหม่หัวใจอาสา หนึ่งในผู้เข้าร่วม TCP Spirit คณะเศษสร้าง ปี 1 เล่าว่า เห็นประกาศรับสมัครจิตอาสา TCP Spirit จากเพจเฟซบุ๊ก จึงสมัครเข้าร่วมโครงการ เพราะนอกจากเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งเป็นการเป็นจิตอาสามาโดยตลอดตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียน ยังเห็นว่าเป็นโครงการที่จัดขึ้นในจังหวัดระนองซึ่งเป็นท้องถิ่นของตนเองอีกด้วย

กิจกรรมในครั้งนั้นเป็นการร่วมจัดการขยะอย่างครบวงจร บริเวณหาดทรายดำ จังหวัดระนอง ซึ่งได้ประโยชน์มากกว่าที่คาดไว้ เพราะนอกจากได้มาลงพื้นที่และเห็นขยะมากมายหลายประเภท เห็นปัญหาขยะได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น แล้วได้เรียนรู้วิธีคัดแยกขยะอย่างถูกต้องในวันแรก ยังได้นำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับเด็กนักเรียนเล็กๆ ในวันที่สองอีกด้วย และหลังจากนั้น ได้นำไปขยายผลที่โรงเรียนด้วยการทำกิจกรรมในห้องเรียนสอนการแยกขยะให้กับทั้งนักเรียนและครูที่ปรึกษา พร้อมทั้งการสร้างจิตสำนึกในการช่วยกันดูแลความสะอาด เช่น เมื่อดื่มน้ำหมดแล้วจะนำขวดไปทิ้งที่ถังขยะ ไม่วางทิ้งไว้เช่นเดิม เป็นต้น

ส่วนการมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งมีรูปแบบกิจกรรมที่ต่างจากครั้งก่อน ทำให้ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นอีกมาก ทั้งการคัดแยกขยะที่มีมากถึง 44 ชนิด การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ เป็นต้น ดังนั้น จึงมีความคิดว่าจะนำความรู้ที่มีมากขึ้นไปขยายผลเพิ่มเติม เช่น การให้เด็กอนุบาลรู้จักแยกขยะ 4 ประเภท เด็กประถม 10 ประเภท เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อ นอกจากนี้ ยังคิดจะร่วมมือกับครูที่มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อช่วยกันทำกิจกรรมและขยายเครือข่าย เช่น การขอการสนับสนุนจากหน่วยงานท้องถิ่น เช่น อบจ.เพื่อให้ช่วยเชื่อมต่อกับโรงเรียนอื่นๆ หรือเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการ เป็นต้น

“แม้ว่าการจะทำให้เรื่องนี้สำเร็จได้อย่างแท้จริงต้องมีความร่วมมือจากทุกคน แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือการลงมือมือทำ ซึ่งอยู่ที่ตัวเรา ต้องตั้งใจและทำจริงเป็นหลักก่อน ซึ่งเมื่อทุกคนคิดแบบนี้ จะสำเร็จได้ โดยไม่ชี้ไปที่คนอื่น”


นายเกริกชัย ปิ่นละมัย ครู โรงเรียนทับช้างวิทยาคม จังหวัดสงขลา ครูรุ่นใหม่หัวใจรักษ์โลก ตัวแทนจิตอาสาที่เข้าร่วม TCP Spirit คณะเศษสร้าง ปี 2 เล่าว่า การได้เข้าร่วมกิจกรรม “ถนนสีขาว” ในวัยเด็กเป็นจุดเริ่มที่ก่อให้เกิดประกายความคิดที่จะหาทางให้ผู้คนในสังคมหยุดการทิ้งขยะลงบนถนนหรือในพื้นที่สาธารณะ เพราะแม้กระทั่งคนใกล้ตัวทั้งญาติผู้ใหญ่และเพื่อนบ้านต่างละเลยและมองว่าการทิ้งขยะเกลื่อนกลาดเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำกัน เป็นเรื่องปกติทั่วไป ไม่ใช่ปัญหาหรือเรื่องที่ต้องใส่ใจ

“ตอนที่เป็นเด็ก เราพูดก็ไม่มีใครฟัง แต่พอโตขึ้นและเมื่อได้มาเป็นครู ทำให้คนที่บ้านเกรงใจ ฟังเรามากขึ้น เราก็บอกว่าขอเรื่องนี้เรื่องเดียว เราก็บอกใช้กระดาษทิชชูแล้วอย่าทิ้งออกนอกรถ เขาก็ทำตาม เราก็พอจะพูดได้บ้าง แต่ชุมชนที่อยู่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรทำสวนยาง ต่างคนต่างทำมาหากิน เป็นชาวบ้านไม่ได้มาสนใจเรื่องแบบนี้”

“เพราะสนใจเรื่องขยะมานานแล้ว และอยากแก้ปัญหานี้ให้ได้ การมาร่วมโครงการ TCP Spirit ครั้งนี้ ได้ทำกิจกรรม เรียนรู้หลายอย่าง จะเริ่มที่โรงเรียนก่อน เพราะเด็กนักเรียนในโรงเรียนเป็นจุดเล็กๆ ที่เริ่มได้ง่าย ฝึกให้ทำเป็นประจำจนเป็นนิสัยก็จะกลับไปบอกที่บ้าน และเมื่อเห็นว่าทำที่โรงเรียนแล้วเกิดประโยชน์เป็นผลสำเร็จ ขั้นต่อไปคิดจะขยายผลให้โรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะ เพราะท่านผู้อำนวยการโรงเรียนก็บอกก่อนมาว่าให้ไปเรียนรู้แล้วกลับมาช่วยกันพัฒนาโรงเรียน”

สำหรับพฤติกรรมของเด็กนักเรียนในวันนี้คือกินตรงไหนทิ้งตรงนั้น แม้จะยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเด็กนักเรียนในระดับมัธยม 1 -6 ที่มีอยู่จำนวน 450 คนได้ทั้งหมดหรือไม่ แต่การมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ทำให้สามารถนำความรู้ไปสร้างระบบการจัดการขยะในโรงเรียนได้อย่างแน่นอน และจะเริ่มทำให้เกิดการปฏิบัติจริง เช่น การให้นักเรียนฝึกหัดคัดแยกขยะประเภทต่างๆ และสร้างแรงจูงใจด้วยการให้รางวัล เป็นต้น