xs
xsm
sm
md
lg

อัปเดต ลูกช้างป่าพลัดหลง 2 ตัว “น้องกันยา” สุขภาพดีขึ้น “น้องมีนา” เตรียมหาแม่รับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ซ้าย) น้องกันยา (ขวา) น้องมีนา
เวลาผ่านไป 2 สัปดาห์ ลูกช้างป่าภูวัวพลัดหลง “น้องกันยา” สุขภาพแข็งแรงขึ้น ส่วนบาดแผลตามตัวและสะดือเริ่มแห้งสนิท ส่วน “น้องมีนา” กางแผนหาแม่รับ ชูโมเดล “ทับเสลา” ส่งกลับคืนป่าเป็นต้นแบบ







วานนี้ (25 กันยายน 2566) นายวิษณุ กุมภาว์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว รายงาน การดูแลลูกช้างป่าพลัดหลง "กันยา" ว่า ลูกช้างกินนมทั้งหมด 4 ครั้ง จำนวน 1.1 ลิตร นอนหลับกลางวันทั้งหมด 1 ครั้ง ประมาณ 60 นาที ส่วนการขับถ่ายมีถ่ายเหลวลักษณะสีเขียว และมีฉี่สีเหลืองอ่อน สำหรับอุณภูมิร่างกายของลูกช้าง 37.1 องศาเชลเซียส ในส่วนบาดแผลที่สะดือแห้งและดีขึ้น

ทางเจ้าหน้าที่คอยดูแลสังเกตอาการตลอด 24 ชั่วโมง และมีการเปลี่ยนฟางในคอกเพื่อรักษาความสะอาดคอก และเช็ดตัวให้ลูกช้างเนื่องจากอากาศร้อนในช่วงกลางวัน ส่วนเวลากลางคืน เจ้าหน้าที่ได้ห่มผ้า และจุดไฟเพิ่มความอบอุ่นให้ลูกช้าง

สำหรับลูกช้างป่า “น้องกันยา” เป็นตัวเมีย อายุประมาณ 2 สัปดาห์ (ขณะที่พบ) ได้พลัดหลงโขลง บริเวณริมป่านาตู้ดำ บ้านเทพมีชัย ต.หนองเดิ่น อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา






“น้องมีนา” เล็งหาแม่รับ-กลับคืนป่า ใช้โมเดล “ทับเสลา”

ปัจจุบัน ลูกช้างป่าพลัดหลงโขลง ภายใต้การดูแลของกรมอุทยานฯ มีด้วยกัน 3 ตัว เป็นตัวเมียทั้งหมด ได้แก่ “ทับเสลา” ลูกช้างพลัดหลงที่ห้วยขาแข้ง จอมดรามาที่ไม่ยอมกลับเข้าโขลง ปัจจุบัน อายุประมาณ 3 ขวบ สามารถกลับเข้าไปใช้ชีวิตในป่ากับแม่รับที่ดอยผาเมือง

ส่วนอีกตัว “น้องมีนา” พบพลัดหลงโขลงเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพราะตกหลุมที่เกิดจากการทำเกษตรของชาวบ้าน โขลงช้างแม่พยายามช่วยแล้ว แต่ทำไม่ได้ เจ้าหน้าที่จึงนำมาดูแลต่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์ ต่อมาย้ายมาดูแลที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) จ.ฉะเชิงเทรา ปัจจุบันอายุราว 6-7 เดือน

นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กางแผนการปล่อยมีนาคืนสู่ป่า พร้อมระบุว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างหาแม่รับในป่า 2 แห่ง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง เพื่อสอนการดำรงชีวิตในป่าธรรมชาติ

โดยคาดว่า จะเริ่มกระบวนการคัดเลือกแม่รับ ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ จากช้างพังที่เคยมีลูก หรือเลี้ยงลูกช้างตัวอื่นมาก่อน เพื่อเข้าเทียบและฝึกให้ใช้ชีวิตร่วมกัน หากเป็นไปตามแผนจะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ในเดือน ก.ย.2567 โดยยกโมเดลการปล่อยลูกช้างป่า "ทับเสลา" เมื่อปลายเดือน ธ.ค.2565 เป็นต้นแบบ

ที่มา :
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.บึงกาฬ
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 อุดรธานี
ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) จ.ฉะเชิงเทรา


กำลังโหลดความคิดเห็น