SCGC ชูโมเดลใหม่ “Nets Up” ต้นแบบสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมรีไซเคิล เปลี่ยน “อวนประมงไม่ใช้แล้ว” เป็น “Marine Materials” วัสดุทางเลือกใหม่เพื่อความยั่งยืน ตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG สานพลังพันธมิตรทุกภาคส่วน เดินหน้าร่วมมือกระทรวงทรัพย์ฯ เครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และพันธมิตรธุรกิจ นำร่องจับมือชุมชนกลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้านจังหวัดระยอง ก่อนขยายไปทั้ง 23 จังหวัดติดทะเล มุ่งเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่า ตอบโจทย์ ESG อย่างเป็นรูปธรรม
ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด(มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า SCGC ดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG โดยได้ขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม ด้วยการเริ่มต้นปลูกฝังจิตสำนึกและสร้างพฤติกรรมการคัดแยกขยะ พร้อมกับการจัดทำ “โมเดลชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อจัดการขยะชุมชนสู่การรีไซเคิลและลดปริมาณขยะที่หลุดรอดลงสู่ทะเล โดยนำร่องที่จังหวัดระยอง และขยายไปในภาคธุรกิจและชุมชนอีกหลายจังหวัดในประเทศไทยในเวลาต่อมา
ในปีนี้ SCGC ได้พัฒนา “โมเดล Nets Up”(เนทซ์ อัป) เพื่อจัดการ “อวนประมงไม่ใช้แล้ว” จากประมงพื้นบ้าน ช่วยไม่ให้เกิดขยะที่ส่งผลกระทบและทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยลดภาระการจัดการขยะ และเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนโดยนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยนวัตกรรมการรีไซเคิล ผลิตเป็น “Marine Materials” วัสดุทางเลือกใหม่เพื่อความยั่งยืน สำหรับภาคอุตสาหกรรมและแบรนด์สินค้าต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม
๐ การเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่า หัวใจสำคัญของความสำเร็จ
สำหรับหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนโมเดล Nets Up คือการเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่า หรือ Value Chain อย่างครบวงจรโดยการบูรณาการทุกภาคส่วนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แบ่งเป็น 4 ส่วนหลัก เริ่มตั้งแต่ 1) การเก็บรวบรวมอวนประมงที่ไม่ใช้แล้วมาคัดแยกและทำความสะอาดอย่างถูกต้อง 2) การมีระบบรับซื้อที่เป็นธรรมผ่านธนาคารขยะชุมชน โดยมีแอปพลิเคชั่น “คุ้มค่า” เป็นเครื่องมือเก็บบันทึกข้อมูลสำคัญด้านการซื้อขาย 3) กระบวนการรีไซเคิลโดยนำไปผลิตเป็นวัสดุรีไซเคิลคุณภาพสูง และ 4) การนำวัสดุรีไซเคิลที่ได้ออกมาและเรียกว่า “Marine Materials” ไปต่อยอดในภาคอุตสาหกรรม
โดยมีตัวอย่างความร่วมมือจากเครือข่ายนวัตกรรม ได้แก่ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ , ไทยแทฟฟิต้า , ทีมพลาสเคมีคอล และ Nyl-One ที่สามารถนำ “วัสดุรีไซเคิลจากอวนประมงไม่ใช้แล้ว” หรือ “Marine Materials” มาผลิตเป็นเสื้อ โดยเสื้อ 1 ตัว มาจากอวนประมงที่ไม่ใช้แล้ว 1 ปาก หมายความว่าสามารถจัดการอวนประมงที่ไม่ใช้แล้วและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เช่น กลุ่มสิ่งทอ ด้วยการนำมาขึ้นรูปเป็นเส้นด้าย ทอเป็นผืนผ้าและเปลี่ยนเป็นเสื้อ หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น กระเป๋า เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับเจ้าของแบรนด์สินค้าและผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินโครงการ Nets Up ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลจังหวัดระยองเป็นแห่งแรก มีชุมชนประมงพื้นบ้านกว่า 10 ชุมชนเข้าร่วม และในอนาคตมีแผนจะดำเนินการให้ครอบคลุมชายฝั่งทะเลทั้งหมดที่อยู่ใน 23 จังหวัดของประเทศไทย ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชนคือชุมชนประมง รวมทั้งเครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล เช่น The Youth Fund ซึ่งเป็นเครือข่ายเยาวชนจิตอาสาพิทักษ์ท้องทะเล และ Alliance to End Plastic Waste หรือ AEPW ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระดับสากลเพื่อจัดการขยะอย่างยั่งยืน เป็นต้น
ดร.สุรชา ย้ำว่า “หวังว่าโมเดล Nets Up จะเป็นการจุดประกายให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและร่วมกันลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ด้วยการบริหารจัดการขยะทางทะเล ส่งเสริมการจัดการอวนประมงที่ไม่ใช้แล้วและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอวนประมงที่ไม่ใช้แล้ว โดย SCGC พร้อมเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่า พัฒนานวัตกรรมรีไซเคิลและสร้างเครือข่ายความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้สิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชนต่อไป”
๐ ภาครัฐพร้อมหนุนเต็มที่
นายพิชิต สมบัติมาก รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การรักษาและบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนเป็นนโยบายของกระทรวงฯ ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) อันเป็นวาระแห่งชาติและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ซึ่งเป็นเป้าหมายระดับโลก
“สำหรับโมเดล Nets Up จะเป็นอีกแนวทางสำคัญที่ช่วยลดปัญหาหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการหลุดรอดของอวนที่ไม่ใช้แล้วลงสู่ทะเล การลดภาระของชุมชนในการนำอวนไปกำจัด และยังสร้างรายได้ให้ชุมชนประมงจากการนำอวนประมงไม่ใช้แล้วมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล รวมถึงช่วยให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายใหญ่ โดยกระทรวงฯ พร้อมสนับสนุน SCGC กับเครือข่ายพันธมิตรอย่างเต็มที่ รวมทั้งประสานความร่วมมือกับกลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้านในพื้นที่เป้าหมายต่างๆ เพื่อร่วมขับเคลื่อนกลไกและต้นแบบการจัดการอวนประมงที่ไม่ใช้แล้วให้บรรลุผลสำเร็จได้อย่างแท้จริง”
๐ ชุมชนประมงพร้อมดูแลสิ่งแวดล้อม
ส่วนนางกาหลง จงใจ ประธานกลุ่มประมงบ้านพลา-หาดพลา กล่าวถึงการทำประมงพื้นบ้านของกลุ่มฯ ว่า เป็นประมงเรือเล็กวางอวนปูม้าเป็นหลัก มีประมาณ 50 ลำ การขายอวนประมงไม่ใช้แล้วในแอปพลิเคชั่น “คุ้มค่า” เมื่อนำไปทำความสะอาดและคัดแยก ทำให้มีรายได้เพิ่มและเมื่อได้มาเห็นว่านำอวนที่ใช้ไม่ได้แล้วสามารถเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น เสื้อผ้า ซึ่งคาดไม่ถึงว่าจะเป็นไปได้ เพราะเนื้ออวนที่หยาบสามารถกลายเป็นเสื้อที่มีความนุ่มใส่สบาย จึงคิดว่าการนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มเช่นนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก เช่นเดียวกัน นายอนุวัฒน์ จิตตระวล กลุ่มประมงเก้ายอด ตัวแทนประมงรุ่นใหม่ เป็นกลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้าน 28 ลำ ส่วนมากทำเรืออวนปู มองว่า โครงการนี้ทำให้เกิดการขายอวนที่ไม่ใช้แล้วช่วยให้ชุมชนมีรายได้และทำให้ไม่ต้องทิ้งเป็นขยะเหมือนเมื่อก่อน รู้สึกดีที่มีส่วนช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม
๐ เยาวชนคนรุ่นใหม่พร้อมร่วมกิจกรรม
ทางด้านนายกฤษฎิ์ ภักดีจิต ตัวแทนจากสมาคมเยาวชน The Youth Fund ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า "กลุ่ม The Youth Fund เป็นการรวมตัวของเยาวชนอายุ 15-17 ปี ร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมเชิงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น การดำน้ำเก็บขยะใต้ทะเล การปลูกปะการัง การปลูกป่าชายเลน ฯลฯ การได้มาร่วมมือในโครงการ Nets Up เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่เยาวชนสามารถมีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วยกันพิทักษ์ท้องทะเล และปลูกฝังให้เด็กที่เป็นอนาคตและความหวังของประเทศ ได้เห็นความสำคัญของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ทั้งนี้ ในฐานะเยาวชนคนรุ่นใหม่ รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลร่วมกับ SCGC ภาครัฐและเครือข่ายพันธมิตรต่างๆ”