จากข้อมูลของสภาการรีไซเคิลขวด PET (Council for PET Bottle Recycling) ระบุว่า 94% ของขวด PET ที่ซื้อในญี่ปุ่นในปี 2022 ถูกเก็บรวบรวม และ 86% ของขวดทั้งหมดถูกรีไซเคิล เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว อัตราการรีไซเคิลในยุโรปในปีเดียวกันอยู่ที่ 42.7% และต่ำกว่านั้นในสหรัฐอเมริกา โดยตัวเลขในปี 2020 อยู่ที่ 18% เท่านั้น
ผลิตภัณฑ์ขวดพลาสติกโพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) ประมาณ 22.7 พันล้านชิ้นถูกจัดส่งทุกปีในญี่ปุ่น เฉลี่ยแล้วประมาณ 180 ขวดต่อคน ขณะเดียวกัน เกือบ 86% ถูกรีไซเคิล ซึ่งเรียกว่าขวด rPET
การใช้ขวด PET สำหรับเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลมได้รับอนุญาตครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 1982 (พ.ศ. 2525) ภาชนะที่แปลกใหม่มีน้ำหนักเบา เปราะบางน้อยกว่า แถมพกพาได้ง่ายกว่าขวดแก้วที่ใช้กันทั่วไปในตอนนั้น ขั้นต้นอุตสาหกรรมน้ำอัดลมยอมรับการห้ามใช้ขวด PET ที่มีขนาดเล็กกว่าขนาดหนึ่งลิตรโดยสมัครใจ เนื่องจากกังวลเรื่องปริมาณขยะที่มากขึ้น แต่การห้ามดังกล่าวถูกยกเลิกในปี 1996 เพื่อกระตุ้นให้มีการใช้ขวดพลาสติกในวงกว้างขึ้น
เมื่อขวด PET กลายเป็นมาตรฐาน กลุ่มอุตสาหกรรมก็ได้พยายามลดปริมาณขยะด้วยการรีไซเคิล เป็นขวด rPET และทำให้ขวดมีน้ำหนักเบาลง ในปีงบประมาณ 2017 อัตราการรีไซเคิลขวด PET อยู่ที่ 84.8% ซึ่งต่ำกว่าอัตราเป้าหมายที่ 85% เพียงเล็กน้อย ทว่าระดับการรีไซเคิลขวด PET ในญี่ปุ่นก็ก้าวไปอยู่ระดับที่สูงสุดในโลก
ในปัจจุบันขวด PET จำนวนมากที่ใช้ มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ เนื่องจากความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการขึ้นรูปและการบรรจุทำให้น้ำหนักขวดลดลงถึง 23.8% ในช่วงระหว่างปีงบประมาณ 2004-2017 ( พ.ศ.2547-2560)
ประมาณปี 2004 ขวด PET ขนาด 500 มล. โดยทั่วไปจะมีน้ำหนักตั้งแต่ 25 กรัม ถึง 30 กรัม แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขวดจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ มีขนาดต่ำกว่า 20 กรัม ภาชนะที่เบาที่สุดในปัจจุบันบางส่วนใช้สำหรับน้ำแร่ เช่น ขวดขนาด 11.3 กรัม 550 มล. สำหรับ Minami Arupusu Tennensui ของ Suntory และขวดขนาด 12 กรัม 555 มล. สำหรับ I Lohas ของ Coca-Cola Japan บริษัทต่างๆ ยังใช้มาตรการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้วัสดุจากพืชในการผลิตขวด PET
นอกจากนี้ ทางการญี่ปุ่นออกประกาศการเรียกคืนทรัพยากรพลาสติกซึ่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2018 โดย Japan Soft Drink Association ร่วมกับผู้ผลิตน้ำอัดลมและกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้เพิ่มเป้าหมายในการบรรลุเป้าหมายการใช้ขวด PET อย่างมีประสิทธิภาพ 100% ภายในปีงบประมาณ 2030
ทั้งนี้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยอมรับความจำเป็นในการปกป้องและอนุรักษ์โลกธรรมชาติมานานแล้ว คนรุ่นต่อรุ่นพยายามรักษาสิ่งแวดล้อมที่ใช้ร่วมกันเพื่อคนรุ่นต่อไป พวกเขาทราบดีว่าการรีไซเคิลจะช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ทั้งยังช่วยจัดการกับวิกฤตขยะพลาสติก ขณะเดียวกันเป็นการช่วยลดการปล่อยมลพิษที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศของโลก
ส่วนการบริหารจัดการขยะในญี่ปุ่นนั้นเป็นกรอบนโยบายในระดับชาติ ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดและรุนแรงสูง และการวางแนวทางในภาคปฏิบัติที่นำมาใช้ได้จริงในกระบวนการรีไซเคิล ตั้งแต่การออกแบบ กันทำกระบวนการผลิตจริง และการนำวัสดุรีไซเคิลไปใช้ประโยชน์อย่างครบถ้วนและเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายและกระบวนการรีไซเคิลที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ อุตสาหกรรมการก่อสร้าง อาหาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และไฟฟ้า ที่เน้นความรับผิดชอบตั้งแต่ผู้ผลิตต้นน้ำจนถึงผู้บริโภคปลายน้ำ ที่มีการส่งต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างจริงจังมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 ส่งผลให้ขยะจำนวนมากสามารถบริหารจัดการได้ในพื้นที่ที่จำกัด และภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจหรือเป็นพื้นที่ในการฝังกลบขยะจำนวนมหาศาลได้