xs
xsm
sm
md
lg

“แฟชั่นหมุนเวียนมาแรง” กับโอกาสแซงเทรนด์ฟาสต์แฟชั่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ความไม่สมดุลกันระหว่างความต้องการซื้อและการใช้งานจริง ก่อให้เกิดขยะเสื้อผ้ามากมาย และลงเอยในหลุมฝังกลบมากกว่า 10 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้ถูกนำไปรีไซเคิลไม่ถึง 10% ทั้งนี้แนวทางการแก้ไขที่โลกกำลังจับตา ด้วยแฟชั่นแบบหมุนเวียน หรือ “Circular Economy” เหมือนว่าคือหนทางเดียวที่มีโอกาสแก้วิกฤตขยะเสื้อผ้าล้นโลกได้อย่างยั่งยืน

ชมคลิป นักออกแบบแบบหมุนเวียนจากแบรนด์ดัง 4 ราย ที่นำร่องแล้ว ได้แก่  EILEEN FISHER, NKWO, Timberland และ Vestiaire Collective

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นทั่วโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่าตามกันไม่ทันเลยทีเดียว ซึ่งในมุมของคนในสายแฟชั่นอาจจะมองว่าเป็นสีสันที่ดีต่อโลก ต่อภาคธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจ ทว่าในอีกมุมที่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้นกลับมองตรงกันข้าม

“แฟชั่นหมุนเร็ว หรือ Fast Fashion” พูดกันแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือ อุตสาหกรรมแฟชั่นที่มาไวไปไว ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเสื้อผ้า กระเป๋า หรือเครื่องประดับ โดยมุ่งเน้นไปที่การผลิตในปริมาณมากและขายในราคาถูก บวกกับการสร้างค่านิยมด้านแฟชั่นที่ผู้ประกอบการใช้การตลาดเชิงจิตวิทยากระตุ้นพฤติกรรมผู้บริโภค จนทำให้ผู้คนรู้สึกว่าต้องเปลี่ยนและซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆ ตลอดเวลาเพื่อให้ทันแฟชั่น ซึ่งจากสิ่งเหล่านี้เลยทำให้วงจรชีวิตของสินค้าสั้นลง เปลี่ยนเร็ว ตกเทรนด์เร็ว เบื่อเร็วและทิ้งเร็ว กลายเป็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมาเป็นอย่างมากโดยที่เรายังไม่รู้ตัว

เมื่อการผลิตมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่าต้องมีการใช้ทรัพยกรธรรมชาติอย่างเข้มข้นมากขึ้นเช่นกัน อย่างการใช้ทรัพยากรน้ำเพื่อการปลูกฝ้าย ที่มีการใช้น้ำ 10,000 – 20,000 ลิตรต่อการผลิตเสื้อผ้าเพียง 1 กิโลกรัม การใช้น้ำมันปิโตรเลียมเพื่อผลิตเส้นใยโพลิเอสเตอร์ก็ปล่อยน้ำเสียที่มีไมโครพลาสติก (Microplastic) ปะปนลงสู่มหาสมุทร บวกกับมลพิษที่มาจากสารเคมีย้อมผ้าที่ส่งผลต่อแหล่งน้ำเช่นกัน และยังรวมไปถึงกองขยะเสื้อผ้าจำนวนมหาศาล ที่มีมากกว่า 92 ล้านตันต่อปี เราจะเห็นได้ว่าทุกๆ กิจกรรมที่เกิดขึ้นล้วนทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกรวน ( Climate Change ) ทั้งสิ้น

แต่หลังจากการเข้ามาของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ราว 5 ปีที่ผ่านมา ก็เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในอุตสาหกรรมแฟชั่น จนเกิดเป็น “แฟชั่นหมุนเวียน หรือ Circular Fashion”


แฟชั่นหมุนเวียน จะเป็น "ทางออกของฟาสต์แฟชั่น” ได้จริงหรือ

หากย้อนกลับไปมองสถานการณ์ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงต่อเนื่อง ปัจจุบันเทรนด์โลก และพฤติกรรมของผู้คนทั่วโลกมีแนวโน้มที่เปลี่ยนไป ผู้คนเริ่มให้ความสำคัญและใส่ใจกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลง

นั่นทำให้ผู้ผลิตสินค้าหลายรายได้นำแนวคิดนี้มาใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยเริ่มต้นจากกระบวนการผลิตที่เปลี่ยนวัตถุดิบ (Raw Material) ในการผลิตที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ หรือใช้วัสดุที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลมากขึ้น เพื่อลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งออกแบบเสื้อผ้าจะให้ความสำคัญในเรื่องของอายุการใช้งานยาวนานมาเป็นปัจจัยหลัก ที่ผ่านมาหลายๆ แบรนด์ก็มีความพยายามที่จะทำแคมเปญการตลาดต่างๆ เพื่อส่งเสริมแนวคิด Circular Fashion ทำให้เริ่มมีผู้บริโภคสนใจและสนับสนุนแนวคิดนี้ ธุรกิจตลาดเสื้อผ้ามือสองเริ่มเติบโตเพิ่มขึ้น นับเป็นแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงที่ดีของอุตสาหกรรมแฟชั่นของโลกเรา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเด็นเรื่องความยั่งยืนจะกลายเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกอุตสาหกรรมทั่วโลกต้องให้ความสำคัญในการ Re-think การออกแบบผลิตภัณฑ์และสินค้า รวมไปถึงกระบวนการผลิตของตนเองแล้ว ทุกวันนี้ผู้บริโภคก็เริ่มมีแนวคิดที่สนับสนุนและช่วยกันขับเคลื่อนแนวคิดแฟชั่นแบบยั่งยืนไปด้วยพร้อมๆ กัน พวกเขาเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างง่ายๆ เช่น การเลือกซื้อเสื้อผ้าที่มีคุณภาพดี มีความคงทนใช้งานได้นาน หรือแม้กระทั่งเปิดใจให้กับสินค้ามือสอง

คนยุคใหม่ เริ่มคิดเยอะมากขึ้นก่อนที่จะทิ้ง หรือซื้อเสื้อผ้าตัวใหม่ รวมถึงมีไอเดียสร้างสรรค์ในการ Mix & Match เสื้อผ้าที่มี ให้ใช้งานได้คุ้มค่ามากที่สุด รวมทั้งสนับสนุนและเลือกซื้อเสื้อผ้าที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกันใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยมองผลกระทบไปถึงการมีส่วนช่วยลดการปลดปล่อยก๊าชคาร์บอนไดไซด์สู่โลกของเราให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้การใช้เสื้อผ้ามือสองช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับการซื้อเสื้อผ้าใหม่ โดยปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยว่าถึงเกือบ 7 เท่า และใช้น้ำน้อยกว่าถึง 65 เท่า

ขณะเดียวกัน ธุรกิจแฟชั่นหมุนเวียนก็มีแนวโน้มตอบรับที่ดีขึ้น เช่น การใช้ซ้ำวัตถุดิบเดิม การนำเอาวัสดุรีไซเคิลมาทำเป็นเสื้อผ้าใหม่ การให้เช่าและขายต่อเสื้อผ้า เป็นต้น นับว่าเป็นอีกทางเลือกของการบริโภคในยุคทุนนิยมสมัยใหม่ ที่เราสามารถเอาสินค้าเดิมมาหมุนเวียนใช้ซ้ำและแลกเปลี่ยนกันได้

ฟาสต์แฟชั่นทำให้วงจรชีวิตของสินค้าสั้นลง เปลี่ยนเร็ว ตกเทรนด์เร็ว เบื่อเร็วและทิ้งเร็ว กลายเป็นขยะ
มีข้อมูลที่น่าสนใจจากบริษัท Thredup ร้านค้าออนไลน์มือสองขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ออกมาคาดการณ์ว่า ในปี 2030 หรืออีกราว 10 ปี ข้างหน้า มูลค่าตลาดของเสื้อผ้ามือสองจะมีมูลค่าถึง 84,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่ามูลค่าของตลาด Fast Fashion ที่น่าจะมีมูลค่าตลาดอยุ่ที่ 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่าราว 2 เท่า

สาเหตุที่ทำให้คาดการณ์ว่าตลาดเสื้อผ้ามือสองจะได้รับความนิยมมากขึ้น น่าจะมาจากเทรนด์ของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไป ทั้งจากปัญหา Fast Fashion รวมไปถึงการที่คนรุ่นใหม่ๆ เริ่มตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม สนใจแฟชั่นแบบหมุนเวียน หรือแฟชั่นมือสองมากขึ้น

โดยแนวโน้มของผู้บริโภคเปิดใจต่อการซื้อเสื้อผ้ามือสองเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี ทางเลือกในการจัดการกับเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วจะเป็นการขายต่อ คาดการณ์ว่าในปี 2025 ตลาดเสื้อผ้ามือสองโตจะขึ้นถึง 11 เท่า จากมูลค่าตลาดในปัจจุบัน ส่วนผู้ขายเสื้อผ้ามือสองหน้าใหม่ก็เพิ่มขึ้นถึง 118 ล้านคน ในขณะที่ปี 2020 มีผู้ขายรายใหม่เข้ามาเพียง 36.2 ล้านคน

ส่วนทางการซื้อขายเสื้อผ้าแบบ Fast Fashion เทรนด์ในอนาคต 10 ปีข้างหน้านี้ อัตราการเติบโตจะค่อยเป็นค่อยไปไม่ได้โตแบบก้าวกระโดดเหมือนการซื้อขายเสื้อผ้ารูปแบบอื่นๆ สะท้อนให้เห็นเทรนด์ที่มันเปลี่ยนไปได้ค่อนข้างชัดเจน

กระแสรักษ์โลกก็ยังเป็นเป้าหมายสำคัญของธุรกิจเสื้อผ้าเองด้วย ปัจจุบันหลายๆ แบรนด์มีความพยายามที่จะทำแคมเปญต่างๆ ออกมา ร่วมกับองค์กรการกุศล มีขายสินค้ามือสองออนไลน์ และการใช้วัสดุรีไซเคิลนำมาผลิตเสื้อผ้าใหม่ เช่น แบรนด์ Marks & Spencer, H&M และ Nike เป็นต้น

เทรนด์แฟชั่นแห่งอนาคตมุ่งเน้นไปที่เรื่องความยั่งยืนกันมากขึ้น Fast Fashion ไม่ใช่คำตอบของความยั่งยืน แต่การบริโภคแบบใช้ซ้ำ รวมไปถึงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม น่าจะเป็น “จุดกึ่งกลาง” ของการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมท่ามกลางสังคมบริโภคได้เป็นอย่างดี

แฟชั่นหมุนเวียนจึงเป็นทางออกของผู้บริโภคที่น่าสนใจ อีกทั้งการปรับความคิด ทัศนคติต่อการซื้อเสื้อผ้าก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ผู้บริโภคควรย้อนกลับมาทบทวนตัวเองว่าจุดไหนถึงจะพอดี สามารถตอบสนองความต้องการได้และลดผลกระทบในการทำลายสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน

ฟาสต์แฟชั่น ทำให้ขยะเสื้อผ้ากองโตขึ้นโดยไม่รู้จบในหลุมฝังกลบ

Clip Cr. Ellen MacArthur Foundation

มูลนิธิ Ellen MacArthur ร่วมมือกับ Camera Nazionale della Moda Italiana (CNMI) เพื่อนำการออกแบบที่เป็นการหมุนเวียนสำหรับแฟชั่นมาสู่แถวหน้าของวาระการสร้างสรรค์ของอุตสาหกรรมแฟชั่นอิตาลี โดยเริ่มต้นด้วยรางวัล Sustainable Fashion Awards ประจำปี 2022


รางวัลนี้เป็นการเฉลิมฉลองความพยายามอันน่าเกรงขามของผู้ที่มุ่งมั่นสู่อุตสาหกรรมที่เหมาะกับอนาคต และในวิดีโอนี้ นักออกแบบและแบรนด์ต่างๆ กำลังทำเช่นนั้น


ผู้บุกเบิกการออกแบบแบบหมุนเวียนสี่รายได้แก่ EILEEN FISHER, NKWO, Timberland และVestiaire Collective มีส่วนสนับสนุนการออกแบบสำหรับหนังสือแฟชั่นของมูลนิธิ และได้รับการยอมรับจากรางวัลนี้ในปี 2022


เรื่องราวของพวกเขาเน้นย้ำว่า แฟชั่นสามารถถูกนิยามใหม่ผ่านการออกแบบที่หมุนเวียนได้อย่างไร และสนับสนุนให้นักสร้างสรรค์ทั่วโลกคิดใหม่ว่าพวกเขาสามารถออกแบบอย่างไรเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สร้างใหม่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น