การร่วมมือของธุรกิจเอกชนกับภาครัฐและเกษตรกรจีนมีลักษณะที่เป็นหุ้นส่วน (partner) ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท (corporate social responsibility) ที่เกิดขึ้นในโลกทุนนิยม..!
นวัตกรรมสังคม (social innovation) เป็นแนวคิดทฤษฎีที่เพิ่งเกิดขึ้นในโลกทุนนิยมเมื่อไม่นานมานี้เอง มันเป็นแนวคิดที่ต้องการสร้างการกินดีอยู่ดีให้แก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ๆ ห่างไกล หรือทุรกันดาร จนรัฐบาลและกลไกตลาดไม่สามารถเข้าถึงหรือเข้าไปแก้ปัญหาให้แก่ประชาชนกลุ่มนี้ได้
นวัตกรรมสังคมเป็นการคิดใหม่หรือใช้มุมมองแบบใหม่ในการแก้ปัญหาให้แก่ชุมชนและประชาชน นวัตกรรมสังคมอาจเป็นการคิดเรื่องเดิม แต่เป็นการคิดใหม่และทำใหม่ที่ทำให้ชุมชนหรือประชาชนได้รับประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิม
ตัวอย่างเช่น การสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ซึ่งทำหน้าที่ในการกักเก็บน้ำเช่นเดียวกับฝายทุกชนิด คือฝายแม้ว ฝายกระสอบทรายและฝายมีชีวิต แต่ฝายทุกชนิดมีความสามารถในการกักเก็บน้ำได้เพียงระยะสั้น เมื่อถึงฤดูน้ำฝายทุกชนิดจะถูกน้ำพัดพาเสียหายไปหมดและจำเป็นที่จะต้องสร้างฝายขึ้นใหม่ในปีต่อไป ทำให้เกิดต้นทุนและค่าใช้จ่ายทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคมเกิดขึ้นใหม่เป็นประจำทุกปี แตกต่างจากฝายแกนดินซีเมนต์ที่มีต้นทุนในการทำไม่แตกต่างจากฝายทุกประเภท แต่กลับสามารถกักเก็บน้ำได้ยาวนานหลายปี เป็นเพราะฝายชนิดนี้มีการออกแบบที่มีการกักเก็บน้ำที่อยู่ใต้ฝายลงไปเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเล็ดลอดออกไปได้ นอกจากนี้ฝายแกนดินซีเมนต์ยังมีการทำหูลึกเข้าไปในแผ่นดินทั้งสองด้านของแม่น้ำ ลำคลองหรือลำธาร ทำให้หูทั้งสองด้านของฝายไม่สามารถถูกน้ำทำลายเสียหาย ดังนั้น ฝายแกนดินซีเมนต์จึงสามารถกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี ทำให้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่แล้งซ้ำซากหรือพื้นที่นอกเขตชลประทานสามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี ทำให้พวกเขามีงานทำและมีรายได้ตลอดทั้งปี ด้วยเหตุนี้ฝายแกนดินซีเมนต์จึงเป็นนวัตกรรมสังคมประเภทหนึ่ง
คุณลักษณะของนวัตกรรมสังคมคือการที่ประชาชนในชุมชนหรือประชาชนจำนวนมากได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมดังกล่าว ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของโครงการหรือนโยบายใดๆ ที่ภาครัฐทำแล้วประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ไป นวัตกรรมสังคมอาจดำเนินการโดยภาคธุรกิจเอกชนก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะมาจากภาคประชาสังคมที่เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร
นวัตกรรมสังคมในประเทศทุนนิยม มีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น การนำโซลาร์เซลล์ไปติดตั้งให้แก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ การเจาะบ่อบาดาลเพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลและแห้งแล้งสามารถที่จะมีน้ำใช้ทำการเกษตร เพื่อการอุปโภคและบริโภคในฤดูแล้งได้ การส่งเสริมให้ชาวเขาที่อยู่ห่างไกลมีโอกาสนำผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์พื้นเมืองออกมายังตลาดทำให้เกิดการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การสอนให้ชาวบ้านนำมูลสัตว์มาเป็นพลังงานในครัวเรือนสำหรับหมู่บ้านที่ห่างไกลที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ เป็นต้น
สำหรับนวัตกรรมสังคมในประเทศไทยเช่น การไปส่งเสริมให้เกษตรกรที่ทำการเกษตรด้วยการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง เลิกใช้สารเคมีแล้วหันมาทำการเกษตรอินทรีย์แทน ช่วยให้เกษตรกรมีสุขภาพดีขึ้นและในขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากสารเคมี ถือเป็นนวัตกรรมสังคมได้เช่นเดียวกัน
การทำธุรกิจสุราพื้นบ้านของชาวบ้านในภาคเหนือตอนบน และภาคอีสาน โดยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยการนำผลผลิตการเกษตรมาแปรรูปร่วมกับสมุนไพรพื้นบ้านได้ ช่วยทำให้ชาวบ้านมีงานทำและมีรายได้ที่ดีขึ้นเป็นอีกนวัตกรรมสังคมของไทย
เช่นเดียวกันกับที่หมู่บ้านแม่กำปอง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำให้หมู่บ้านของตนเองกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน ทำให้ชุมชนมีรายได้ที่ดีจากการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี และชาวบ้านตำบลชะอม อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรีได้ส่งเสริมให้เกิดการทำธุรกิจไม้ล้อม ทั้งขายภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศจนทำให้ชาวบ้านทั้งตำบลหายจน ตัวอย่างเหล่านี้คือนวัตกรรมสังคมไทยทั้งสิ้น
มีงานวรรณกรรมจำนวนมากที่กล่าวถึงนวัตกรรมสังคมในโลกทุนนิยม แต่การรับรู้เรื่องนวัตกรรมสังคมในโลกสังคมนิยมจีนมีค่อนข้างน้อย และไม่ใคร่เป็นที่รับรู้ของโลกภายนอกนัก จากการศึกษาเรื่องการแก้จนของจีน ผู้เขียนพบว่ามีนวัตกรรมสังคมอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้เขียนใคร่พูดถึงบางเรื่องดังต่อไปนี้
ประการแรก นวัตกรรมสังคมด้านการบริหารจัดการระบบราชการ โดยรัฐบาลจีนสามารถที่จะเก็บรวบรวมข้อมูลของครอบครัวที่ยากจนทั้งประเทศจีนได้อย่างครบถ้วน ถูกต้องและแม่นยำ ภายในเวลาเพียงหนึ่งปีกับหกเดือน สะท้อนให้เห็นถึงนวัตกรรมสังคมในการบริหารจัดการบ้านเมืองที่มีธรรมาภิบาล
นอกจากนี้ในการแก้ปัญหาความยากจนของมณฑลหนึ่ง จังหวัดหนึ่ง อำเภอหนึ่ง หมู่บ้านหนึ่ง และครอบครัวหนึ่ง มีการรวมศูนย์การบริหารจัดการทั้งส่วนกลาง ระดับมณฑล จังหวัด อำเภอจนถึงคณะกรรมการหมู่บ้าน ลงไปแก้ไขจนถึงสมาชิกในครอบครัวที่ยากจนอย่างตรงเป้า และสามารถแก้ความยากจนให้ตกไปได้ในระยะยาวจริง สะท้อนให้เห็นถึงนวัตกรรมสังคมในการบริหารจัดการระบบราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
นอกจากนี้ระบบการประเมินผลลัพธ์ในการแก้ความยากจนของจีน มีการวางระบบการประเมินและตรวจสอบข้อมูลหลายระดับ มีการใช้เครื่องมือทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพในระดับลึก ซึ่งการศึกษาวิจัยในระบบทุนนิยมไม่สามารถจะกระทำได้ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป ส่วนการประเมินนั้นโดยทั่วไปเป็นเพียงการสุ่มตัวอย่าง ในขณะที่ของจีนเป็นการตรวจสอบประชากรยากจนครบ 100% นอกจากนี้จีนยังมีการวางระบบตรวจสอบมีให้ครอบครัวที่พ้นจากยากจนแล้วมิให้มีโอกาสกลับไปยากจนอีก ระบบแบบนี้ทุนนิยมไม่สามารถทำได้
ประการที่สอง นวัตกรรมสังคมด้านการศึกษา นโยบายด้านการศึกษาในประเทศทุนนิยมก้าวหน้า เช่น เยอรมันและประเทศยุโรปตอนเหนือที่มีนโยบายเรื่องความเท่าเทียมทางการศึกษา คนทุกคนมีโอกาสอย่างเท่าเทียมทางด้านการศึกษา แต่รัฐบาลไม่สามารถให้หลักประกันได้ว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะพ้ึนจากความยากจนได้หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องของตลาดแรงงาน ความสามารถเฉพาะตัว หรือชะตากรรมส่วนบุคคล ที่เป็นเรื่องนอกเหนือความรับผิดชอบของรัฐบาล
แต่นโยบายแก้จนด้านการศึกษาของจีนสามารถให้โอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมแก่เด็กและเยาวชนคนจีนทุกคนได้ รวมทั้งให้หลักประกันด้วยว่าสำหรับเด็กนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจนทุกคนเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะมีอาชีพและพ้นจากความยากจนได้ด้วย การมีนโยบายสาธารณะด้านการศึกษาของจีนจึงเป็นนวัตกรรมสังคมไม่แต่เพียงในระดับของจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นระดับโลกอีกด้วย เพราะในโลกทุนนิยมไม่มีรัฐบาลชุดใดที่กล้าจะให้หลักประกันเช่นว่านี้กับเยาวชนของประเทศตัวเองได้เลย
ประการที่สาม นวัตกรรมสังคมด้านการบริหารจัดการเศรษฐกิจ ในโลกทุนนิยมนายทุนคือ “ผู้ขูดรีด” “ผีดูดเลือด” (vampires) หรือ “ปีศาจ” สุดแล้วแต่ “พวกฝ่ายซ้าย” จะใช้เรียก โดยทั่วไปนายทุนในประเทศทุนนิยมหรือในประเทศไหนในโลกก็คล้ายคลึงกันคือมีจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองที่อนุรักษ์นิยม เห็นแก่ผลประโยชน์ของตัวเอง ครอบครัว เครือญาติ และพวกพ้อง มากกว่านึกถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ พวกเขามักมีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือมีผลประโยชน์ที่ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ของตัวเองกับผลประโยชน์ของประเทศชาติ และมุ่งแสวงหาอำนาจทางการเมืองเพื่อใช้ปกป้อง คุ้มครองผลประโยชน์ของธุรกิจตัวเอง นักการเมืองที่มาจากการเป็นนักธุรกิจขนาดใหญ่เป็นพวกที่มีการศึกษาดี มีโวหารและวิสัยทัศน์ที่ดีที่ใช้ปกปิด ”ธุรกิจสีเทา” ของตัวเองเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งมักโลเลและขาดเจตจำนงที่แน่วแน่ที่จะให้การสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ในสังคม
แต่การที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถโน้มน้าวจูงใจให้ “นายทุน” หรือนักธุรกิจจีนเปลี่ยนบทบาทใหม่มาเป็น “นักบุญ” หรือนักธุรกิจที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนได้สำเร็จ ถือได้ว่าเป็นทั้งนวัตกรรมทางการเมืองและนวัตกรรมทางด้านเศรษฐกิจของจีนด้วย พวกนักธุรกิจได้เปลี่ยนสีแปรธาตุตัวเองจาก ”พลังสีเทา” กลายเป็น ”พลังสีขาว” ของสังคมไป
ทุกหนทุกแห่งที่เคยเป็นพื้นที่ยากจนของจีนซึ่งล้วนแล้วแต่อยู่ในภาคการเกษตรในบริเวณที่ห่างไกลจากความเจริญ นักธุรกิจจีนมีบทบาทอย่างสำคัญในการพัฒนาพื้นที่การเกษตรที่เคยสิ้นหวังกับการที่จะดำรงชีพได้ให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรอุตสาหกรรมขึ้นใหม่ พวกเขาเปลี่ยนการทำการเกษตรด้วยการนำเอาเทคโนโลยีระดับสูงเข้ามาใช้ในการเพาะปลูกและควบคุมดูแลพืชผล และศัตรูพืชอย่างใกล้ชิด พวกเขาทำให้ผลิตภาพการผลิตการเกษตร สูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และใช้เทคโนโลยีและการบริหารจัดการด้านการตลาดสมัยใหม่มาสร้างรายได้ทางการเกษตรให้สูงขึ้น พวกเขาเข้ามาช่วยดูแลเรื่องการตลาดทั้งภายในประเทศและขยายตลาดออกไปยังต่างประเทศ
พวกเขายังได้ริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคมด้านการบริหารจัดการธุรกิจการเกษตรแบบใหม่ขึ้นด้วย คือการให้เกษตรกรและเกษตรกรที่ยากจนทุกคนในหมู่บ้านเป็นหุ้นส่วนของบริษัท ซึ่งทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการให้เช่าที่ดินแก่บริษัท ได้รับค่าจ้างรายเดือนและได้เงินปันผลซึ่งเป็นกำไรของบริษัทในช่วงปลายปีอีกด้วย เป้าหมายการทำธุรกิจของนักธุรกิจจีนจึงเป็นไปเพื่อแสวงหากำไรของตัวเองและมีส่วนร่วมในการขจัดความยากจนให้แก่เกษตรกรที่เคยเป็นกลุ่มด้อยโอกาสในสังคมได้สำเร็จอีกด้วย
นโยบายขจัดความยากจนโดยความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาสังคมของจีนถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมสังคมเชิงนโยบาย การร่วมมือของธุรกิจเอกชนกับภาครัฐและเกษตรกรจีนมีลักษณะที่เป็นหุ้นส่วน (partner) ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท (corporate social responsibility) ที่เกิดขึ้นในโลกทุนนิยมที่ยากจะประเมินผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคมได้มากนัก เนื่องจากมักเป็นโครงการระยะสั้นที่ขาดความต่อเนื่อง หรือเป็นโครงการประจำปีของบริษัทที่ทำไปตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ การช่วยเหลือสังคมแบบนี้บทบาทของพวกเขาเป็นเพียง “ตัวแสดง” (player) ไม่ใช่ในฐานะ ”หุ้นส่วน” (partner) ของ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” (stakeholders ) คือตัวเกษตรกรโดยตรง ที่จะต้องร่วมด้วยช่วยกันในการผลักดันธุรกิจการเกษตรให้ประสบความสำเร็จให้ได้ “สำเร็จหรือล้มเหลว” “ชนะหรือแพ้” เป็นเดิมพันที่นักธุรกิจจีนต้องทำให้ได้ แตกต่างจาก CSR ซึ่งเป็นเพียงการแสดงความรัก ความห่วงใย และความรับผิดชอบระดับหนึ่งของธุรกิจต่อสังคม ซึ่งนักธุรกิจไม่ต้องมีเดิมพันใดๆ
นวัตกรรมสังคมจีนแตกต่างจากนวัตกรรมสังคมในประเทศทุนนิยมทั่วไปที่มักอยู่ในรูปโครงการ หรือกิจกรรมขนาดเล็ก ดำเนินการโดยบุคคล ธุรกิจเพื่อสังคม ธุรกิจเอกชนสมาคมและมูลนิธิ ซึ่งแตกต่างจากนวัตกรรมสังคมในประเทศจีนซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า และสามารถส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของชุมชน ประชาชนในวงกว้างได้มากกว่า พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือนวัตกรรมสังคมในโลกทุนนิยมมักเป็นงานระดับจุลภาค แต่นวัตกรรมสังคมจีนมักจะเป็นระดับมหภาค
นวัตกรรมสังคมในประเทศไทยถูกจำกัดด้วยทรัพยากรบุคคลและงบประมาณ หากรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรได้มีโอกาสทำงานให้มากขึ้นในการสร้างนวัตกรรมสังคมให้แก่เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ๆ หน่วยงานภาครัฐและระบบตลาดไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นมิติใหม่ทางการเมืองของประเทศไทย
บทความโดย สังศิต พิริยะรังสรรค์
ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา