โครงการ “ครูชวนแยก” ชวนคุณครูที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโรงเรียน และชุมชน จากโรงเรียนในเครือข่ายของมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ มาร่วมการอบรมเพื่อพัฒนาแผนการสอนด้านการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี และการรีไซเคิล ที่สามารถออกแบบให้เหมาะสมกับห้องเรียนของตนเองได้ โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรการเรียนการสอนที่พัฒนาโดยอินโดรามา เวนเจอร์ส ซึ่งมุ่งเน้นการให้ความรู้ภายใต้หลักการคัดแยกขยะ ประเภทของพลาสติก และการรีไซเคิล
“การเปลี่ยนแปลงสำหรับตัวเองที่เห็นเลยคือ เดิมทีเราคิดแต่ว่าจะลดการใช้พลาสติก เพราะเป็นอะไรที่จะทำให้โลกร้อน เพราะเราได้รับการสื่อสารมาแบบนั้น แต่พอเราไปรับการอบรมในโครงการ “ครูชวนแยก” ทำให้เราได้เข้าใจมากขึ้นว่าพลาสติกมีหลายประเภท และแต่ละประเภทก็มีวิธีการจัดการที่แตกต่างกัน เพราะสามารถนำกลับมาวนใช้ได้ มุมมองและทัศนคติที่มีต่อพลาสติกเปลี่ยนไปเลย” ครูขนุน หรือ ขวัญชนก กลั่นเอี่ยม คุณครูคณิตศาสตร์ จากโรงเรียนประสาทวิทยา จังหวัดนนทบุรี หนึ่งในคุณครู 20 คนที่มาเข้าร่วมโครงการ “ครูชวนแยก” ซึ่งจัดโดย บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ บอกเล่าถึงทัศนคติที่มีต่อขยะพลาสติกหลังจากเข้าร่วมการอบรม
หลังจากการอบรม คุณครูก็ได้นำความรู้มาประยุกต์แผนการสอนด้านการคัดแยกขยะให้แก่นักเรียน และพัฒนากิจกรรมด้านการรีไซเคิลในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยโรงเรียนที่เข้าร่วมจากกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยครูขนุน เล่าต่อว่า “พอเราอินเราก็อยากให้เด็กๆ เห็นเหมือนเรา แน่นอนเด็กที่อยู่รอบข้างเราก็จะอินไปด้วย เพราะเราจะเล่าให้ฟังถึงคุณค่าจริงๆ ของพลาสติก คุยกับเด็กๆ ว่าขยะแต่ละประเภทมีอะไรบ้าง โดยจัดเป็นคาบการเรียนรู้เชิงสมรรถนะเพื่อให้เขาได้เข้าใจ ตอนนี้เริ่มจาก 1 ชั้นเรียน แบ่งเป็น 2 ห้องๆ ละ 50 คน เราเริ่มเป็น 2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยใช้เทคนิคในการสร้างคลิปใน Tiktok โดยให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการทำคลิปสั้นๆ ช่วยในการสื่อสาร เด็กจะชอบอะไรที่กระชับ เร็ว สั้น ดังนั้น TikTok จะเป็นตัวเชื่อมกันระหว่างครูกับเด็ก และเด็กมีความสนใจมากขึ้น เขาก็จะไม่รังเกียจขยะ หรือกลับมาเห็นประโยชน์ของมัน เห็นค่า แล้วก็แยก เพราะรู้ว่าถ้าแยกแล้ว มันมีที่ไป เด็กก็จะช่วยกันแยกทั้งขวด ฉลาก และฝา ก่อนที่จะทิ้ง”
นภาดา ไพรวัลย์ หรือน้องเนเน่ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนประสาทวิทยา อายุ 15 ปี เล่าว่า “ขวดพลาสติกที่คุณครูใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน เรียกว่า ขวด PET ซึ่งที่ก้นขวดจะมีสัญลักษณ์หมายเลข 1 ก็คือสามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ ฉลากก็จะนำไปรีไซเคิลแบบหนึ่ง ขวดก็นำไปรีไซเคิลอีกแบบหนึ่ง ฝาขวดก็นำไปรีไซเคิลได้อีก คุณครูก็จะใช้เป็นคลิปเรียนรู้ tiktok ที่ให้นักเรียนเข้าถึงได้ง่าย มีโปสเตอร์ที่ให้น้องๆ มาอ่าน มาศึกษา มีกิจกรรมที่ทำเป็นของเล่น โดยให้น้องเอาสิ่งที่เรียกว่าขยะ แต่ว่าเราเอามาใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้ จะมีสภานักเรียนที่จะมาประชาสัมพันธ์การคัดแยกว่า ควรทิ้งตรงไหน และคัดแยกยังไงให้ถูกวิธี ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการรีไซเคิลได้เยอะเลยค่ะ”
นวีนสุดา กระบวนรัตน์ หัวหน้าฝ่ายความรับผิดชอบต่อสังคม อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า "ครูมีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนรู้ และเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เรามีความยินดีที่คุณครูที่ผ่านการฝึกอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ได้จริงในห้องเรียน และส่งต่อความรู้ด้านการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และการรีไซเคิลขวด PET แก่นักเรียน โรงเรียน และชุมชนโดยรอบ เพื่อสร้างพื้นฐานความรู้ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการคัดแยกขยะ และนำไปสู่การพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้นได้ โดยปัจจุบันโครงการ “ครูชวนแยก” สามารถอบรมขยายความรู้ด้านการรีไซเคิลสู่นักเรียนได้มากถึง 2,300 คน ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1,500 คน ทั่วประเทศ ภายในปี 2566”
สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการ ‘ครูชวนแยก’ ไม่ใช่เพียงแค่เป็นพื้นที่ให้คุณครูได้มีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนการสอนเกี่ยวกับการคัดแยกขยะและการรีไซเคิลเท่านั้น แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น คือการที่คุณครูจะได้กลับไปเปิดพื้นที่ให้นักเรียนในโรงเรียนได้เข้ามาเรียนรู้และทำกิจกรรมด้วยกัน เพื่อให้เห็นคุณค่าของพลาสติกที่ไม่ใช้แล้วสามารถนำไปรีไซเคิลเพื่อสร้างมูลค่าต่อไปได้ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การมีสังคมที่ดีขึ้นตามที่เราต้องการ”
ทั้งนี้ โครงการ "ครูชวนแยก" ยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Recycle Education ของอินโดรามา เวนเจอร์ส ในประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการให้ความรู้ด้านการคัดแยกขยะและการรีไซเคิลที่ทางบริษัทฯ ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 ปัจจุบันบริษัทฯ กำลังทำงานร่วมกันกับพันธมิตรอีกหลายแห่ง เพื่อขยายผลหลักสูตรการให้ความรู้ด้านการคัดแยกขยะ และขยะรีไซเคิล ทั้งในและต่างประเทศโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนหนึ่งล้านคนทั่วโลกภายในปี 2573