ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต ชูเทรนด์สรรพสามิตโฉมใหม่ ซึ่งเป็นการยกเครื่องสรรพสามิตสู่ “กรม ESG” รวมทั้งเร่งดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ไปประกาศไว้ต่อที่ประชุม COP26 ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2566
ยกตัวอย่าง ตัว E ด้านสิ่งแวดล้อม เผย 1 ใน 16 โครงการเรือธง คือ สนับสนุนไบโอพลาสติก เพื่อนำเอธานอลมาแทนที่การใช้น้ำมันเพื่อมาทำผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ชมคลิป)
ส่วนการขับเคลื่อนองค์กร อธิบดีกรมสรรพสามิต บอกว่าใช้ยุทธศาสตร์ “EASE Excise” ยกเครื่องสรรพสามิตสู่ “กรม ESG”รวมทั้งเร่งดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ไปประกาศไว้ต่อที่ประชุม COP26 ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2566
“E” ตัวแรก เป็นสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับ ESG โดยกรมสรรพสามิตจะต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าสินค้าหรือบริการประเภทไหนเป็น ESG และเราจะไม่ส่งเสริมสินค้าหรือบริการที่ไม่เป็น ESG
“A” ตัวที่ 2 ย่อมาจาก “agile way of working” ยุทธศาสตร์นี้มาจากความต้องการของเจ้าหน้าที่ภายในกรมสรรพสามิต โดยการปรับโครงสร้างการทำงานให้มีความคล่องตัวและรวดเร็ว
“S” ตัวที่ 3 ย่อมาจาก “standardization” เป็นเรื่องมาตรฐานในการจัดเก็บภาษี ซึ่งเป็นผลมาจากการที่กรมสรรพสามิตส่งทีมเจ้าหน้าที่ออกไปสัมภาษณ์ หรือสอบถามความคิดเห็นผู้เสียภาษี หรือลูกค้าของกรมสรรพสามิต โดยบอกว่าเจ้าหน้าที่สรรพสามิตดีมาก ทุกคนเต็มใจบริการผู้เสียภาษี แต่อยากได้มาตรฐานเดียวกัน กล่าวคือ ถ้าไปสอบถามแนวทางการเสียภาษีกับสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่จังหวัดสงขลา ควรเป็นมาตรฐานเดียวกันสำนักงานสรรพสามิตในกรุงเทพและปริมณฑล เราจะปรับกระบวนงานของกรมสรรพสามิตให้เป็นมาตรฐานและง่าย โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดเก็บภาษีให้เป็นมาตรฐานสากล และปราบปรามการลักลอบขนสินค้าหนีภาษี พัฒนาองค์กรไปสู่ “องค์กรดิจิทัล”
และตัวสุดท้ายคือ “E” ย่อมาจาก “end-to-end” ตั้งใจจะยกระดับการให้บริการแก่ผู้เสียภาษีแบบไร้รอยต่อ (omni-chanel) ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ดูแลตั้งแต่ต้นจนจบ กลุ่มลูกค้าที่มาติดต่อกับกรมสรรพสามิตมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งมาขอใบอนุญาตประกอบกิจการ, ขอคืนภาษี, บางรายค้างชำระหนี้ภาษี และบางรายก็ยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีกับกรมสรรพสามิต
“กรมสรรพสามิต เร่งเครื่องเดินหน้าที่จะเป็นกรม ESG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืนโดยใช้กลยุทธ์ EASE Excise”