xs
xsm
sm
md
lg

"สแกน-แลก-ป่า" ต่อยอด นามบัตรดิจิทัล YourQR สู่ความร่วมมือปลูกป่าที่ม่อนแม่ถางอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายเน็ต ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ต่อยอด นามบัตรดิจิทัล YourQR เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการแลกนามบัตรและจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดการใช้กระดาษและสร้าง Carbon Footprint สู่ความร่วมมือในโครงการ Scan To Plant A Tree หรือ "สแกน-แลก-ป่า" สร้างความยั่งยืนผ่านการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในพื้นที่ป่าชุมชนต้นน้ำ ม่อนแม่ถาง ตำบลบ้านเวียง อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่

นามบัตรดิจิทัล YourQR ลดสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นต์ อย่างไร?

เครื่องมือสำคัญให้การแลกเปลี่ยนนามบัตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะไม่ต้องใช้นามบัตรแบบกระดาษที่เสี่ยงต่อการสูญหายและยุ่งยากในการจัดเก็บ อีกทั้งนามบัตรกระดาษต้องใช้ทรัพยากรต้นไม้จำนวนมากในการผลิตกระดาษก่อให้เกิด Carbon Footprint

เพียงแค่เราเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นนามบัตรแบบดิจิทัล ผู้ใช้ก็จะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันง่ายๆ ผ่านการสแกน QR Code ข้อมูลการติดต่อก็จะถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบ เพิ่มความรวดเร็วและความสะดวกสบายในการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการทำธุรกิจ นำไปสู่ Customer Data Platform ที่ทันสมัย

นามบัตรดิจิทัล YourQR เน้นในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเทคโนโลยีโดยการรณรงค์ "Scan To Plant A Tree" หรือ “สแกน-แลก-ป่า” ซึ่งทุกๆการใช้งานแอปพลิเคชั่น YourQR จำนวน 1,000 ครั้ง เท่ากับ การปลูกต้นไม้ 1 ต้น ซึ่งยอดรวมทั้งหมดจากการใช้งานจะนำไปสู่การปลูกต้นไม้จริงพร้อมการดูแลอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 10 ปี ในพื้นที่ป่าชุมชนต้นน้ำ ม่อนแม่ถาง จังหวัดแพร่ จึงเป็นที่มาของการปลูกต้นไม้ในระยะที่ 1 จำนวน 500 ต้น ในพื้นที่ 2 ไร่ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

นายทินกร เหล่าเราวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นายเน็ต จำกัด กล่าวว่า "เรายินดีที่เทคโนโลยีนามบัตรดิจิทัล YourQR สามารถสร้างคุณค่าและประโยชน์ให้แก่ธุรกิจและสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่ได้ หวังว่าการดำเนินการปลูกป่าในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทุกๆท่านเกิดความเข้าใจและ เปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีทดแทนการใช้นามบัตรกระดาษ เพราะในแต่ละปีเราต้องสูญเสียต้นไม้ในการผลิตกระดาษไปจำนวนมาก และ ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องช่วยกันทำเพื่อโลกของเรา”




นายสำราญ กุณาหร่าย กำนันตำบลบ้านเวียง ในฐานะประธานคณะกรรมการป่าชุมชนม่อนแม่ถาง กล่าวว่า ป่าม่อนแม่ถาง ในอดีตมีพื้นที่กว่า 1,300 ไร่ เคยเป็นผืนป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ แต่ถูกบุกรุกเพื่อทำการเกษตรเชิงเดี่ยวคือ ไร่ข้าวโพด จนพื้นที่ป่าเสียหายไปกว่า 500 ไร่ มีการใช้สารเคมีและปุ๋ยจำนวนมาก ทำให้สภาพดินเสื่อมโทรม เกิดความแห้งแล้ง และ เกิดการกัดเซาะพังทลายของหน้าดิน จนตะกอนดินไหลลงไปในอ่างเก็บน้ำแม่ถางซึ่งอยู่ในพื้นที่ จนอ่างเก็บน้ำแม่ถางไม่สามารถเก็บกักน้ำได้เต็มความจุ 30.60 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้วยความร่วมมือร่วมใจของชุมชน ที่เห็นความสำคัญของป่า จึงได้ร่วมมือกันทวงคืนผืนป่า เพื่อประกาศเป็นเขต ป่าชุมชน ตาม พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 และจัดแบ่งพื้นที่รับผิดชอบออกเป็น 14 หมู่ โดยดำเนินการปลูกไปแล้ว จำนวน 2 หมู่บ้าน พื้นที่ 91 ไร่ และยังเหลือพื้นที่ที่ต้องดำเนินการปลูกต่อจำนวนมากกว่า 250 ไร่

การปลุกป่าในครั้งนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนพึ่งตนเองเพื่อผืนป่าแม่ถาง และ พันธมิตรทางธุรกิจของบริษัท นายเน็ต จำกัด ที่ได้ช่วยกันระดมทุนผ่านระบบ Crowdfunding ของเว็บไซต์ เทใจ.คอม จนได้รับเงินบริจาคทั้งหมด 54,250 บาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวได้มอบให้ชุมชนในการปลูกและดูแลป่าอย่างต่อเนื่องมีประสิทธิภาพและวัดผลได้จริงผ่านระบบ Tree tracking ที่ให้ชาวบ้านผู้ดูแลป่าสามารถบันทึกข้อมูลการเติบโตของต้นไม้ และสามารถสแกน QR เพื่อติดตามผลข้อมูลได้ทันทีผ่านแอปพลิเคชั่นฯ

นายวิชัย วรธานีวงศ์ สื่อมวลชนและผู้ก่อตั้งกลุ่มประชาชนพึ่งตนเองเพื่อผืนป่าแม่ถาง กล่าวว่า “ปัญหาการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้เป็นปัญหาใหญ่ที่มีความซับซ้อน ไม่สามารถจะจัดการได้เพียงใครคนใดคนหนึ่งเพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน และ ภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่สามารถร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จากจุดที่ตนเองอยู่”

ด้าน นายธีรพัฒน์ จันตาวรรณเดช จากบริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ตัวแทนพันธมิตรทางธุรกิจผู้ใช้งานจริงของระบบนามบัตรดิจิทัล YourQR กล่าวว่า “เรามีความยินดีมากที่ได้มาร่วมปลุกป่ากับทางโครงการฯในครั้งนี้ เชื่อว่าการฟื้นคืนผืนป่าและระบบนิเวศอย่างยั่งยืนในครั้งนี้ จะช่วยลดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในระยะยาวได้”


การปลูกต้นไม้ในโครงการนี้ยังให้ความสำคัญกับการสร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่จังหวัดแพร่ ให้มีความรักและใส่ใจผืนป่าของเมืองแพร่ โดยมีส่วนร่วมผ่านการประกวดเรียงความในหัวข้อ “รักษ์ป่าเมืองแพร่” โดยมีเยาวชนที่ได้รับรางวัลทุนการศึกษาจำนวน 3 รายได้แก่ รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 เด็กหญิงพรชนิตว์ ฝั้นสุข ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านไผ่ล้อม (สำนักงานสลากกินแบ่งสงเคราะห์๔๖) อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ได้รับทุนการศึกษา 5,000 บาทพร้อมเกียรติบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 เด็กหญิงกานต์ธิชา ทองดี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนพิริยาลัยจังหวัดแพร่ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ได้รับทุนการศึกษา 3,000 บาทพร้อมเกียรติบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 เด็กหญิงธัญรัตน์ ม้ายอง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดทุ่งล้อม ตำบลห้วยม้า อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ได้รับทุนการศึกษา 2,000 บาทพร้อมเกียรติบัตร

ความร่วมมือครั้งนี้ จึงถือเป็นนวัตกรรมที่ช่วยลดการใช้กระดาษ รักสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างประสบการณ์ที่ทันสมัยและสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้งาน ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่สามารถสร้างผลกระทบทางสังคม (Social Impact) อาทิ เป้าหมายข้อ 12 การบริโภคและการผลิตอย่างรับผิดชอบ เป้าหมายข้อ 13 การปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการบริหารและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีอันเป็นปัจจัยที่จะสร้างความสามารถในการแข่งขันและส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย