xs
xsm
sm
md
lg

สถาปัตย์ ม.รังสิต ร่วมปลุกท่องเที่ยวเมืองอุทัยฯ นำอาจารย์-นิสิต โชว์ “สตรีทอาร์ต” วาดภาพย้อนวันวาน-วัฒนธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จุดแรก เป็นกำแพงทางเข้าโรงภาพยนตร์นิวเฉลิมอุทัย หน้าตลาดสดเทศบาลเมืองอุทัยธานี
คณะสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เดินหน้ากิจกรรมเพื่อสังคม ร่วมมือจังหวัดอุทัยธานี ใช้สตรีทอาร์ตเป็นเครื่องมือปรับปรุงภูมิทัศน์ชุมชน ปลุกท่องเที่ยวเมืองอุทัยฯ นำอาจารย์-นิสิตจิตอาสาลงพื้นที่วาดภาพย้อนวันวาน-วัฒนธรรม สะกิดผู้คนในชุมชนให้ตื่นตัว ใช้ดาราดังย้อนยุคภาพยนตร์ในอดีตและของกินขึ้นชื่อ แต่งแต้มสีสันความสดใส สร้างจุดเช็กอิน ดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างรายได้และสร้างสรรค์สังคม

อาจารย์มัลลิกา จงศิริ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึง การเข้าร่วมกิจกรรม “อุทัยธานี STREET ART ย้อนวันวาน วัฒนธรรม” ในโครงการ “การศึกษา ออกแบบ วางผังพื้นที่เฉพาะเมืองอุทัยธานี” ซึ่งจัดขึ้นโดยจังหวัดอุทัยธานี ร่วมกับเทศบาลเมืองอุทัยธานี และกรมโยธาธิการและผังเมือง ว่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเนื่องจากกิจกรรมในโครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อพัฒนาพื้นที่ด้านการท่องเที่ยว สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ร่วมกับภาคีเครือข่ายอื่นๆ และประชาชนในพื้นที่ โดยมีแนวคิดในการใช้ Street Art เป็นเครื่องมือในการปรับปรุงภูมิทัศน์ชุมชนให้มีความสวยงาม แต่งเติมสีสันให้มีความสดใส มีชีวิตชีวา ใช้สื่อสารและดึงดูดนักท่องเที่ยว หวังกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ประชาชนในพื้นที่

ด้วยการวาดภาพ ระบายสีกำแพงตามสถานที่ต่างๆ ที่ว่างเปล่าและไม่ได้ใช้ประโยชน์ มาเป็นช่องทางบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในอุทัยธานี ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งในการพัฒนาเมือง สามารถเป็นจุดเช็กอิน ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ถ่ายรูป และส่งผลให้ร้านค้ามีรายได้จากการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว ทั้งการรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม ซื้อของฝากและของที่ระลึก

อาจารย์มัลลิกา จงศิริ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
อาจารย์มัลลิกา กล่าวว่า คณะสถาปัตย์ ม.รังสิต รับหน้าที่ 2 จุด จุดแรก เป็นกำแพงทางเข้าโรงภาพยนตร์นิวเฉลิมอุทัย หน้าตลาดสดเทศบาลเมืองอุทัยธานีซึ่งเป็นโรงหนังยุค “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” เป็นการรำลึกโรงภาพยนตร์ ด้วยการวาดภาพดาราดังในอดีต พระเอก-นางเอกหนังไทยทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และล่วงลับไปแล้ว ที่โรงหนังแห่งนี้เคยนำมาฉาย เช่น มิตร ชัยบัญชา , เพชรา เชาวราษฎร์ , ฉัตรชัย เปล่งพานิช , จินตหรา สุขพัฒน์ ,ไพโรจน์ สังวริบุตร, ลลนา สุลาวัลย์ และอัศวิน รัตนประชา เป็นการสร้างสีสันให้บริเวณโรงหนังเก่าที่ถูกทิ้งร้างมายาวนาน กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

“เมื่อเราทำงานก็จะมีการวางแนวคิดก่อน และกระบวนการว่าจะทำอย่างไรให้เสร็จตามกำหนด สำหรับจุดนี้ อาจารย์ของเราเป็นคนวาด เราวางเป้าหมายว่าผู้คนจะต้องรับรู้สิ่งที่เราต้องการสะท้อน เมื่อเห็นดาราก็คิดถึงภาพยนตร์แล้วก็คิดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องนั้น เราจึงคิดจะใช้ภาพดาราเพื่อเชื่อมโยงเรื่องราวในสังคมร่วมสมัย เป็นการย้อนวันวาน ซึ่งชุมชนเกิดการพูดคุยกัน เป็นเรื่องราวย้อนยุค ในระหว่างที่เราทำงานก็มีชาวบ้านมาจอดรถคุย หรือบางครั้งสองคนเดินมาเจอกันโดยบังเอิญก็เกิดบทสนทนาเมื่อได้เห็นภาพ มีคนที่เล่าว่าคุณพ่อเคยขายน้ำอยู่หน้าโรงภาพยนตร์ในตอนที่ยังเปิดฉาย แต่เราไม่ได้ทำเพื่อชุมชนเท่านั้น เราทำเพื่อคนกลุ่มใหญ่และนักท่องเที่ยว เพราะภาพยนตร์หรือดาราเป็นเรื่องง่ายๆ ใครๆ ก็เข้าถึง”

 “อุทัยธานี STREET ART ย้อนวันวาน วัฒนธรรม” ภาพแสดงของกินขึ้นชื่อของอุทัยธานี
“ในส่วนนักศึกษารับหน้าที่ จุดที่สอง กำแพงบริเวณชุมชนศรีพรพิบูลย์ (สวน 200 ปี) ตลาดพัฒนา เป็นภาพแสดงของกินขึ้นชื่อของอุทัยธานี เช่น ปลาแรด ขนมปังสังขยา ข้าวต้มลูกโยน ก๋วยเตี๋ยว ส้มโอ ทุเรียนบ้านไร่ ฯลฯ เป็นการบูรณาการวิชาการเป็นกิจกรรมนักศึกษาที่แฝงด้านการเรียนการสอน นักศึกษาต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ นำเสนอความสวยงามด้านภูมิทัศน์ การออกแบบ การจัดองค์ประกอบภาพ หรือ composition ออกมาแล้วต้องดูน่าสนใจและดึงดูดให้เกิดการถ่ายรูป เพราะการทำอาร์ตสตรีทก็เพื่อให้ถ่ายรูปนำไปเผยแพร่ต่อ เห็นปั๊บถ่ายปุ๊บ ซึ่งการออกแบบใช้เวลามากกว่าการวาด”

อาจารย์มัลลิกา กล่าวย้ำว่า กิจกรรมนี้นักศึกษาได้ประโยชน์มากมาย กว่า 10 ชีวิตที่ไปช่วยกัน ได้วางแผนการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ได้เสนองาน ได้รับความภาคภูมิใจ การเชื่อมความสัมพันธ์กับชุมชน การได้ลงพื้นที่ได้สัมผัสชาวบ้าน ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ได้มุมมอง เห็นทัศนะใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต เป็นการปลูกจิตสำนึก ความรู้สึกและการมีส่วนร่วมกับชุมชน ฯลฯ ซึ่งในห้องเรียนสอนไม่ได้ เป็นประสบการณ์การทำงานเพื่อสังคมที่ต้องเข้าไปสัมผัสผู้คนและพื้นที่ด้วยตนเอง ซึ่งเชื่อว่านักศึกษาจะไม่ลืมและมีสำนึกในการให้การดูแลช่วยเหลือสังคมต่อไป นอกจากนี้ ในส่วนของชุมชน เชื่อว่าจะต้อนรับนักท่องเที่ยวได้อย่างดี เพราะทั้งอาจารย์และนักศึกษาที่เข้าไปในพื้นที่ ได้รับการดูแล การแสดงน้ำใจ และช่วยเหลืออย่างมาก

กิจกรรมนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องเท่านั้น เพราะจังหวัดอุทัยธานีและหน่วยงานที่ร่วมจัดทำโครงการฯ มีแนวคิดหลักที่จะใช้ Street Art เป็นเครื่องมือในการปรับปรุงภูมิทัศน์ชุมชนและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดอยู่แล้ว ซึ่งคณะสถาปัตย์ ม.รังสิต จะเข้าร่วมสร้างสรรค์งานเพื่อสังคมต่อไป

นายเอกสิทธิ์ ยุงหนู หรือ เซีย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต
นายเอกสิทธิ์ ยุงหนู หรือ เซีย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวถึงการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ว่า เป็นครั้งแรกของการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสังคม เพราะให้ความสำคัญกับการเรียนเป็นหลัก แต่เพราะเห็นว่ากิจกรรมนี้เป็นเรื่องท้าทายความสามารถด้านศิลปะ และเป็นงานในระดับจังหวัด หากทำสำเร็จจะเกิดความภาคภูมิใจในตนเองอย่างมาก เพราะมองว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบเป็นประโยชน์ในภาพใหญ่ เมื่อภาพวาดที่ออกมาสวยงาม มีการส่งต่อ สร้างชื่อสียงและช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัด สร้างรายได้ให้ชุมชน เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างความสุขให้ผู้คนในสังคม

“การเรียนในคณะสถาปัตย์ ไม่ได้เรียนศิลปะโดยตรง เลยไม่มั่นใจว่าจะวาดออกมาได้ดี จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก แต่ก็คิดว่าจะต้องทำให้ดีที่สุด ด้วยความรู้พื้นฐานด้านการออกแบบ การวาดภาพ ใช้การจัดองค์ประกอบภาพให้น่าสนใจ ใช้สีสันสดใส ใช้แสงเงา ออกแบบให้ภาพกระโจนออกมาจากกำแพง ดูโดดเด่นสะดุดตา ซึ่งการมาทำกิจกรรมนี้ได้ประโยชน์มาก ทำให้ได้ทำในสิ่งท้าทาย ได้รู้จักและสร้างสรรค์งานร่วมกับรุ่นน้อง ได้มาจังหวัดอุทัยธานีเป็นครั้งแรก ได้การดูแลจากคนในชุมชน เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก”

จุดที่สอง กำแพงบริเวณชุมชนศรีพรพิบูลย์ (สวน 200 ปี) ตลาดพัฒนา
นายเสถียร
แผ่วัฒนากุล ผู้นำชุมชนเทศบาลเมืองอุทัยธานี
กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นประโยชน์กับชุมชนมาก เพราะนอกจากจะมีภาพวาดสวยๆ แล้ว ยังมีการจัดงานเปิดโครงการนำร่อง นั่งรถแห่รอบเมือง สร้างความคึกคัก และมีสื่อมวลชนมาช่วยเผยแพร่ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ตื่นตัวและคนทั่วไปได้รับรู้ ทั้งกิจกรรมนี้และเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับจังหวัดอุทัยธานี เช่น โรงหนังเก่าที่มีประวัติน่าสนใจ ของกินอร่อยๆ และสถานที่สำคัญต่างๆ และยังมีอาคารอีกหลายแห่งที่อยากให้ทำ คิดว่าเมื่อทำเพิ่มอีกจะทำให้เมืองสดใส มีสีสันมากขึ้น และช่วยให้นักท่องเที่ยวอยากมาชมมาเที่ยวเพิ่มขึ้น ทำให้ชุมชนมีรายได้และเศรษฐกิจดีขึ้น และดีใจที่อาจารย์และนักศึกษามาช่วยทำกิจกรรมดีๆ เพื่อสังคมเช่นนี้

จิตอาสา คณะสถาปัตย์ ม.รังสิต