xs
xsm
sm
md
lg

อิมเมจิน ไทยแลนด์ฯ ยกทัพผู้ก่อการดี เรียนรู้ความสำเร็จ "บ้านท่ามะพร้าว" จ.กระบี่ ชุมชนต้นแบบพื้นที่สุขภาวะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสส.สนับสนุน Imagine Thailand Movement ขับเคลื่อนชุมชน ยกทัพผู้ก่อการดี เรียนรู้ความสำเร็จ "บ้านท่ามะพร้าว" จ.กระบี่ รวมพลัง “บรม” บ้าน-โรงเรียน- มัสยิด ให้เป็นหนึ่ง มุ่งสร้างพื้นที่สุขภาวะให้เยาวชน

เป็นอีกครั้งที่คนในชุมชนบ้านท่ามะพร้าว ต.คลองพน อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ซึ่งเป็น 1 ใน 8 ชุมชนต้นแบบพื้นที่สุขภาวะ ได้มีโอกาสต้อนรับผู้มาเยือน ในกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครั้งที่ 2 โครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยการขับเคลื่อนของ Imagine Thailand Movement จากการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ครั้งนี้ผู้มาเยือนกว่า 50 คน ล้วนเป็นผู้ก่อการดีขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ จากพื้นที่ต่างๆ เช่น ชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ จ.นครปฐม ชุมชนวัดโพธิ์เรียง กรุงเทพมหานคร ชุมชนตำบลเจดีย์ชัย จ.น่าน ชุมชนตำบลเจ็ดเสมียน จ.ราชบุรี และ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านหัวอ่าว จ.นครปฐม รวมถึงผู้นำจากหลายองค์กร เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยรังสิต วิทยุอสมท FM.96.5 คลื่นความคิด และยังได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ภิชาน ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ กรรมการบริหารแผนคณะ 1 สสส. ลงพื้นที่ร่วมกิจกรรม ภายใต้การนำของดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางสังคม และ Imagine Thailand Movement



เป้าหมายสำคัญ เพื่อให้ผู้ก่อการดีแต่ละพื้นที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ การขับเคลื่อนพื้นที่ สุขภาวะกับทางชุมชนบ้านท่ามะพร้าว สัมผัสพลังสามัคคีและความเข้มแข็งของชุมชนแห่งนี้ ที่ทำงานแบบบูรณาการ “บรม” รวมพลัง บ้าน โรงเรียน มัสยิด เหนี่ยวแน่นเป็นหนึ่งเดียวกัน จนเอาชนะอุปสรรคได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งนี้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้มาเยือนได้นำความรู้กลับไปพัฒนาชุมชนของตนเอง



การลงพื้นที่ครั้งนี้บรรยากาศอบอุ่น เจ้าบ้านพร้อมใจกันมาต้อนรับและพาชมพื้นที่ เช่น นายณธรรมรักษ์ จงรักษ์ นายกเทศมนตรีตำบลคลองพนพัฒนา นายธนบดี กอบกิจวีรกุล ประธานสภาเทศมนตรีตำบลคลองพนพัฒนา นายฮาแซม เย็บปัก โต๊ะอิหม่ามมัสยิดบ้านท่ามะพร้าว นายสุบิน นิยมเดชา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ามะพร้าว นายเฉม ลูกบัว ประธานธนาคารรวมทุนบ้านท่ามะพร้าว นายทวี ทำเผือก ประธานมูลนิธิตำบลคลองพนพัฒนา นายกมล เย็บปัก ผู้ใหญ่บ้านท่ามะพร้าว นายอำนวย ชูหนู ที่ปรึกษาชุมชนบ้านท่ามะพร้าว นายเจษฎา เตี่ยวย่อง ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานกระบี่ แกนนำเยาวชน นักเรียน กลุ่มแม่บ้าน รวมถึงคนในชุมชน

พื้นที่สุขภาวะต้นแบบชุมชนบ้านท่ามะพร้าว
ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางสังคม (ประเทศไทย) และ Imagine Thailand Movement กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ เมื่อดำเนินการมาระยะหนึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพราะบริบทของแต่ละพื้นที่มีความหลากหลาย สามารถจุดประกายให้กับผู้นำชุมชนอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี อย่างเช่นที่ชุมชนท่ามะพร้าวแห่งนี้ กลุ่มแกนนำชุมชนเป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อได้เห็นปัญหาก็ลงมือทำ ลงมือแก้เลย ไม่ได้ไปพึ่งพิงคนอื่น พอเห็นปัญหากองอยู่ตรงกลางก็ลุกขึ้นมาช่วยกัน ทำอะไรบางอย่าง เป็นการร้อยเรียงพลังในชุมชน เป็นการพัฒนาสร้างสรรค์ เกิดพลังงานเชิงบวก และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วม อย่างนายกอบต.บ้านท่ามะพร้าวก็มาโต๊ะอิหม่าม คนในชุมชน เด็กและเยาวชน ก็มาทำให้เกิดพลังร่วม

“บ้านท่ามะพร้าว” เป็นหนึ่งใน 14 หมู่บ้าน ของตำบลคลองพน พื้นที่ตั้งอยู่ติดริมทะเล คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีอาชีพทำประมง และมีแหล่งอาหารทะเลที่อุดมสมบูรณ์ ย้อนไปในอดีตเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ชุมชนแห่งนี้ประสบปัญหาอย่างนักจากการบุกรุกของนายทุน ป่าและระบบนิเวศน์ถูกทำลาย สัตว์น้ำในทะเลหายไป ชาวบ้านต้องไปทำงานต่างถิ่น แต่ด้วยความเข้มแข็งของผู้นำบวกกับพลังความสามัคคีของชุมชน ขับเคลื่อนแบบบูรณาการ “บรม” บ้าน โรงเรียน มัสยิด รวมเป็นหนึ่งเดียว ร่วมกันกอบกู้วิกฤติพลิกฟื้นผืนป่ากลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง สร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน และยังต่อยอดการพัฒนา ด้วยการเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ กับ Imagine Thailand Movement พัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ เช่น สานต่อกิจกรรมค่ายสุขภาวะ ปั้นแกนนำเยาวชนร่วมพัฒนาชุมชน การปรับพื้นที่รกร้างให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ และ การสร้างศูนย์เรียนรู้ประวัติชุมชน เพื่อยกระดับชุมชนสู่พื้นที่สุภาวะต้นแบบ

พื้นที่สุขภาวะต้นแบบชุมชนบ้านท่ามะพร้าว
การลงพื้นที่ครั้งนี้ คณะผู้ก่อการดี ได้ร่วมเปิดศูนย์เรียนรู้ประวัติชุมชนบ้านท่ามะพร้าว ซึ่งเป็นแหล่งรวมประวัติของชุมชนและเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่นำมาเสนอไว้ในรูปแบบของนิทรรศการ เช่น การเป็นเมืองท่าสำคัญในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมทางทะเล เการขุดค้นพบเหรียญและลูกปัดที่เหมือนกับที่ค้นพบในอียิปต์และโรมัน เรื่องราวการต่อสู่ของแกนนำชุมชนรุ่นอาวุโส ทั้งนายทวี ทำเผือก นายเฉม ลูกบัว และอีกหลายคนในชุมชน รวมถึงภาคจากภาคประชาสังคม ที่เข้ามาสนับสนุน ช่วยกอบกู้วิกฤติป่าชายเลนที่เคยถูกทำลายให้กลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิม การตั้งธนาคารรวมทุน เหล่านี้ถือเป็นการสร้างคุณูปการต่อหมู่บ้าน สมควรที่คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และสืบทอดเจตนารมณ์ที่ดีนี้ต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้ไปเยี่ยมชมกิจการของธนาคารรวมทุนบ้านท่ามะพร้าว ธนาคารปูม้า และจุดรับซื้อสัตว์ทะเล ได้นั่งเรือชมความสมบูรณ์ของป่าชายเลน อีกทั้งได้เห็นความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน ที่ช่วยกันการปรับปรุงที่ทำการมูลนิธิตำบลคลองพนพัฒนาที่รกร้างมาหลายปี จนเป็นแหล่งมั่วสุมของกลุ่มวัยรุ่น กลายมาเป็นพื้นที่สุขภาวะ โดยทำเป็นศูนย์ฝึกมวยไทยให้กับเด็กๆ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และสกัดกั้นไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด


และอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชน คือ กระบวนการค่าย ที่สร้างแกนเยาวชน มาแล้วถึง 11 รุ่น น.ส.สุพิตา น้ำใส หรือพี่ต้าของน้องๆ ที่ปรึกษาเยาวชนบ้านท่ามะพร้าว บอกว่า ตนเองเป็นเยาวชนที่เป็นผลผลิตของค่ายรุ่นที่ 1 ซึ่งเห็นชัดเจนว่าการเข้าค่ายมีความสำคัญมาก เป็นประบวนการที่ทำให้เด็กๆได้ฝึกทักษะต่างๆ ทั้งภาวะการเป็นผู้นำ และการสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายให้สโลแกนของค่ายที่ว่าต้องมีความ”กตัญญู รู้วินัย ใจอาสา กล้าทำดี” ซึ่งการที่ทางสสส. โดยอิมเมจินไทยแลนด์เข้ามาสนับสนุนการจัดค่าย ทำให้มีการจัดกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ของเยาวชนและคนในชุมชน


สำหรับมุมมองของผู้มาเยือนอย่าง ศาสตราจารย์ภิชาน ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ กรรมการบริหารแผนคณะ 1 สสส. บอกว่า การค้นคว้าหาประวัติของหมู่บ้าน และนำมาเสนอทำเป็นศูนย์เรียนรู้ประวัติชุมชนบ้านท่ามะพร้าว ทำให้ได้เห็นว่าคนที่นี่ต่อสู้กับภัยธรรมชาติและภัยจากมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งต้องการพลังร่วม ยิ่งสู้พลังร่วมก็ยิ่งเข้มแข็ง และความเข้มแข็งตรงนี้สามารถปกป้องอะไรต่อมิอะไรได้ โดยเฉพาะภาวะเสี่ยงต่างๆ ดังนั้นการเรียนรู้รากเหง้าของตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก และเห็นชัดเจนว่าบ้านท่ามะพร้าว มีพลังที่ถูกกระตุ้นออกมาแล้ว มีศักยภาพจะปกป้องตัวเองได้สูงมาก ดังนั้นควรจะช่วยกันส่งเสริมให้ชุมชนอื่นๆ ได้ตระหนักถึงตัวตน และพยายามใช้พลังชุมชนปกป้องให้พ้นจากปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง 

“ชุมชนท่ามะพร้าวเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าทุกๆ ชุมชนมีพลังร่วมตรงนี้อยู่ รอการปลุกให้ลุกขึ้น การจัดกิจกรรมต่างๆ เป็นการปลุกพลังร่วม ให้ศักยภาพนั้นตื่นตัวขึ้นมา แล้วช่วยกันปกป้องชุมชน ถ้าเราขยายตัวโมเดลอันนี้ออกไป สามารถไปประยุกต์กับชุมชนในบริบทอื่นได้”

พื้นที่สุขภาวะต้นแบบชุมชนบ้านท่ามะพร้าว มีอะไรดีๆ หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการพลิกฟื้นผืนป่าชายเลน การตั้งธนาคารรวมทุนและดึงเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกกิจกรรม สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดเรื่องดีงามเหล่านี้ก็คือ ความรัก ความสามัคคี และพลังจิตอาสาของทุกคนที่หลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งพลังสร้างสรรค์เชิงบวก ที่พวกเขาช่วยกันสานต่อจากรุ่นสู่รุ่น เป็นกำแพงสกัดกั้นปัจจัยเสี่ยงได้เป็นอย่างดี