xs
xsm
sm
md
lg

แม่โจ้โพลล์ สำรวจผลกระทบเอลนีโญ เกษตรกรร้องขอ “พืชพันธุ์ทนแล้ง-สินเชื่อเพื่อการเกษตร” มากที่สุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นเกษตรกรจากทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 839 ราย ระหว่างวันที่ 7-16 สิงหาคม 2566 ในหัวข้อ “เกษตรกรไทย...กับปรากฏการณ์สภาพอากาศแปรปรวนเอลนีโญ (ร้อน แล้ง ฝน)”

วัตถุประสงค์เพื่อสำรวจปัญหาการได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์สภาพอากาศแปรปรวนเอลนีโญในช่วงที่ผ่านมาและแนวทางการปรับตัวรับมือปัญหา รวมทั้งความต้องการสนับสนุนด้านเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแปรปรวนเอลนีโญ ผลการสำรวจพบว่า

จากการสำรวจ การได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์สภาพอากาศแปรปรวนเอลนีโญของเกษตรกรไทยในช่วงที่ผ่านมา (ไม่เกิน 3 เดือน มิ.ย. - ก.ค. 66) เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 74.26 ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์สภาพอากาศแปรปรวนเอลนีโญ

ในรายละเอียด พบว่า อันดับหนึ่ง (ร้อยละ 49.46) ได้รับผลกระทบปัญหาภัยแล้งมีความรุนแรงขึ้น (ฝนทิ้งช่วงนาน ปริมาณน้ำน้อยลง) อันดับสอง (ร้อยละ 46.60) ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว และอันดับสาม (ร้อยละ 43.74) อุณหภูมิสูงขึ้นทำให้ผลผลิตลดน้อยลง ตามลำดับ ในขณะที่เกษตรกรเพียงร้อยละ 25.74 เท่านั้น ที่ไม่ได้ผลกระทบจากปรากฏการณ์ดังกล่าว เนื่องจาก อันดับหนึ่ง (ร้อยละ 12.99) มีแหล่งน้ำสำรองที่เพียงพอเป็นของตัวเอง และอันดับสอง (ร้อยละ 9.77) อยู่ในพื้นที่เขตชลประทาน เป็นต้น

สำหรับการปรับตัวและแก้ไขปัญหาจากปรากฏการณ์สภาพอากาศแปรปรวนเอลนีโญช่วงที่ผ่านมา (มิ.ย. - ก.ค. 66) เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.25 ได้มีปรับตัวและแก้ไขปัญหา โดย อันดับหนึ่ง (ร้อยละ 51.25) ได้เตรียมแหล่งน้ำสำรองตอนแล้งและกักเก็บน้ำเมื่อมีฝน อันดับสอง (ร้อยละ 32.06) ได้ปลูกพืชที่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอันดับสาม (ร้อยละ 18.83) เลื่อนปฏิทินการปลูกพืชออกไปเพื่อหลีกเลี่ยงลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์สภาพอากาศแปรปรวนเอญนีโญ ตามลำดับ

ด้านความต้องการสิ่งสนับสนุนและพัฒนาด้านเกษตรเพื่อรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันดับหนึ่ง (ร้อยละ 64.72) ต้องการส่งเสริมพันธุ์พืชที่ทนต่อสภาพอากาศ อันดับสอง (ร้อยละ 54.11) ต้องการสินเชื่อเพื่อการเกษตรในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต เช่น ระบบปลูกพืชในโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อม เป็นต้น อันดับสาม (ร้อยละ 48.27) การฝึกอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้แก่เกษตรกร ตามลำดับ

จากปรากฏการณ์สภาพอากาศแปรปรวนเอลนีโญ (ร้อน แล้ง ฝน) ตามที่กรมอุตินิยมวิทยาประกาศ ในช่วงประมาณกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคมของปี 2566 ได้เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำขาดแคลน จากผลสำรวจเกษตรกรร้อยละ 74.26 ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้พืชผลเสียหาย ขาดรายได้ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่แล้งซ้ำซากอยู่นอกเขตชลประทานจะได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด อีกทั้งเกษตรกรต้องเตรียมรับมือบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ตามการรายงานของกรมอุตินิยมวิทยา จะมีฝนตกชุกในหลายพื้นที่

ด้วยเหตุนี้เกษตรกรจึงต้องปรับตัวรับมือและสิ่งสนับสนุนต้องการที่เกษตรกรต้องการ อันดับหนึ่ง (ร้อยละ 64.72) ต้องการส่งเสริมพันธุ์พืชที่ทนต่อสภาพอากาศ อันดับสอง (ร้อยละ 54.11) ต้องการสินเชื่อเพื่อการเกษตร 

อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ยังคงเป็นประเด็นท้าทายที่สำคัญของภาคการเกษตรไทย ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น การเตรียมแผนรับมือกับปัญหา การเตรียมพื้นที่สำรองน้ำและวางแผนให้แก่เกษตรกร เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบเกษตรกรได้น้อยที่สุดและจัดการปัญหาฝนทิ้งช่วงอย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น