xs
xsm
sm
md
lg

สร้างสังคมอุดมปัญญา!! “บรรณาธิการดีเด่นแห่งปี" แนะ “บรรณาธิการยุคใหม่” ตอบโจทย์นักอ่านวันนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บรรณาธิการยังเป็นอาชีพที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานหรือไม่ในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์ถือเป็นธุรกิจดาวร่วงติดต่อกันมาหลายปีแล้ว และบรรณาธิการยังเป็นอาชีพที่มีความสำคัญหรือไม่ ในยุคที่หน้าจอเข้าถึงคนได้มากกว่าหน้ากระดาษ“บรรณาธิการดีเด่นแห่งปี” ไขคำตอบ พร้อมมองภาพโลกหนังสือและการอ่านในปัจจุบัน

“สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์”ได้มอบรางวัล “บรรณาธิการดีเด่น คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง” ประจำปีพุทธศักราช 2565 ให้ “มนทิรา จูฑะพุทธิ” ซึ่งทำหน้าที่สร้างสรรค์หนังสือที่มีคุณภาพมากมาย และสร้างคุณูปการแก่วงการหนังสือของไทยมาโดยตลอด จากการทำงานด้านบรรณาธิการมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี โดยในอดีตเคยเป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสาร “แพรวสุดสัปดาห์” เป็นบรรณาธิการอำนวยการนิตยสาร “woman&home”นิตยสารหัวนอกจากอังกฤษ และเป็นผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการ “สำนักพิมพ์สามสี” ซึ่งหนังสือที่คัดสรรมาจัดพิมพ์เป็นเล่มสามารถสร้างยอดขายและรางวัลมากมาย

นอกจากนี้ ยังเป็น “นักสัมภาษณ์” และ “นักเขียน” ที่มีนักอ่านติดตามผลงานอย่างเหนียวแน่น จากการสร้างสรรค์งานเขียนหลากหลายรูปแบบมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2538 จนถึงปัจจุบัน ทั้งประเภทสารคดี ฮาวทู บทสัมภาษณ์ และความเรียง ซึ่งผลงานที่สร้างชื่อเสียงเป็นเอกลักษณ์ คือสารคดีท่องเที่ยวและการเป็นนักเขียนที่เรียกว่า “โกสต์ ไรเตอร์” ด้วยการเขียนประวัติชีวิตบุคคล ซึ่งเรื่อง “บนทางชีวิต นิรมล เมธีสุวกุล” และ “แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ก้าวย่างแห่งปัญญา” เป็นหนังสือชีวประวัติสองเล่มที่สร้างแรงบันดาลใจให้นักอ่านและเป็นงานชิ้นโบแดง

ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว “มนทิรา” กล่าวถึงประเด็น “บทบาทบรรณาธิการในสังคมหนังสือปัจจุบัน” ว่า ต้องแยกออกเป็น 2 เรื่อง คือ “บทบาทบรรณาธิการ” และ “สังคมหนังสือปัจจุบัน” ซึ่งส่วนของบทบาทบรรณาธิการมีคำถามชวนคิดสองเรื่องคือ หนึ่ง - บรรณาธิการเป็นอาชีพที่ยังเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานหรือไม่ ในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์ถือเป็นธุรกิจดาวร่วงติดต่อกันมาหลายปีแล้ว และสอง - บรรณาธิการยังเป็นอาชีพที่มีความสำคัญหรือไม่ ในยุคที่หน้าจอเข้าถึงคนได้มากกว่าหน้ากระดาษ

สำหรับคำถามที่ว่า บรรณาธิการยังเป็นอาชีพที่มีความสำคัญในปัจจุบันหรือไม่ มนทิรา กล่าวว่าเห็นว่าระยะหลังมีคนอยากเขียนหนังสือ อยากรวมเล่มหนังสือกันมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่และในโลกออนไลน์ ซึ่งมีการพิมพ์หนังสือออกมาโดยไม่มีบรรณาธิการ แต่มีตัวอย่างว่าเมื่อออกหนังสือเล่มที่สองก็มีบรรณาธิการ และเมื่อได้พูดคุยกับเพื่อน รุ่นพี่และรุ่นน้องที่มีอาชีพบรรณาธิการทุกคนยังทำหน้าที่อย่างแข็งขัน ไม่มีแนวโน้มว่าอาชีพนี้จะหายไปจากวงการหนังสือ

มนทิรากล่าวอีกว่า การได้รับเลือกจากองค์การยูนิเซฟ เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ให้เป็น “Consultancy Professional Editor and Copy Editor” ประจำปี 2023 ซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งนี้เป็นเวลา 2 ปี และในเดือนมีนาคมยังมีการส่งต้นฉบับมาให้พิจารณาในฐานะที่เป็นบรรณาธิการ และสำหรับองค์การยูนิเซฟมีตำแหน่งบรรณาธิการเป็นจำนวนมากและหลากหลายมาก โดยเฉพาะบรรณาธิการเฉพาะกิจ ที่ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะ น่าจะเป็นเครื่องยืนยันว่าบรรณาธิการยังเป็นอาชีพที่มีความสำคัญ

มนทิรา จูฑะพุทธิ “บรรณาธิการดีเด่น คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง” ประจำปีพุทธศักราช 2565
สำหรับคำถามที่ว่า บรรณาธิการเป็นอาชีพที่ยังเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานหรือไม่ ในสังคมหนังสือปัจจุบัน มนทิรากล่าวว่า “สังคมหนังสือปัจจุบัน” แปรเปลี่ยนไปตามบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป บวกกับกระแสสังคม ในยุคเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีที่มีหลากหลายแพลตฟอร์มให้เลือก สิ่งที่เห็นชัดคือ “หนังสือเล่ม” ที่เรียกว่า “สื่อสิ่งพิมพ์” ไม่สามารถ stand alone ได้ แต่ต้อง cross media กับดิจิตอลแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการทำการตลาด การสร้างกระแสความนิยม การสร้างรายได้จากยอดขาย โดยเฉพาะที่สำคัญที่สุดที่เป็นหัวใจของการทำหนังสือคือ “การสร้างคอนเท้นท์” ที่ปัจจุบันจะอยู่ในรูปแบบของดิจิคอนเท้นท์แล้วค่อยพัฒนาเป็นคอนเท้นท์ในรูปแบบสิ่งพิมพ์ และปรากฏการณ์ของนิยายวายที่ได้รับความสนใจอย่างท่วมท้นจากนักอ่านรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นมังงะจากญี่ปุ่น มังฮวาจากเกาหลีที่ขายดี สะท้อนให้เห็นชัดเจน

ดังนั้น บรรณาธิการที่จะอยู่รอดได้จึงเป็นบรรณาธิการที่ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด ปัจจุบันบทบาทของบรรณาธิการเปลี่ยนไปสิ้นเชิงใน 2 ประเด็นหลักคือ หนึ่ง-บรรณาธิการเฉพาะกิจจะมีบทบาทและมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมหนังสือปัจจุบัน โดยเฉพาะบรรณาธิการที่มีความรู้ทางด้านภาษา เช่น ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษาจีน สอง-บรรณาธิการแบบ 2 in 1 คือมีประสบการณ์ทางด้านสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะ social media นอกเหนือจากสื่อสิ่งพิมพ์ ถือเป็นทักษะขั้นพื้นฐานที่บรรณาธิการในสังคมหนังสือปัจจุบันต้องมี

“จากตัวอย่างประสบการณ์การทำหนังสือผ่าน social media ของตัวเอง ในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา เริ่มเขียนหนังสือและขายหนังสือออนไลน์ 95%ขายหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ใช้ทุกแพลตฟอร์มเป็นช่องทางการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย ใช้ facebook เป็นช่องทางบอกเล่าเนื้อหา ใช้ line เป็นช่องทางสนทนาและ broadcast ไปยังผู้คนจำนวนมาก ใช้ you tube เพื่อสร้างวิดีโอคอนเท้นท์ให้น่าสนใจ แล้วก็ใช้ tiktok เพื่อทำ booktok แม้จะใช้ช่องทางออนไลน์เกือบทุกแพลตฟอร์ม แต่ยังยืนหยัดทำหนังสือเป็นเล่ม ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของดิจิตอลฟอร์แมท เช่น e-book เพราะต้องการให้คนอ่านได้อ่านหนังสือเป็นเล่มที่ออกแบบอย่างพิถีพิถันและสวยงาม”

“อย่างไรก็ตาม โลกของสังคมหนังสือในปัจจุบันเปลี่ยนไปสิ้นเชิง เราอยู่ในยุคที่ไม่ต้องรอให้คนเดินเข้ามาร้านหนังสือ แต่สามารถส่งหนังสือไปให้คนอ่านที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้ทันทีทั่วประเทศหรือแม้กระทั่งทั่วโลก ในยุคที่ไม่ได้สื่อสารทางเดียว แต่สามารถสื่อสารกับคนอ่านและรับรู้ฟีดแบกได้ทันทีแบบเรียลไทม์ ไม่ต้องใช้ทีมงานเป็นจำนวนมากๆ แต่สามารถใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีที่สะดวกและง่ายดายวางแผนการตลาด การโฆษณาประชาสัมพันธ์หนังสือในแบบที่ต้องการได้ ข่าวดีคือหนังสือเล่มยังไม่ตาย และผู้คนยังคงอ่านหนังสือตามความสนใจ ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะหนังสือที่เป็นเล่มเท่านั้น แต่ทุกฟอร์แมท เมื่อหนังสือยังไม่ตาย บรรณาธิการก็จะยังไม่ตาย”

บทบาทของบรรณาธิการในสังคมหนังสือปัจจุบัน จึงเป็นทั้ง “เรื่องปัจเจก” คือบรรณาธิการต้องพัฒนาความรู้ ความสามารถ ให้เท่าทันกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะรักษามาตรฐานทางวิชาชีพ และเป็น “เรื่องส่วนรวม” คือต้องส่งต่อองค์ความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาไปยังรุ่นต่อไป เพื่อให้มีบรรทัดฐานในการทำงานที่มีคุณภาพสืบไป

มนทิรา มองว่า สังคมหนังสือปัจจุบันสามารถพัฒนาให้เติบโตไปอีกมาก แต่ต้องใช้การคิดนอกกรอบ ต้องหาโมเดลใหม่ๆ ที่สื่อสิ่งพิมพ์จะนำมาปรับใช้เพื่อให้เท่าทันเทคโนโลยี ธุรกิจหนังสือต้องร่วมมือร่วมใจกันเพื่อก่อให้เกิดพลัง และที่สำคัญภาครัฐต้องเข้ามามีส่วนผลักดันและสนับสนุนวงการหนังสือให้พัฒนาเป็นปัญญาของสังคม