สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ให้เป็นคณะทำงานจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2566 - 2570) โดยเน้นการใช้หญ้าแฝกเป็น “นวัตกรรมสังคม” เพื่อเป็นเครื่องมือหนุนเสริมชุมชนในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งในมิติสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ สู่การบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ภายใต้ชื่อ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” และมาตรการย่อย 16 มาตรการ
ทั้งนี้ สำนักงาน กปร. ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การชี้แจงแผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2566 - 2570)” เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ชั้น 20 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (อาคารจามจุรี 10) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีนายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเพื่อเป็นกรอบทิศทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ระหว่าง พ.ศ. 2566 - 2570
นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี กล่าวถึงความสำคัญของหญ้าแฝกว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงศึกษาเรื่องหญ้าแฝกด้วยพระองค์เอง โดยมีจุดประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ความพิเศษของหญ้าแฝกคือมีรากจำนวนมากประสานกัน สามารถยึดดินไม่ให้พังทลาย เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริที่ช่วยพัฒนาชาวเขาและพื้นที่ทำมาหากิน นอกจากการป้องกันดินและน้ำแล้ว ยังขยายโครงการทำวิจัยเพื่อมองหาประโยชน์ของหญ้าแฝกเพิ่มเติม โดยนำใบหญ้าแฝกไปทำเป็นเครื่องจักรสานเนื่องจากมีความเหนียวและทนทาน นอกจากนี้ยังได้นำหญ้าแฝกไปผลิตเป็นยาอีกด้วย”
สำนักงาน กปร. จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่รัชกาลที่ 9 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งทรงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาล 9 โดยเฉพาะเรื่องหญ้าแฝกซึ่งมีประโยชน์ในการรักษาดินและน้ำ ช่วยพัฒนาพื้นที่ที่เป็นหลุมเป็นบ่อ เป็นเนิน เชิงเขา สำหรับเก็บน้ำเพื่อจะดำเนินการเพื่อการเกษตร ป้องกันไม่ให้ดินพังทลาย
ผศ.ดร.อุ่นเรือน เล็กน้อย อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ อธิบายถึงการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฉบับที่ 7 ว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับมอบหมายจากสำนักงาน กปร. ให้เป็นผู้จัดทำแผนแม่บทดังกล่าว ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี โดยเน้นเรื่องการอนุรักษ์ดิน และน้ำ ทั้งเชิงรุก เชิงรับ เชิงแก้ไข และเชิงป้องกัน ในแผนฉบับนี้เรามุ่งเป้าหมายให้เป็นไปตาม 3 ยุทธศาสตร์ที่วางแผนไว้ ประกอบด้วย การสืบสานวัฒนธรรมการใช้แฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ การรักษา เผยแพร่และสร้างองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการใช้หญ้าแฝกเพื่อให้เป็นนวัตกรรมเพื่อสังคม ทำให้พี่น้องเครือข่ายต่างๆ ปรับบริบทในการอยู่ร่วมกัน เป็นเครื่องมือสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ การต่อยอด โดยเน้นไปที่การขยายเครือข่ายในระดับชุมชน หมู่บ้าน ประเทศ และเครือข่ายนานาชาติร่วมกับเครือข่ายหญ้าแฝกทั่วโลก
ศ.ดร.สุเชษฐ์ ลิขิตเลอสรวง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งร่วมในคณะทำงานจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวถึงการนำองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับวิศวกรรมมาใช้พัฒนาหญ้าแฝกว่า งานวิจัยก่อนหน้านี้ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับการใช้หญ้าแฝกช่วยชะลอน้ำไม่ทำให้เกิดภัยดินถล่ม การเสริมกำลังของราก โดยการวิเคราะห์เชิงตัวเลข เก็บข้อมูลในห้องปฏิบัติการ ติดตามประเมินผลต่างๆ ในการใช้หญ้าแฝกเพื่อการป้องกันภัยดินถล่มในภาคสนาม ในส่วนของงานวิจัยที่ทำระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาบันวิจัยสังคมในการจัดทำแผนแม่บทครั้งนี้เป็นการทำงานแบบ 2 ศาสตร์ โดยมีหญ้าแฝกเป็นเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำงานวิชาการไปรับใช้สังคมอย่างเป็นรูปธรรม เป็นการผนึกกำลังกันรับใช้สังคมด้วยกัน