ระบบเศรษฐกิจของประเทศจีนในปัจจุบันมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวที่แตกต่างจากระบบเศรษฐกิจต่างๆ ทั่วโลก ระบบเศรษฐกิจแบบนี้ได้รับการออกแบบภายใต้การนำของเติ้ง เสี่ยวผิง (พ.ศ.2447-2540) ที่กล้านำเสนอให้ประเทศจีน มีคุณลักษณะที่สำคัญคือ “1 ประเทศ 2 ระบบ” ที่ไม่เคยมีประเทศใดในโลกหาญกล้า คิดทำมาก่อน คุณลักษณะที่ว่านี้คือการที่ให้ประเทศจีนมีทั้งระบบเศรษฐกิจที่เป็นแบบสังคมนิยมและที่เป็นแบบทุนนิยมหรือเศรษฐกิจตลาดเคียงคู่กันไป
นวัตกรรมทางการเมืองของเติ้ง เสี่ยวผิง ที่คนตะวันตกและคนทั้งโลกต่างมองกันว่าระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อกันโดยธรรมชาติ และไม่มีวันที่จะสามารถ อยู่ร่วมกันได้ มันมีแต่จะต้องทำลายล้างกันข้างใดข้างหนึ่งลงไปให้ได้ในที่สุด
สิ่งที่เติ้ง คิด ทำและสร้างจนสำเร็จได้ แสดงให้เห็นว่าเขาปฏิเสธ และแตกหักกับปรัชญาและหลักคิดแบบตะวันตกอย่างสิ้นเชิง เพราะปรัชญาตะวันตกนั้นเน้นแต่หลักความขัดแย้งและความเป็นปรปักษ์ของคู่ขัดแย้งต่อกัน เขาหันมาใช้ปรัชญาและมุมมองแบบตะวันออกแทน ที่เห็นว่าของสองสิ่งที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง และเป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างสมบูรณ์แบบ เช่น “หยินกับหยาง” หรือ “ร้อนกับเย็น” ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ อย่างผสมกลมกลืนตามความจริงในธรรมชาติ
ด้วยเหตุนี้ในช่วงประมาณ 40 ปีสุดท้ายที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจของจีนจึงเป็นระบบที่มีทั้งความเป็น สังคมนิยมและ ความเป็นระบบทุนนิยมอยู่ควบคู่กัน ได้อย่างน่ามหัศจรรย์
ในระบบเศรษฐกิจแบบนี้ ยังมีนักธุรกิจและผู้ประกอบการทางธุรกิจ แบบเดียวกับในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมทั่วไป พวกเขาเป็นทั้งนักธุรกิจด้านอุตสาหกรรม ด้านการเกษตร ด้านการเงิน และด้านเทคโนโลยี เป็นต้น
สิ่งที่นักธุรกิจจีนแตกต่างจากนักธุรกิจทั่วไปในระบบทุนนิยม ก็คือพวกเขาต้องยอมรับแนวทางและนโยบายของรัฐบาลจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปีหลังๆ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่เน้นเรื่องการขจัดความยากจนให้สูญสิ้นไปจากประเทศจีนให้ได้
ดังนั้นนักธุรกิจจีนทุกคนจึงมีภารกิจอันหนึ่งคือต้องประกอบการธุรกิจ เพื่อแสวงหากำไร ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือรัฐบาลจีนในการขจัดความยากจนให้แก่เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ๆ ล้าหลัง พื้นที่ๆ อยู่ห่างไกลจากเมือง และพื้นที่ๆ อยู่บนภูเขาสูง เกษตรกรที่อยู่ห่างไกลเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นชนชาติส่วนน้อย การคมมนาคมไม่สะดวก ไม่มีความพร้อมในเรื่องของสถานศึกษาและคลินิกที่จะดูแลคนเจ็บป่วย สภาพของที่ดินในการเพาะปลูกไม่เอื้ออำนวย มีพื้นที่ทำการเกษตรน้อยไป เงินลงทุนในการปรับปรุงการเกษตรให้ทันสมัย ในพื้นที่ขาดการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ดังนั้นรายได้ของเกษตรกรที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญนี้จึงค่อนข้างต่ำ และมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีเพียงพอ ขาดแคลนทั้งเรื่องของไฟฟ้า ประปา และระบบอินเตอร์เน็ต ตลอดจนที่อยู่อาศัยมักจะทรุดโทรม เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มไม่เพียงพอสำหรับป้องกันความหนาว
ในช่วงประมาณ 10 ปีสุดท้ายก่อนปี 2020 (พ.ศ. 2543 ) ซึ่งเป็นปีที่สีจิ้นผิงประกาศว่าจะเป็นปีที่จีนจะขจัดความยากจนให้หมดสิ้นไปจากประเทศจีนให้ได้ ในขณะนั้นยังมีประชาชนจีนที่ยากจนยังเหลืออยู่ประมาณ 80 ล้านคน
ในทุกมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน ที่ได้รับการสำรวจแล้วว่ามีประชาชนที่ยากจนอาศัยอยู่ พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ระดมทรัพยากรและสรรพกำลังทั้งประเทศ ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ศูนย์กลางพรรคที่ปักกิ่ง ระดับมณฑล จังหวัด อำเภอจนกระทั่งถึงระดับหมู่บ้าน ลงไปช่วยกันทำงานแก้ความยากจนในระดับหมู่บ้าน
ในการทำสงครามเพื่อขจัดความยากจนครั้งสุดท้ายนี้ ธุรกิจเอกชนเป็นอีกพลังหนึ่งที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการเข้าร่วมการแก้ปัญหาความยากจนให้แก่เกษตรกรในระดับหมู่บ้านด้วย
บทบาทของธุรกิจเอกชนมีตั้งแต่เรื่องของการร่วมมือกันระหว่างมณฑลที่ร่ำรวยกับมณฑลที่ยากจน มณฑลที่ร่ำรวยนั้นส่วนใหญ่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของประเทศจีนที่อยู่ติดกับทะเล ส่วนมณฑลที่ยากจนส่วนใหญ่ของจีนอยู่ทางฝั่งตะวันตกที่ไม่มีทางออกทะเล มีแต่ทะเลทราย ภูเขาสูงและความแห้งแล้ง รัฐบาลมีนโยบายให้มณฑลร่ำรวยจับคู่กับมณฑลยากจน เพื่อให้มณฑลร่ำรวยให้ความช่วยเหลือแก่มณฑลยากจน ในทางความเป็นจริงแล้วในมณฑลที่ร่ำรวยมีกลุ่มนักธุรกิจที่ร่ำรวยอยู่เป็นจำนวนมากได้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือแก่มณฑลที่ยากจนด้วยการเข้าไปลงทุนและพัฒนาด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยี การตลาด การเงิน การเกษตรสมัยใหม่และการท่องเที่ยว เป็นต้น
ในหมู่บ้านที่ยากจนและอยู่ในพื้นที่ห่างไกลนั้น การสร้างถนนหนทาง เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากเพราะเป็นทางที่จะนำผลผลิตทางด้านการเกษตรของเกษตรกรออกมาสู่ตลาดภายนอกได้ จากการศึกษา พบว่าในการสร้างถนนหนทางนั้น บางครั้งก็มาจากงบประมาณของรัฐบาลและบางครั้งก็มาจากการบริจาคของธุรกิจเอกชนด้วยเช่นเดียวกัน
จากการศึกษาพบว่าบทบาทของธุรกิจเอกชนในการขจัดกวาดล้างความยากจนของประเทศจีนให้หมดสิ้นไปได้นั้น มีอย่างน้อยที่สุด 6 ประการดังต่อไปนี้คือ
ประการที่หนึ่ง ช่วยลงทุนปรับปรุงที่อยู่อาศัยของเกษตรกร ให้มาเป็นโฮมสเตย์ราคาแพงสำหรับนักท่องเที่ยว ช่วยลงทุนปรับปรุงสภาพแวดล้อมในหมู่บ้านให้ดูดีและดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ แล้วสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวในระดับชั้นเยี่ยมของประเทศ เพื่อทำให้เกษตรกรสามารถมาทำงานเป็นลูกจ้าง และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการนักท่องเที่ยว
ส่วนใหญ่แล้วการทำธุรกิจท่องเที่ยวในชนบทของประเทศจีน รัฐบาลและชาวจีนยินดีที่จะให้ธุรกิจเอกชนเข้ามาเป็นผู้ลงทุน ในการทำโฮมสเตย์ เป็นที่น่าสังเกตว่าแหล่งท่องเที่ยว ในชนบทที่เคยเป็นหมู่บ้านที่ยากจนนั้น มักอยู่ในระดับมาตรฐานที่สูงจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับชาติไป
ประการที่สอง รัฐบาลและชาวบ้าน ให้ธุรกิจเอกชนเข้ามาลงทุนในหมู่บ้าน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่ โดยบริษัทให้เกษตรกรและชาวนาที่ยากจนเข้ามาถือหุ้นอยู่ในบริษัทเอกชนด้วย ดังนั้น เกษตรกรจึงมีรายได้ทั้งจากค่าจ้าง ค่าเช่าที่ดิน และเงินปันผลปลายปี
สำหรับบริษัทที่เช่าที่ดินของเกษตรกรจำนวนมากไปแล้วอาจจะทำเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรที่เป็นเกษตรแปลงใหญ่ หรืออาจจะนำที่ดินรวมเหล่านั้นไปแล้วมาแบ่งเป็น ที่ดินแปลงเล็กๆ แล้วให้เกษตรกรเช่าคืน โดยที่บริษัทจะออกค่าปุ๋ย และปัจจัยการผลิตทุกอย่างให้แก่เกษตรกร และมีการแบ่งปันกำไรกันระหว่างบริษัทกับเกษตรกร นี่เป็นรูปแบบการทำธุรกิจอีกแบบหนึ่ง
เป็นที่น่าสังเกตว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่ของจีนนั้นเน้นเป็นการทำการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี หรือเกษตรอินทรีย์ จากการศึกษายังพบด้วยว่าไม่เพียงแต่การเกษตรที่เป็นอินทรีย์เท่านั้นแม้กระทั่งในการทำปศุสัตว์สมัยใหม่เช่นการเลี้ยงไก่ก็เป็นการทำปศุสัตว์อินทรีย์ด้วยเช่นเดียวกัน
ประการที่สาม การปรับปรุงการเกษตรของจีนเน้นการทำการเกษตรด้วยกรีนเฮาส์ (greenhouse) กันอยู่โดยทั่วไปการลงทุนทำกรีนเฮาส์นั้นมีทั้งที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนให้และที่เกษตรกรลงทุนเอง เช่น การปลูกผัก การทำเห็ด นอกจากนี้คือการปลูกผลไม้ที่ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งช่วยทำให้รายได้สูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ รวมทั้งทำให้เกิดการจ้างงานอีกด้วย
ประการที่สี่ การสร้างอุตสาหกรรมในหมู่บ้าน เช่น อุตสาหกรรมชา อุตสาหกรรมการทำเครื่องเล่นดนตรี อุตสาหกรรมปลูกพริก อุตสาหกรรมการปลูกผลไม้ การพัฒนาหัตถอุตสาหกรรม งานฝีมือ และทำให้หมู่บ้านกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวในชนบท ซึ่งเป็นรายได้อีกทางหนึ่งของเกษตรกร
ประการที่ห้า ให้ธุรกิจเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความยากจนให้แก่เกษตรกร บริษัทเอกชนที่เข้ามาลงทุนเพื่อให้เกิดการจ้างงาน ดูแลเรื่องการตลาดทั้งหมด เข้ามาช่วยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในด้านการทำการเกษตร การสนับสนุนทางด้านการเงินอีกด้วย
ในบางหมู่บ้านบริษัทเอกชนเข้ามาทำธุรกิจโดยการให้กู้เงินแก่การพัฒนาป่าไม้ การทำชา ผลไม้การเกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อแก้ความยากจน
ในบางหมู่บ้านจะเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างทุนอุตสาหกรรม ทุนการค้า และบริษัทท่องเที่ยว ร่วมกับกลุ่มเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเน้นให้ครอบครัวเกษตรกรที่ยากจนมีส่วนร่วมด้วยเสมอไป
โมเดลการแก้จนอยู่ในรูปแบบของ “ธุรกิจเอกชน+ ข้าราชการ + เกษตรกร”
ในโมเดลนี้ ธุรกิจเอกชนดูแลเรื่องการตลาด การผลิตและการเงิน เทคโนโลยี และความเสี่ยงต่างๆ
การแก้ปัญหาความยากจนของประเทศจีนจนกระทั่งประสบความสำเร็จ ได้ให้บทเรียนอันมีค่าแก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่เพียงแต่เรื่องของความรู้ ประสบการณ์ และภูมิปัญญาของพวกเขาเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งก็คือ การแสดงเห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะเอาชนะปัญหาที่มนุษย์ถือว่ายากที่สุดในโลก คือเรื่องการแก้ความยากจนนั้น มนุษย์ก็สามารถเอาชนะได้จริงๆ ในชั่วชีวิตของเราครับ
บทความโดย สังศิต พิริยะรังสรรค์
ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา
อ่านเพิ่มเติม
บริษัทต่างๆ ช่วยบรรเทาความยากจนในจีนได้อย่างไร?
https://news.cgtn.com/news/2020-09-13/How-do-companies-help-alleviate-poverty-in-China--TKAtKzLUJ2/index.html
จีนได้ขจัดความยากจนในเมืองไปเกือบหมดแล้ว
ตอนนี้ต้องจัดการกับความไม่เท่าเทียมกัน
https://www.theguardian.com/business/economics-blog/2015/aug/19/china-poverty-inequality-development-goals
30 ปีเขตผู่ตงเซี่ยงไฮ้..
การพัฒนาเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของจีน
https://thaibizchina.com/article/30th-pudong-shanghai/
Clip Cr.CGTN
ในคลิป จีนใช้ธุรกิจอย่างไรเพื่อบรรเทาความยากจนในทิเบต